
สมนึก ศรีผ่องใส(โกยี สุโขทัย)ประธานชมรมพระเครื่อง จ.ตาก
การจัดงานประกวดพระเครื่อง เหรียญคณาจารย์ และเครื่องรางของขลัง ที่ โรงเรียนตากพิทยาคม จ.ตาก เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น นับเป็นการจัดงานประกวดพระครั้งแรกของ จ.ตาก ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักสะสมพระทั่วไปเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวบ้านในท้อง
วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ ๑.เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พระบูชา พระเครื่อง เหรียญคณาจารย์ และเครื่องรางของขลัง รวมทั้งเพื่อส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมแก่ผู้ร่วมงาน และนักสะสมพระทั่วไป ๒.เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวงานประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีป ๑,๐๐๐ ดวง และการท่องเที่ยว จ.ตาก ๓.เพื่อนำรายได้ร่วมสมทบทุนก่อสร้างหลังคาอลูซิงค์ โครงเหล็ก คลุมลานคอนกรีต หน้าเสาธงโรงเรียนตากพิทยาคม
การจัดงานครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจากความคิดริเริ่มของ สมนึก ศรีผ่องใส หรือที่วงการพระรู้จักกันดีในนาม โกยี สุโขทัย เซียนพระอาวุโส ผู้อยู่ในวงการพระมานานกว่า ๓๐ ปี
แม้ว่า โกยี จะเป็นชาวสุโขทัยโดยกำเนิด แต่ไปเป็นเขยคนเมืองตาก ทำให้มีบ้านอยู่ที่เมืองตากมานานปี จนมีความคุ้นเคยกับชาวเมืองตากเป็นอย่างดี จึงได้จัดงานประกวดพระครั้งนี้ขึ้น โดยที่ได้เห็นว่า ชาวเมืองตากจำนวนไม่น้อยที่สนใจสะสมพระ แต่เนื่องจากไม่มีผู้แนะนำ หรือที่ปรึกษาผู้มีประสบการณ์มาก่อน ทำให้การสะสมพระเป็นไปอย่างไม่มีหลักการ เก็บพระแบบสะเปะสะปะมาโดยตลอด พระที่ได้มาจึงมักจะเป็นของปลอม ของเลียนแบบ ล้อพิมพ์ มากกว่าพระแท้ที่วงการนิยมกัน
ด้วยเหตุนี้ โกยี จึงได้ร่วมกับเพื่อนๆ ในสนามพระส่วนกลาง และนักพระเครื่องในท้องถิ่น รวมทั้งชาวเมืองตาก ที่สนใจการสะสมพระเครื่อง จัดตั้งเป็น ชมรมอนุรักษ์พระบูชาพระเครื่อง จ.ตาก ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ และหลักการสะสมพระเครื่องพระบูชาที่ถูกต้อง ให้กับชาวเมืองตาก ที่สนใจสะสมพระเครื่องพระบูชาโดยทั่วกัน พร้อมกับการจัดงานประกวดพระขึ้นในวันดังกล่าว
หลังจากนี้ หากมีชาวเมืองตาก อยากรู้เรื่องพระแท้ ดูตรงไหนอย่างไร รวมทั้งแนวทางการสะสมพระที่ถูกต้อง ทางชมรมยินดีจะแนะนำให้ เพื่อจะได้เป็นนักสะสมพระที่ดี มีพระแท้ ตามแบบมาตรฐานสากลที่นิยมกันทั่วไป
ก่อนจะมาถึงวันนี้ โกยี เล่าว่า “ผมเริ่มสนใจพระมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็ก อายุประมาณ ๑๓ ปี เพราะที่ จ.