พระเครื่อง

พึ่งตนพึ่งธรรม - พุทธคยา-สวนลุมพินีวัน
พลังศรัทธาชาวพุทธ

พึ่งตนพึ่งธรรม - พุทธคยา-สวนลุมพินีวัน พลังศรัทธาชาวพุทธ

14 ธ.ค. 2553

สวนลุมพินีวัน เมืองไรราว่า เนปาล - ใครว่าศาสนาเสื่อม ? ที่เสื่อมนะคือ คนคนเสื่อม ศาสนาคือความจริง เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ พระพุทธองค์ทรงนำสัจธรรมมาแสดงให้ชัดแจ้ง ให้พ้นทุกข์ด้วยทางสายกลาง แนวปฏิบัติธรรมสายไปสู่การดับทุกข์ ไม่มากไปข้างใดข้างหนึ่ง

 ศาสนาพุทธ สอนอริยสัจ ๔ “มรรค ๘” เป็นหนทางดับทุกข์
 สวนลุมพินีวัน สังเวชนียสถาน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะ แห่งศากยวงศ์ เนปาล ปัจจุบันรัฐบาลเนปาลได้อนุรักษ์เขต ๖,๐๐๐ ไร่ ไว้ให้ชาวพุทธจากทั่วโลกได้ร่วมจิตร่วมใจฟื้นฟูสวนลุมพินีวันให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ เรียกว่า “พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก” ตามดำริของ ฯพณฯ อูถั่น ชาวพุทธพม่า เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ ชาวพุทธพม่าได้เริ่มโครงการฟื้นฟูพุทธสถานลุมพินีวัน

 หินแกะสลักรูปพระนางมายาเทวี ยืนเหนี่ยวกิ่งสาละอยู่ พร้อมนางกำนัล มีพระประสูติการพระโอรส ข้างหน้าเป็นรูปเจ้าชายสิทธัตถะกำล้งก้าวพระบาทบนดอกบัว และยังมีแผ่นศิลาที่ขุดค้นพบใหม่ รอยพระพุทธบาทเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร เมื่อครั้งพระเยาว์ได้อย่างชัดเจน

 หินแกะสลัก ประดิษฐานอยู่ในมหาวิหารมายาเทวี ท่ามกลางชาวพุทธจากทั่วโลกเดินทางมาเคารพกราบไหว้ในมหาวิหาร (ใหม่) ในลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ที่ได้รับยกย่องเป็น “มรดกโลก” เมื่อปี ๒๕๔๐

 โบราณสถานที่สำคัญมาก เป็นหลักฐานที่สามารถระบุสถานที่ประสูติได้อย่างถูกต้องก็คือ เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ทรงสร้างขึ้น ตามบันทึกของหลวงจีน พระถังซัมจั๋งอ้างไว้ในบันทึกว่า เมื่อเดินทางมาถึงสวนลุมพินีวัน พบรูปวิคฑะ ซึ่งปกติอยู่บนยอดเสากองอยู่ที่พื้นที่ดิน

 หลวงจีนอ้างว่า วิคฑะเป็นรูปม้า แต่ปัจจุบันยังค้นไม่พบ
 บนเสาอโศก ได้จารึกอักษรพราหมณ์โบราณ ที่ถือเป็นหลักฐานสำคัญความว่า

 “พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อรับการราชาภิเษกแล้ว ๒๐ ปี ได้เสด็จมานมัสการสถานที่แห่งนี้ด้วยพระองค์เอง ด้วยว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงประสูติ ณ ที่นี้ ทรงให้สร้างรูปสลักหินและประดิษฐานหลักศิลาไว้เป็นที่หมาย”

 เสานี้มีความสูง ๑๘ ฟุต

 สวนลุมพินีวัน ได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก ที่น่าสนใจของสวนลุมพินีวันและแสดงให้เห็นถึงศรัทธาจากชาวพุทธทั่วโลก นั่นคือ

