
ชั่วโมงเซียน-ยันต์ในผ้ายันต์เสือแจกฟรี!หลวงปู่แย้มปิยวณฺโณ วัดตะเคียน จ.นนทบุรี
"ผ้ายันต์เสือเดือนเพ็ญ" เป็นผ้ายันต์ที่พระครูสมุห์สงบ กิตฺติญาโณ หรือหลวงพี่สงบ พระเลขาฯ พระครูปิยนนทคุณ (หลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ) วัดตะเคียน ถ.พระราม ๕ (นครอินทร์) ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
จัดสร้างขึ้นในวาระ จัดสร้างและปลุกเสกเสือเดือนเพ็ญ ๙ ตะวัน ๑ จันทรา ตั้งแต่วันที่ ๑๒-๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยพระเกจิดัง ๙ รูป ตลอด ๙ วัน คือ หลวงพ่อเฉลิม วัดพระญาติ, หลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม, หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว, หลวงพ่อแย้ม วัดสามง่าม, หลวงพ่ออวยพร วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อรวย วัดตะโก, หลวงพ่อเพี้ยน วัดเกริ่นกฐิน, หลวงพ่อสุวรรณ วัดยาง อ่างทอง และหลวงปู่เก๋ วัดปากน้ำ นนทบุรี ดับเทียนชัย
อย่างไรก็ตามเพื่อความเป็นสิริมงคลวันวันส่งท้ายปีเสือ ต้อนรับปีกระต่าย ระหว่างวันศุกร์ที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๔ ความพิเศษของผ้ายันต์เสือเดือนเพ็ญนั้น เป็นผ้ายันต์ที่เข้าร่วมพิธี ซึ่งเป็นผ้ายันต์ที่แขวนอยู่ในอุโบสถตลอดการปลุกเสกเสือเดือนเพ็ญ ทั้งนี้ทางวัดไม่ได้แกะลงมาให้เช่าบูชา แต่จะแกะและมอบให้ผู้เดินทางไปไหว้พระในช่วงเทศกาลปีใหม่
การแจกผ้ายันต์เสือเดือนเพ็ญของวัดตะเคียนเปรียบได้กับการแจกจตุคามรามเทพหลังจากพิธีพุทธาภิเษกเทวาภิเษก ซึ่งมักจะเรียกว่า พลี ว่ากันว่าในช่วงจตุคามฯเฟื่องฟู จตุคามฯ ที่แจกฟรีหลายสิบรุ่น ค่านิยมในการเช่าบูชาสูงกว่าจตุคามฯ ที่สร้างออกมาจำหน่าย
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีคติวามเชื่อว่า ภาพสัตว์ที่มีพลังอำนาจในตัวของมัน เช่น เสือ ราชสีห์ ลิง กระทิง ฯลฯ พระเกจิอาจารย์ จะนำเอาอักขระ เลขยันต์ มาประกอบเขียนกำกับ เพื่อให้ดูแล้วดี มีสง่า มีความขลังขึ้น พร้อมด้วยตัวคาถาอาคม เสริมเข้าไปในรูปภาพนั้น ทำให้เกิดความขลัง เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล หากมีความศรัทธา มีความเชื่อมั่นจริง พลังจิตต่างๆ ที่ได้รับการบรรจุ เจริญภาวนาด้วยสมาธิจิตชั้นสูง ย่อมมีผลพุทธคุณปรากฏ ดังที่พระเกจิอาจารย์ดังๆ ในอดีต ซึ่งได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบันมีอยู่หลายรูป เช่น หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย) จ.สมุทรปราการ หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จ.นครปฐม หลวงพ่อมี วัดพระทรง จ.เพชรบุรี หลวงพ่อวงศ์ วัดปริวาศ ยานนาวา กทม. หลวงพ่อสุด วัดกาหลง จ.สมุทรสาคร ฯลฯ
ผ้ายันต์เสือเดือนเพ็ญสร้างออกมา ๒ แบบ คือ แบบแรก ผ้ายันต์รูปหน้า เสือ ๑ หน้า และเสือเต็มตัว ๔ ตัว ส่วนแบบที่สอง ผ้ายันต์รูปหน้าเสือ ๕ หน้า ผ้ายันต์ทั้ง ๒ แบบมียันต์ที่เป็นเอกลักษณ์ คือ "ยันต์มหาเบา" ซึ่งถือว่าเป็นยันต์ประจำตัวของหลวงพ่อ ไม่ว่าท่านจะสร้างวัตถุมงคลประเภทใดจะปรากฏยันต์ตัวนี้เสมอ ในการเขียนยันต์ตัว "อัง" (ยันต์ที่เขียนเป็นรูปทรงกลม) จะบริกรรมว่า "นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอัง" ซึ่งเป็นคาถาหัวใจพระเจ้า ๑๖ พระองค์ หรือ บางตำราก็บริกรรมว่า "อะระหัง ปูชาสักการัง อะระโหปาปะการะยัง อะระหัตตะถะสัมปัตโต อะระโหนามะเตนะโม"
