พระเครื่อง

ชั่วโมงเซียน-ภาพถ่ายพระเก่าๆแทนคำพูดล้านคำและมีค่าถึงหลักล้าน

ชั่วโมงเซียน-ภาพถ่ายพระเก่าๆแทนคำพูดล้านคำและมีค่าถึงหลักล้าน

20 ธ.ค. 2553

ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะบุคคลในวงการพระเครื่องพระบูชา นอกจากวัตถุมงคลประเภทรูปภาพพระแล้ว ยังมีวัตถุมงคลประเภทรูปภาพอีกมากมายหลายอย่าง ที่มีผู้คนนำมาสักการบูชานับถือกัน

  เช่น รูปภาพองค์พระปฐมเจดีย์ รูปพระสถูปเจดีย์ รูปพระปรางค์ ในสถานที่สำคัญต่างๆ รวมถึงพระบรมฉายาลัษณ์แต่ละรัชกาล รวมทั้งเชื้อพระวงศ์ เช่น รูปภาพของเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรืออาจารย์ที่เป็นฆราวาสก็มี เช่น รูปของอาจารย์เฮง ไพรยวัลย์ ผู้มีวิชาเก่งกล้า หรือรูปคุณแม่บุญเรือน โตงบุญเติม ที่เชื่อว่าท่านเป็นผู้มีบุญบารมี สำเร็จญาณด้านวิปัสสนา

 รูปภาพเก่ามีทั้งที่เขียนวาดจากมือ และภาพถ่ายจากกล้อง ซึ่งบางรูปมีอายุกว่า ๑๐๐ ปี ซึ่งในยุคปัจจุบันจะหาชมรูปภาพเหล่านี้ในสภาพที่สมบูรณ์นั้นหาชมได้ยากยิ่งจริงๆ ผู้ใดมีโอกาสได้ครอบครอง ก็ควรดูแลอนุรักษ์ และรักษาให้คงอยู่ในสภาพเดิมให้มากที่สุดเท่าที่ควรทำได้

 รูปภาพพระถือว่าเป็นวัตถุมงคลอย่างหนึ่ง เหมาะสำหรับการสักการบูชา รูปภาพพระยังแยกเอาไว้ด้วยกัน ๒ ประเภท ๑.ประเภทรูปพระพุทธ และ ๒.ประเภทรูปพระสงฆ์

 รูปภาพพระเก่าไม่ว่าจะเป็นรูปพระพุทธ หรือรูปพระเกจิอาจารย์ รวมทั้งรูปฆราวาส มีการจัดสร้างเอาไว้ด้วยกันหลายขนาด มีทั้งขนาดเล็กห้อยคอ และขนาดบูชา มีทั้งภาพที่แต่งแต้มสี และเป็นแบบภาพขาวดำ 

 ปัจจุบันรูปภาพพระเก่าได้จัดอยู่ในวัตถุมงคลที่ค่อนข้างหายาก ที่พอจะพบอยู่บ้างก็มีสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์ ภาพเกจิอาจารย์บางท่านหาชมได้ยากมาก ทำให้ราคาแพงสูงลิ่วสุดกู่ เช่น ภาพหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ภาพหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ภาพหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นต้น

 ส่วนรูปภาพพระเกจิอาจารย์ยุคหลังๆ บางองค์ก็มีราคาสูงเช่นกัน และเป็นที่ต้องการของตลาดนักสะสมเหมือนกัน เช่น รูปหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม รูปหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค รูปหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่

 ในสมัยก่อนรูปภาพพระแต่ละรูปไม่ได้วาด หรือถ่ายได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่พระแต่ละองค์จะต้องมีความสำคัญ มีชื่อเสียงเป็นที่ชื่นชอบ และเป็นที่ยกย่องศรัทธาของคนทั่วไป หรือคนในสังคมนั้นๆ ถึงจะได้ถ่ายภาพ หรือเขียนรูปเก็บเอาไว้ เพราะในสมัยก่อนการถ่ายรูปภาพนั้นทำได้ไม่ง่ายนักเหมือนในสมัยนี้ รูปภาพพระต่างๆ สามารถแยกแยะถึงอายุของรูปว่าเป็นรูปภาพเก่า หรือรูปใหม่ได้ไม่ยาก  เพราะรูปถ่ายในแต่ละยุคมีการพัฒนาในการถ่ายภาพมาตลอด ยิ่งกระดาษที่ใช้บันทึกภาพยิ่งต่างกันชัดเจน แม้กระทั่งสีที่เคลือบเนื้อกระดาษแต่ละยุคก็ยังไม่เหมือนกัน มีทั้งที่เคลือบด้วยสีที่เรียกว่า สีซีเปีย หรือรูปภาพที่เป็นขาวดำ จะอาบด้วยน้ำยาคาร์บอน

 ถามว่ารูปภาพเก่ามีของเก๊มั้ย ตอบได้เลยว่าเยอะมาก สิ่งของใดที่มีค่านิยมสูงๆ แพงๆ ย่อมมีคนต้องการทำปลอมเลียนแบบแทบทั้งนั้น

