พระเครื่อง

วัดไทยเชตวันมหาวิหาร
ศูนย์ศึกษาธรรมะในแดนพุทธภูมิ

วัดไทยเชตวันมหาวิหาร ศูนย์ศึกษาธรรมะในแดนพุทธภูมิ

08 ธ.ค. 2553

การเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถาน อันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มี ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล สถานที่ตรัสรู้ พุทธคยา สถานที่แสดงปฐมเทศนา สารนาถ และสถานที่ปรินิพพาน กุสินารา ๓ แห่งนี้อยู่ในประเทศอินเดีย

  นอกจากนี้ ยังมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ที่พุทธศาสนิกชนควรจะได้เดินทางไปสักการะเยี่ยมชมด้วย  เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระบรมศาสดาโดยตรง

 หนึ่งในนั้น คือ นครสาวัตถี สถานที่พระพุทธเจ้าโปรดเป็นพิเศษ โดยได้ประทับและประกาศพระศาสนาในแคว้นโกศลนานถึง ๒๕ พรรษา เฉพาะในนครสาวัตถี พระพุทธองค์ทรงประทับในพระอารามเชตวันมหาวิหาร นานถึง ๑๙ พรรษา นานที่สุดในพระชนม์ชีพ ทั้งนี้โดยมีมหาราชาปเสนทิโกศล มหาอุบาสก เป็นกษัตริย์ของนครแห่งนี้

 นอกจากนี้ ยังมีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้มากมีด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ได้สละทรัพย์มหาศาล สร้างพระเชตวันมหาวิหาร ถวายพระบรมศาสดา นับเป็นพระอารามหลวงที่สมบูรณ์และยิ่งใหญ่ ด้วยมีมหาสาวก มหาสาวิกา เหล่าอริยบุคคล อุบาสก อุบาสิกา สนองพุทธกิจ เผยแผ่พุทธธรรมให้ไพศาล โดยเฉพาะ 'นางวิสาขา' มหาอุบาสิกา ผู้สูงส่งด้วยเบญจกัลยาณี ได้ถวายศาสนูปถัมภ์อย่างมั่นคง

 และที่สำคัญคือ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระสูตร ทรงบัญญัติพระวินัย และประกาศพระอภิธรรม จนเป็นปึกแผ่นของพระพุทธศาสนา ก็ได้เริ่มต้นจากที่นี่

 อีกทั้งยังเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ โดยเสด็จสู่ดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดา และทรงแสดงฤทธิ์ปราบเหล่าเดียรถีย์ให้พ่ายแก่บารมี

 ในทุกวันนี้ ยังมีหลักฐานเป็นซากโบราณสถานปรากฏอยู่ คือ วิหารธรรมสภา ที่ชุมนุมฟังธรรมของประชาชนจากทิศทั้ง ๔ มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยนิกร เป็นสถานที่กำเนิดคำสอนจากพระสูตร คาถาธรรมบทจำนวนมาก รวมทั้งนางปฏาจาราวิสาขามหาอุบาสิกา ก็มาฟังธรรมที่นี่ด้วย

 อานันทโพธิ ต้นไม้มงคลในเชตวัน พระโมคคัลลานะนำเมล็ดจากพุทธคยาโดยทางอากาศ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้ปลูกตามพุทธประสงค์? ด้วยความดำริของพระอานนท์ องค์สมเด็จพระทศพลเสด็จมาเจริญภาวนาตลอดราตรี

 เจดีย์พระอรหันต์แปดทิศ สถานที่พระพุทธเจ้าทรงมอบภาระการเผยแผ่ให้หมู่พระอรหันต์เจ้า กระจายออกไปประกาศพุทธธรรม อุปสมบทกุลบุตรผู้ศรัทธาตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าในบางคราว ครั้งสำคัญมีขึ้น จะกลับมาที่เชตวันเพื่อรับพระโอวาทและแสดงธรรม

 หมู่กุฏิพระอริยสาวก พระพุทธองค์?ประทับนานถึง ๑๙ พรรษา มีพระสาวกองค์สำคัญมาสนองงาน พระเชตวันจึงเป็นศูนย์กลางเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดในครั้งพุทธกาล โดยมี กุฏิพระอรหันต? เช่น กุฏิ พระสีวลีเถระ พระมหากัสสปะสังฆวุฒาจารย์ องคุลีมาล พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอุบาลี พระอานนท์ เป็นต้น

 สถูปทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คราวเมื่อเดียรถีย์นอกศาสนากำเริบ เพราะเสื่อมลาภ ขาดความศรัทธาจากมหาชน จึงเกิดการท้าทายแสดงฤทธิ์เดช จนเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องแสดงยมกปาฏิหาริย์ ให้เหล่าเดียรถีย์ผู้เป็นไพรีพินาศไป

