
ชี-ชีปะขาว-ชีพราหมณ์
สถาบันแม่ชีไทย เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ คณะแม่ชีผู้ใหญ่ และคณะแม่ชีนักเรียนบาลีรุ่นแรก และสงฆ์ส่วนหนึ่งได้ร่วมปรึกษาหารือกันเรื่องข้อวัตรปฏิบัติของแม่ชีต่างๆ ที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการทำหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติสถาบันแม่ชี โดยในมาตรา ๔ ของพระราชบัญญัตินี้ “แม่ชี” หมายความว่า "สตรีผู้ถือศีลแปดในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเป็นนิตย์ ด้วยแต่งกาย ประพฤติและปฏิบัติตนตามศาสนธรรม กฎหมายและระเบียบแบบแผนประเพณีไทย และพำนักประจำอยู่ในสำนักหรือสังกัดวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา"
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "ชี" ไว้ว่า เป็นชื่อของนักบวชประเภทหนึ่งที่นุ่งขาวห่มขาว เช่น ชีปะขาว หรือ ชีผ้าขาว ฤาษีชีไพ
"ชี" ในปัจจุบันใช้ในความหมาย หญิงที่ถือบวชโดยโกนผมและคิ้ว นุ่งขาวห่มขาว รักษาศีล ๘ เรียกเต็มว่า แม่ชี
"แม่ชี" บางท่านมีสำนักเป็นของคนเอง เผยแผ่ศาสนา แนะนำสั่งสอนหลักธรรม ทำประโยชน์แก่สังคม มีบทบาทเป็นที่ยอมรับกันในสังคม บางสำนักสามารถออกบิณฑบาตและมีผู้ใส่บาตรให้เหมือนกับพระสงฆ์
ทั้งนี้คำว่า "ชี" มีการพยายามแปลว่า ผู้ชนะ หรือผู้มีชัยชนะ โดยกล่าวอ้างมาจากคำว่า ชิ หรือ ชินะ ซึ่งแปลว่า ผู้ชนะ
ชีปะขาว หมายถึง นักบวชผู้นับถือพุทธศาสนาประเภทหนึ่ง ที่นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ไม่อยู่วัด เที่ยวภิกขาจารไปเรื่อยๆ บางคนก็อาศัยอยู่วัดร่วมกับพระภิกษุ และทำกิจกรรมเช่นเดียวกับพระภิกษุ เป็นแต่ว่ายังมิได้บรรพชาอุปสมบทเท่านั้น
ชีปะขาว นัยว่าเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า ชีผ้าขาว หรืออาจเรียกเพี้ยนไปเป็น ชีผ้าขาว ก็ได้
ชีปะขาว เป็นคฤหัสถ์ที่สละเหย้าเรือนมาถือศีลและปฏิบัติตัวเหมือนนักบวช แต่มิใช่บรรพชิต มีความประพฤติสูงกว่าคฤหัสทั่วไป และปกติจะถือเพศนุ่งขาวไปตลอดชีวิต มิใช่บวชชั่วคราวเหมือนชีพราหมณ์
ชีปะขาว ในปัจจุบันหาดูได้ยาก เพราะนิยมบวชเป็นภิกษุสามเณรปฏิบัติธรรม และเป็นบรรพชิตโดยตรง
ในขณะคำว่า "ชีพราหมณ์" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า ผู้ที่บวชรักษาศีล ๘ เหมือนแม่ชี แต่ไม่ได้โกนผมและคิ้ว
ชีพราหมณ์ เป็นคำเรียกผู้ถือบวชปฏิบัติธรรม โดยนุ่งขาวห่มขาวเหมือนพราหมณ์ แต่มิได้โกนผมเหมือนแม่ชี คือกึ่งแม่ชีกึ่งพราหมณ์ จึงเรียกควบกันว่า ชีพราหมณ์ หมายถึงผู้ถือศีลเหมือนชีแต่ไม่โกนผมเหมือนพราหมณ์ เป็นคำที่กำหนดเรียกกันไม่นานมานี้ แต่เป็นที่นิยมเรียกันติดปาก และเข้าใจความหมายกันดีในหมู่ชาวพุทธ
ปัจจุบัน การถือบวชชีพราหมณ์ เป็นที่นิยมปฏิบัติกัน เพราะเป็นการสร้างบุญบารมีอย่างหนึ่งด้วยการถือบวชปฏิบัติธรรม และเป็นการบวชชั่วคราว มีระยะเวลาสั้นๆ เช่น ๗ วัน ๙ วัน
"พระธรรมกิตติวงศ์"