
พระมหาสัมฤทธิ์ กับแนวคิดทำ...ตลาดนัดตลาดวัด
วัดโกรกกราก ต.โกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องการจัดงาน วันแซยิดหลวงพ่อปู่ หรืองานปิดทองประจำปี หลวงพ่อปู่-หลวงปู่กรับ ซึ่งตรงกับวันกลางเดือนยี่ (ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๒) ของทุกปี (ปีหน้าจะจัด ๑๘-๒๔ มกราคม ๒๕๕๔) แล้ว วัดแห่งนี้ยังขึ้นชื่
พระครูวิสุทธิ์สิทธิคุณ หรือพระมหาสัมฤทธิ์ วิสุทฺธสีโล เจ้าคณะตำบลโกรกกราก และเจ้าอาวาสวัดโกรกกราก รูปปัจจุบัน บอกว่า ตลาดนัดวัดโกรกกรากมี ๒ วัน คือ ทุกๆ วันพุธ และทุกๆ วันเสาร์ เมื่อ ๑๐ ปีก่อน ตลาดนัดของวัดเป็นตลาดนัดเล็กๆ โดยมีผู้มาเช่าลานวัดเพื่อนำไปปล่อยให้ร้านค้าเช่าต่อ หลังจากเป็นเจ้าอาวาสก็มีแนวความคิดว่า วัดควรเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ในระยะแรกที่วัดดำเนินการเองผู้เช่าลานวัดเพื่อทำตลาดนัดได้เอาร้านค้าที่เคยมาขายออกกว่า ๕๐% แต่ด้วยจำนวนผู้ที่มาซื้อของจำนวนมาก ร้านค้าที่ออกไปก็กลับเข้ามา จาก ๑๐๐ ร้าน ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเกือบ ๕๐๐ ร้านในปัจจุบัน มีรายได้จากการให้เช่าที่ของผู้ค้าไม่ต่ำกว่า ๘ หมื่นบาทต่อนัด
เหตุปัจจัยนอกจากจำนวนผู้ชื้อจำนวนมากทำให้จำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นตามแล้ว มีอีก ๓ เหตุผลที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ ๑.ค่าเช่าแผงที่วัดไม่เคยขึ้นราคาเลยสักบาทเดียว เมื่อ ๑๐ ปี ก่อนเก็บเท่าไรทุกวันนี้ก็เก็บเท่าเดิม ๒.ในช่วงฤดูฝนหากตั้งร้านแล้วเกิดฝนตกขายของไม่ได้ วัดจะไม่เก็บค่าแผงเลย และ ๓.แม่ค้ารู้ว่าวัดทำเอง จึงคิดว่าค่าเช่าแผงเป็นเงินทำบุญให้วัด โดยเงินนั้นไม่ได้ไปไหน หากนำมาพัฒนาปรับปรุงวัด ทั้งนี้วัดได้เทพื้นปูนบริเวณตลาดทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกให้พ่อค้าแม่ขาย รวมทั้งผู้ที่มาซื้อสินค้าด้วย
"บทบาทของวัดและหน้าที่ของพระไม่ได้อยู่ที่บวชเพื่อศึกษาพระธรรมเท่านั้น หากต้องเอื้อเฟื้อสงเคราะห์ญาติโยมตามกำลังและความสามารถของพระที่จะทำได้ สุดแล้วแต่พระจะมีความสามารถหรือถนัดทางใด การเปิดลานวัดให้เป็นตลาดนัด อาตมามีคติอยู่ว่า พระและวัดต้องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้ อย่างคำโบราณที่ว่า น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ซึ่งหมายถึง คนมีที่ขายของซื้อของ วัดก็ได้ค่าเช่าแผง และเมื่อค่าเช่าแผงไม่ได้ไปไหน หากแต่นำมาพัฒนาปรับปรุงวัด" พระมหาสัมฤทธิ์กล่าว
พร้อมกันนี้พระมหาสัมฤทธิ์ ยังบอกด้วยว่า วัดส่วนใหญ่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยตั้งอยู่ศูนย์กลางของชุมชน และส่วนใหญ่ก็มีลานวัดซึ่งกว้างมาพอที่จะเปิดเป็นตลาดได้ทุกวัด แต่พระและวัดส่วนใหญ่อาศัยความสะดวกสบายเป็นหลัก ทั้งนี้มักจะให้คนมาเช่าพื้นที่ต่อแล้วไปปล่อยให้แม่ค้าเช่าในราคาที่สูงเกินความจำเป็น โดยเฉพาะวัดที่ต้องอยู่ท่ามกลางชุมชน วัดที่มีคนเดินมากๆ หากพระและวัดเป็นผู้ดำเนินการเอง ไม่จำเป็นต้องเก็บค่าเช่าแผงที่สูง เพราะวัดไม่มีต้นทุนอะไร อย่างเก่งก็แค่เก็บขยะ เมื่อค่าเช่าไม่แพงของที่นำมาขายก็ไม่จำเป็นต้องแพงตาม ที่สำคัญ คือ ค่าเช่าจะถูกหรือแพง ผู้ค้าก็สบายใจ เพราะอย่างน้อยเงินก็เข้าวัดทั้งหมด โดยไม่ต้องถูกหักเปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่พระมหาสัมฤทธิ์ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสได้มาปรับปรุงพัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมวัด และบูรณปฏิสังขรณ์ศาลา กุฏิที่ชำรุดทรุดโทรม เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ ทางวัดได้จัดซื้อที่ดิน ขยายอาณาเขตของวัดออกไปอีก ๑๐ไร่ เป็นเงิน ๒๐ ล้านบาท และถมดินไปประมาณ ๕ ล้านบาท พร้อมทั้งปรับปรุงพื้นลานวัดโกรกกรากให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชน นอกจากนี้แล้ว ทางวัดได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้นำสินค้าพื้นบ้านมาจัดขายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ชุมชน โดยจัดให้มีตลาดนัดนานาชาติ
แนวคิดตลาดน้ำของหลวงพี่สงบ
“ตลาดน้ำวัดตะเคียน” เกิดจากดำริของหลวงปู่แย้ม ปิยวณฺโณ (พระครูปิยนนทคุณ) เจ้าอาวาสวัดตะเคียน ถนนนครอินทร์ (พระราม ๕) ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ภายใต้การดำเนินงานของ พระครูสมุห์สงบ กิตฺติญาโณ หรือหลวงพี่สงบ พระเลขานุการหลวงปู่แย้ม ดำเนินโครงการตลาดน้ำเมื่อปลายเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันเสาร์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ซึ่งตลอดระยะเวลาของการเปิดตลาดที่ผ่านมานั้น มีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าพายเรือมาขายของ เช่นเดียวกับลูกศิษย์ลูกหาและประชาชนที่ทราบข่าว ต่างทยอยมาเที่ยวชม และทดลองชิมลิ้มรสอาหารกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดในเทศกาลสำคัญต่างๆ
"การทำตลาดนัดในวัดพระต้องลงทุน ในระยะแรกของการทำต้องหาวิธีให้ร้านค้าอยู่ได้ แรกเริ่มของการทำตลาดนั้นไม่รู้จักตลาดน้ำวัดตะเคียน วัดจำเป็นต้องสร้างจุดขาย โดยที่วัดตะเคียนได้จ้างญาติโยมใกล้วัดมาทำร้านก๋วยเตี๋ยวเรือเอื้ออาทร ชามละ ๑๕ บาท ขายให้เส้นและเนื้อมากกว่าร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วๆ ไป นอกจากนี้ จึงจัดทำโครงการ ๑๕ บาทก็อิ่มอร่อยได้ โดยทางวัดได้ขอความร่วมมือจากแม่ค้าให้ขายอาหารในราคาไม่เกินชามละ ๑๕ บาท เพื่อให้คนที่มาทำบุญมาเที่ยวได้กินของอร่อยๆ และมีความสุขกลับบ้านไป สิ่งหนึ่งที่จะทำให้แม่ค้าขายของถูกได้ คือ ค่าเช่าที่ต้องไม่แพง ที่วัดนี้ไม่มีการเก็บค่าเช่าจากร้านค้า แต่จะขอความร่วมมือในการจ่ายค่าทำความสะอาดร้าน ๑๐๐ บาทต่อเอนเท่านั้น" นี่คือแนวคิดในการทำตลาดของหลวงพี่สงบ
พร้อมกันนี้ หลวงพี่สงบยังบอกด้วยว่า นิสัยของคนไทยเมื่อคนมาเที่ยวตลาดวัดก็มักจะต้องทำบุญควบคู่กันไปด้วย เมื่อมีคนเข้าวัดจำนวนมากปัจจัยทำบุญก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว เมื่อได้ปัจจัยมาจำเป็นอย่างยิ่งต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ญาติโยมโดยเฉพาะลานจอดรถ และที่ขาดไม่ได้และถือว่าเป็นหัวใจอย่างหนึ่ง คือ ห้องน้ำห้องสุขาต้องมีอย่างเพียงพอและสะอาด ซึ่งมีคำพูดหนึ่งที่วัดทุกแห่งต้องคิด คือ "ห้องรับแขกที่แท้จริงของวัดไม่ใช่กุฏิเจ้าอาวาส หากเป็นห้องน้ำห้องสุขาที่ญาติโยมเข้าไปปลดทุกข์" ห้องน้ำวัดใดสะอาดก็จะมีคำร่ำลือไปในทางที่ดี แต่หากห้องน้ำวัดได้สกปรกก็มีคำร่ำลือในทางที่ไม่ดีเช่นกัน
"บทบาทของวัดและหน้าที่ของพระไม่ได้อยู่ที่บวชเพื่อศึกษาพระธรรมเท่านั้น หากต้องเอื้อเฟื้อสงเคราะห์ญาติโยมตามกำลังและความสามารถของพระที่จะทำได้ การทำตลาดนัดวัดอาตมามีคติอยู่ว่า เขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้"
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"