 คฤหาสน์มหาเศรษฐี เป็นบ้านที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีอาศัยอยู่ และได้นําแผ่นทองจากที่นี่เป็นจำนวน ๕๔ โกฏิ ไปเป็นค่าที่ดินของเจ้าเชต เพื่อสร้างพระอารามถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า

 ที่บรรลุธรรมของชนทุกหมู่เหล่า พระเชตวันมหาวิหาร รมณียสถานอันร่มรื่นเป็นที่แสวงหาโมกข์ธรรมมาแต่โบราณ มีผู้ดวงตาเห็นธรรมยกระดับจากปุถุชนเป็นอริยชนจำนวนมาก คำสอนสำคัญๆ แสดงที่นี่ ทุกวันนี้จึงมีสาธุชนผู้ใฝ่ธรรมไปศึกษาปฏิบัติมิได้ขาด

 ด้วยความสำคัญเช่นนี้ มูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย ได้ร่วมกับ พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย และภายใต้การบังคับบัญชาของมหาเถรสมาคม โดยมี พระราชรัตนรังษี ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย คณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร ประธานโครงการอบรมพระธรรมทูต มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และพระธรรมทูตสายต่างประเทศ จึงเห็นชอบและพร้อมใจกันจัดสร้างวัดไทยขึ้นในนครสาวัตถีดังกล่าว ให้เป็นรมณียศาสนสถาน งดงามด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย สมบูรณ์ด้วยศิลปกรรมธรรมชาติ และพุทธศิลป์ ผสมกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมทางศาสนา และวัฒนธรรม โดยมี พระเชตวันมหาวิหาร และปุบผารามมหาวิหาร เป็นหลัก

 เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะเป็น วัดไทยแห่งเดียว ในบริเวณนี้ ซึ่งต่อไปจะเป็นศูนย์การศึกษาที่กว้างไกล โดยเฉพาะกรณีศึกษาพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอน ทรงบัญญัติ เป็นที่ศึกษาปริยัติธรรม และปฏิบัติธรรมวิปัสสนาของหมู่สงฆ์ อุบาสิกาชายไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น และจะเป็นวัดไทยในพุทธภูมิที่สมบูรณ์แบบและสง่างามอีกแห่งหนึ่ง

 วัดไทยเชตวันมหาวิหาร ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนสาราวัสถิ เขตปกครองของ ต.สาวัตถี อ.บารามปูร์ จ.บาหไรส์ รัฐอุตตรประเทศ ใกล้กับสถูปยมกปาฏิหาริย์ ไม่ห่างจากพระเชตวันวิหาร กับบ้านท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และบ้านของบิดาองคุลีมาล

   โดยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ๓๘ ไร่ โดยในส่วนของพระอุโบสถ และพระมหาเจดีย์ ได้รับเกียรติจาก พล.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมไทย ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๑ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ

 ในส่วนธรรมสภา อันจะเป็นศูนย์รวมกิจการงานเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน รวมถึงจะเป็นอาคารหลักเพื่อการปฏิบัติธรรม ออกแบบโดย คุณธีรพล นิยม ผู้อำนวยการสถาบันอาศรมศิลป์

 โครงการนี้ จะเป็นครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธศาสนาให้ยืนหยัดอยู่คู่กับนครสาวัตถี โดยถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา

 ผู้ที่มีจิตศรัทธาในการสร้างมหากุศลครั้งนี้ ร่วมบริจาคได้ที่ธนาคารนครหลวงไทย สาขาท่าพระจันทร์ บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี 'วัดมหาธาตุเพื่อสร้างวัดไทยเชตวันมหาวิหาร-อินเดีย' เลขที่บัญชี ๐๑๕-๒-๒๔๗๓๘-๖ หรือที่ ธ.ทหารไทย สาขาสุรวงศ์ บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี 'มูลนิธิวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย เพื่อวัดไทยเชตวันมหาวิหาร-อินเดีย' เลขที่บัญชี ๐๗๘-๒-๑๔๘๐๑-๙, ธนาคารออมสิน สาขาสีลม เลขที่บัญชี ๐๒๐-๐-๒๖๘๖๔๓๓-๘, ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสุรวงศ์ ๒ เลขที่บัญชี ๐๖๔-๒-๓๕๓๒๒-๕, ธนาคารกรุงไทย สาขาสุรวงศ์  เลขที่บัญชี ๐๒๓-๐-๑๑๗๘๖-๔, ธนาคารกสิกรไทย สาขาสำนักสีลม เลขที่บัญชี ๗๘๙-๒-๑๗๕๕๒-๑ สอบถามโทร.๐-๒๒๒๑-๑๙๖๙, ๐-๒๑๘๔-๔๕๓๙-๔๑

0 แล่ม จันท์พิศาโล 0