 เขตก่อสร้างศาสนสถานฝ่ายมหายาน อย่างวัดเนปาลมหายาน วัดเนปาลวิหาร วัดเกลีแดซุง วัดมนัง สมาชกุรุง ชาวจีนซงฮัว วัดเวียดนามพุทธวิหาร วัดญี่ปุ่นโซเกียว วัดญี่ปุ่นฟูจิ คุรุจี วัดธัมมสวามีมหาราชา พุทธวิหาร วัดชาวพุทธมองโกเลีย ฯลฯ

 เขตก่อสร้างศาสนสถานฝ่ายเถรวาท ได้แก่ วัดเนปาลพุทธวิหาร วัดเมียนมาร์ เจดีย์ทอง วัดสมาคมมหาโพธิ์ ศรีลังกา วัดไทยลุมพินี วัดชาวพุทธศรีลังกามหาวิหาร วัดโคตมีวิหาร ศูนย์วิปัสสนาบัณฑิตาราม พม่า ธรรมจารินี ศูนย์ปฏิบัติธรรมโกเอ็นก้า

 ทุกวันนี้ พื้นที่สำหรับปลูกป่าและสร้างวันพุทธนานาชาตินั้น มีชาวพุทธจากทั่วโลกสร้างวันพุทธแล้วกว่า ๔๑ ประเทศ
 วัดที่สร้างโดยชาวพุทธนานาชาตินี้ มีคลองแห่งสันติภาพ คั่นกลางระหว่าง พุทธฝ่ายมหายาน กับพุทธฝ่ายเถรวาท และยังมีศูนย์ศึกษาค้นคว้าทางพุทธศาสนา ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์

 สำหรับประเทศไทยนั้น วัดไทยลุมพินี เป็นวัดไทยแห่งแรกในปริมณฑลสังเวชนียสถานเขตสวนลุมพินีวัน สร้างตามศรัทธาของชาวพุทธไทย โดยมีรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้การสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง

 การอออกแบบอุโบสถวัดไทยลุมพินี ได้ผสมผสานสถาปัตยกรรมของไทย-เนปาล ในลักษณะอาคารหินอ่อนสีขาวดุจหิมะขาวบนเทือกเขาหิมาลัย และดุจน้ำนมของพุทธมารดา ที่ประทานแก่พระมหาโพธิสัตว์ได้เสวย และมีพระพุทธปฏิมาสุวรรณภูมิสิริโชค ภปร เป็นองค์พระประธานในอุโบสถ สร้างด้วยหินหยกพม่าและบรรจุมวลสารศักดิ์สิทธิ์จากพุทธสังเวชนียสถานทั้งสี่

 ตั้งแต่วัดแรกของไทย ปักหลักฐานในดินแดนพุทธภูมิได้ ตั้งแต่นั้นมาศรัทธาของชาวพุทธไทยก็ไม่หยุดยั้งที่จะสร้างวัดเพิ่มขึ้น เป็นพุทธบูชา ตามรอยพระศาสดาทุกหนแห่ง ในสังเวชนียสถานทั้งสี่และดินแดนพุทธภูมิ

 นอกจากวัดไทยลุมพินีแล้ว ยังขยายสร้างวัดที่พุทธคยา แล้วยังมีวัดทิเบต วัดศรีลังกา วัดพม่า วัดจีน วัดเวียดนาม วัดญี่ปุ่น วัดภูฏาน วัดกัมพูชา ก็ตั้งอยู่รอบๆ พระมหาเจดีย์พุทธคยา

 บริเวณมหาเจดีย์พุทธคยา มีนักบวชชาวพุทธและชาวพุทธ ทั้งอินเดีย ทิเบต ไทย เดินทางมาที่นี่ เพื่อเจริญสติ เคารพ กราบไหว้ ทำสมาธิ สวดมนต์ จากสถิติ ปรากฏว่า ชาวทิเบตเดินทางมาถึงที่นี่มากที่สุด โดยเฉพาะในฤดูหนาว มาไหว้พระ และมาขายอาหารทิเบต รองลงมาเป็นชาวศรีลังกา ที่เดินทางมาตลอดทั้งปี ถัดมาเป็นพม่า ญี่ปุ่น ก็มามาก เกาหลี ไทย จีน เวียดนามและกัมพูชา ก็เริ่มเข้ามา เป็นต้น ยังรอแต่ “วัดลาว”

"ลุงแจ่ม คม ชัด ลึก"