สำหรับยันต์ที่น่าสนใจของผ้ายันต์รูปหน้าเสือ ๑ หน้า และเสือเต็มตัว ๔ ตัว ประกอบด้วย ๑.คาถาพญาเสือ (เขียนไว้ระหว่างหลังเสือตัวซ้ายและขวา) ที่ว่า พยัคโฆพยัคฆา สูญญา ลัพภะติ อิ ติ ฮิ่ม ฮั่ม ฮึ่ม ฮึ่ม ฮั่ม ฮั่ม ฮะ ทุ สะ มะ นิ (หัวใจปะถะมัง) ทุ สะ นิ มะ (หัวใจอริยสัจ ๔) ทุ สะ นะ โส (หัวใจพระธรรมบท) คาถาบทนี้ใช้ภาวนาเพื่อบังเกิดมีสง่าราศรีมีตบะเดชะ เป็นที่ครั่นคร้าม ของคนทั้งปวงให้เกรงกลัว เราอาจใช้กำกับ เสือ ในเวลาไปพบผู้ใหญ่เจ้านาย หรือเผชิญศัตรู และ ๒.ยันต์ นะจังงัง
ส่วนผ้ายันต์รูปหน้าเสือ๕ หน้า มียันที่น่าสนใจประกอบด้วย๑.ยันต์ที่อยู่ในวงกลม คือ คาถาหัวใจเสือ ที่ว่า ตะมัตถังปะกาเสนโต ตัวค้าคือ พยัคโฆ สัตถาอาหะ พยัคโฆ จะวิริยัง อิมัง มะหะ อิติ มะอะอุ
นอกจากนี้แล้วเพื่อบ่งบอกว่า ผ้ายันต์เสือเดือนเพ็ญ ได้เข้าพิธีปลุกเสก ๙ ตะวัน ๑ จันทรา ในผ้ายันต์ทั้ง ๒ แบบ จึงเขียนแทนกลางวันด้วย "รูปวงกลม" ตามด้วยคาถาที่ว่า "สุริยันติเย" ในขณะที่กลางคืนใช้รูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ตามด้วยคาถาที่ว่า "จันทรวิเวโก"
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอักขระเลขยันต์ที่ใช้เขียนลงบนผ้าทั้ง ๒ แบบ รวมทั้งพิจารณาพระเกจิอาจารย์ที่มานั่งปรกปลุกเสก ๙ วัน ๑ คืน สรุปได้ว่า ทางวัดต้องการสร้างผ้ายันต์เดือนเพ็ญให้มีพุทธคุณเด่นด้านมหาอุด และป้องกันภัย ไม่เฉพาะผ้ายันต์เดือนเพ็ญของวัดตะเคียนเท่านั้น ผ้ายันต์ทุกสำนัก ทุกวัด รวมทั้งพระเครื่องประเภทเหรียญที่มียันต์ หากอ่านและแปลความหมายของยันต์ สามารถสรุปได้ทันทีว่า การสร้างผ้ายันต์หรือเหรียญแต่ละรุ่นนั้น ผู้สร้างต้องการเน้นพุทธคุณด้านใดเป็นหลัก
มะอะอุ
ผ้ายันต์รูปหน้าเสือ๕ หน้า ยันต์ที่อยู่บนหัวเสือทั้ง ๔ คือ มะอะอุ แต่เขียนสลับที่กัน ภาษายันต์เรียกว่า เขียนควงกัน ซึ่งสามารถเขียนควงกันได้มากถึง๖ แบบ คือ มะอะอุ มะอุอะ อุอะมะ อุมะอะ อะอุมะ และ อะมะอุ
ในตำราไสยศาสตร์หรือเลขยันต์ไทย อะอุมะ ตามแบบฮินดูมีการแทนไว้เช่นกันตามนี้ อะ ใช้แทน พระนารายณ์ อุ ใช้แทน พระศิวะ และ มะ ใช้แทน พระพรหม
นอกจากนี้มะอะอุ ชื่อว่าหัวใจตรีเพชร มีแบบแทนพระรัตนะตรัยไว้ ๒ แบบ คือ แบ่งเป็นแบบโบราณ และแบบสมัยใหม่ ดังนี้ แบบโบราณ
มะใช้แทนพระพุทธ ย่อมาจาก มะนุสสานังพุทโธ ภะคะวาติ
อะใช้แทนพระธรรม ย่อมาจาก อะกาลิโกเอหิปัสสิโก
อุใช้แทนพระสงฆ์ ย่อมาจาก อุชุปะฏิปันโนสาวะกะสังโฆ
แต่ถ้าเป็นคาถาหัวใจพระไตรปิฏก จะแปลไปอีกแบบ คือ มะ ใช้แทน พระมหากัสสะปะ อะใช้แทน พระอานนท์ และอุ ใช้แทน พระอุบาลี ทั้งนี้จะใช้คู่กับคาถาพระเจ้า๕ พระองค์ที่ว่า นะโมพุทธายะ ซึ่งขาดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งแทบมิได้
นอกจากนี้แล้วอะอุมะ ยังแปลความได้อีกด้วยว่าอะ ใช้แทนพระพุทธ ย่อมาจาก อะระหัง อุใช้แทนพระธรรม ย่อมาจาก อุตตรธรรม และมะ ใช้แทนพระสงฆ์ ย่อมาจาก มหาสังฆะ
อ.โสภณ