 การดูภาพ หรือแยกแยะว่าภาพเก่าหรือใหม่ อย่างน้อยต้องมีทักษะความชำนาญสักระดับหนึ่ง  การจะเช่าหรือซื้อรูปภาพเก่าต้องดูให้ละเอียด แม้กระทั่งกรอบที่ใส่ภาพไว้ว่าเป็นกรอบเดิมที่ใส่มาพร้อมกับภาพหรือเปล่า ภาพพระเก่าหากว่าภาพไหนที่ยังอยู่ในสภาพเดิมๆ สมบูรณ์แบบทุกประการ  อาจทำให้รูปนั้นมีมูลค่าสูงกว่าภาพในสภาพทั่วไปหลายเท่าก็ได้

 ภาพย้อนยุค หมายถึง การนำเอาภาพเก่าที่ถ่ายเอาไว้ดั้งเดิมมาก๊อบปี้ ถ่ายซ้ำ อัดภาพขึ้นมาใหม่  วิธีดูให้สังเกตว่า  

 ๑.กระดาษที่อัดภาพจะเป็นกระดาษรุ่นใหม่
        ๒.ความคมชัดของรูปน้อยลงเห็นได้ชัดเจน
         ๓.กระดาษขาดความเก่า แห้ง ต่างกับอายุของรูปที่แท้จริง
         และ ๔.ผิวพื้นกระดาษไม่มีร่องรอย ลอกผุกร่อนแบบดังเดิม 

 ภาพย้อนยุคที่อัดก๊อบปี้มานั้นวงการพระชอบเรียกกันว่า ภาพแท้แต่ไม่ทัน ค่านิยมจะเล่นหาถูกกว่าภาพดั้งเดิมมาก บางภาพวงการอาจไม่เล่น หรือไม่นิยมเลยก็มี

 ส่วนรูปภาพที่ทำเลียนแบบ หรือปลอมภาพมานั้น ที่ทำไว้ดีที่สุดนั้น เท่าที่เห็นปลอมรุ่นแรกๆ จะใช้กระดาษอัดรูปมาแช่น้ำผสมสี หรือแช่น้ำชา ปรับสีให้ดูใกล้เคียงกับสีของภาพเก่าๆ ที่เป็นภาพเก่าแท้ ซึ่งภาพปลอมที่ได้ออกมานั้น รูปกับเนื้อกระดาษจะดูบวมๆ และยุ่ยง่าย ถ้าใครเคยเห็นภาพเก่ามาบ้าง ก็จะสังเกตได้ง่าย จึงถือว่าการปลอมภาพเก่านั้นทำให้เหมือนได้ยาก

 ในขณะที่ค่านิยมรูปภาพพระเก่าๆ หรือรูปภาพอื่นๆ ที่นิยมบูชากัน ส่วนมากค่านิยมจะค่อนข้างสูงถึงสูงมาก ส่วนใหญ่จะว่ากันตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักล้านเลยก็มี

 ด้านพุทธคุณก็คงไม่มีอะไรแตกต่างไปจากวัตถุมงคลประเภทอื่นๆ คงขึ้นอยู่กับพิธีกรรมในการปลุกเสก เพราะรูปภาพเปรียบเสมือนตัวแทนขององค์พระที่เราเคารพและศรัทธา เป็นสิ่งที่มีความขลัง  ความศักดิ์สิทธิ์ในตัวอยู่แล้ว

 นอกจากภาพถ่าย พระพุทธ พระสงฆ์ แล้ว ยังมีภาพถ่ายอีกประเภทหนึ่งที่ถือว่ามีคุณค่าและความสำคัญไม่แพ้กัน คือภาพถ่ายวัดต่างๆ เมื่อ ๕๐ ปี ก่อน

 หนึ่งในช่างภาพที่คนไม่รู้จัก แต่มีผลงานและเป็นผู้หนึ่งที่บันทึกภาพอันเป็นประวัติศาสตร์ คือ "นายธรรมนูญ แสงรังษี" ช่างภาพและคนข่าววัย ๗๘ ปี โดยเขาได้ถ่ายภาพวัดที่ถือว่าเป็นภาพถ่ายประวัติศาสตร์ เช่น วัดพระแก้วที่ถ่ายจากมุมศาลอาญากรุงเทพฯ ซึ่งยังมีปั๊มน้ำมัน ๓ ทหารตั้งอยู่บริเวณศาลหลักเมืองในปัจจุบัน ภาพถ่ายพระศรีสรรพเพชญ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ภาพถ่ายพระอัฏฐารส จ.พิษณุโลก ก่อนการบูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ รวมทั้งวัดวังก์วิเวการาม ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ก่อนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะสร้างเขื่อน

 มีคำพูดหนึ่งของวงการถ่ายภาพที่มักพูดเปรียบเปรยถึงความสำคัญของภาพถ่ายว่า “ภาพถ่ายภาพเดียว แทนคำพูดนับล้านคำ” แต่ในวงการพระเครื่องมีคำเพิ่มต่อท้าย คือ “ภาพถ่ายภาพเดียว แทนคำพูดนับล้านคำและมีค่าถึงหลักล้านเลยก็มี”

นุ   เพชรรัตน์