สุโขทัย มีกรุพระมากมาย พอมีคนไปขุดหาพระได้ (พระแตกกรุ) เขาก็จะขนมาขายที่ตลาด บางคนไม่ได้ตั้งราคาขาย แต่จะขอแลกกับของกินของใช้ก็มี สมัยที่ 'พระลีลากรุวัดถ้ำหีบ' แตกกรุ ซื้อขายกันองค์ละ ๒๕ บาท (สมัยนั้นถือว่ามากพอสมควร) คนสุโขทัยแม้จะไม่สนใจพระ แต่เมื่อได้พบเห็นพระกรุอยู่เสมอๆ เพราะกรุพระมีมาก และพระแตกกรุบ่อยๆ ทำให้พระกรุมีอยู่ทั่วทุกแห่งหนในตลาดสุโขทัย ชาวบ้านร้านตลาดก็เลยได้รู้ได้เห็นไปโดยปริยาย ต่อมาเมื่อพี่สาวผมไปแต่งงานกับ 'พี่ปรีชา ดวงวิชัย' ซึ่งเป็นเซียนพระรุ่นเก่า ก่อนปี ๒๕๐๐ ทำให้ผมมีหน้าที่ใหม่ คือ คอยถือกระเป๋าพระของพี่ปรีชา ไม่ว่าจะไปซื้อขายพระที่ไหน ผมจะติดตามไปด้วยเสมอ จึงทำให้ผมได้พบเห็นพระพิมพ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งสมัยนั้นพระส่วนใหญ่เป็นของแท้ทั้งนั้น อย่างพระหูยาน องค์ละ ๗-๘ ร้อยบาท พระท่ากระดาน พันเศษๆ ผมได้เห็นพระทุกวัน จนจำชื่อพระชื่อกรุได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งได้ศึกษาจากพระแท้องค์จริงเป็นประจำ โดยที่พี่ปรีชาไม่ได้สอนให้ตรงๆ แต่จะให้ดูเอาเองจากองค์พระที่มีอยู่ นอกนั้นต้องเรียนรู้โดยฟังผู้ใหญ่เขาคุยกัน แบบครูพักลักจำ อะไรดีอะไรไม่ดีเราก็ต้องพิจารณา และจดจำเอาเอง บางครั้งพี่ปรีชาจะหยิบพระให้ดูองค์หนึ่ง แล้วถามว่าเป็นไง พระองค์นี้ดีไหม เป็นการทดสอบสายตาเรา ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะสอบผ่าน มีพระบางองค์บางกรุเท่านั้น ที่ไม่ค่อยได้ผ่านสายตาผม ก็อาจจะตอบผิดพลาดไปบ้าง หากตอบผิดพี่เขาก็จะสอนให้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผมสามารถดูพระได้ทุกหน้า เพราะได้ครูแนะนำที่ดีนั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผู้เริ่มสนใจการเรียนรู้ดูพระให้เก่ง ประการแรก คือ ต้องมีครูที่ดี มีผู้แนะนำที่ดี จะทำให้ผิดพลาดได้น้อย นอกจากนี้ก็ต้องศึกษาจากพระแท้องค์จริงให้ได้ เพราะพระแท้คือครูสอนที่ดีที่สุด”
เมื่อช่ำชองในวิทยายุทธ์ ด้านพระเครื่องพอสมควรแล้ว พี่ปรีชา ดวงวิชัย เห็นว่า การอยู่แต่ในเมืองสุโขทัย โลกทัศน์ย่อมแคบกว่าการออกไปผจญภัย หาประสบการณ์ในต่างแดน โดยเฉพาะในเมืองหลวง อย่างกรุงเทพมหานคร จึงได้ย้ายครอบครัวลงมาอยู่ที่กรุงเทพฯ พร้อมกับพาโกยีลงมาด้วย
เริ่มแรกเมื่อเข้าเมืองกรุง พี่ปรีชายังไม่ได้ซื้อขายพระ แต่ไปเปิดร้านขายอาหารประเภทข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ที่ละแวกวัดไผ่ตัน จนได้รู้จักกับเซียนพระบางคน จึงได้มีการซื้อขายพระกันขึ้นมา
โดยเฉพาะ นิกร บางเลน เซียนพระชื่อดังในสมัยนั้น ได้เห็นลีลาการดูพระของพี่ปรีชาแล้ว ถึงกับยกย่องว่า สายตาเด็ดขาดมาก หากเข้าสู่วงการพระอย่างจริงจัง เชื่อแน่ว่าจะโด่งดังทั้งด้านชื่อเสียงและเงินทอง จึงชวนให้พี่ปรีชาเล่นพระด้วยกัน โดยมีโกยีเป็นผู้ช่วย แห่งแรกที่พี่ปรีชาและโกยีไปเปิดแผงพระ คือ วัดมหรรณพาราม ต่อมาย้ายไปที่หลังศาลอาญา ข้างสนามหลวง แล้วจึงย้ายเข้าไปอยู่ในวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์
ที่นี่เองที่ได้รู้จักกับ ต้อย เมืองนนท์ รวมทั้งเซียนพระชื่อดังอีกหลายคน ทำให้ธุรกิจการซื้อขายพระกว้างขวางขึ้น ซื้อง่ายขายคล่อง มีรายได้เป็นที่น่าพอใจมาก
และนับเป็นคนแรกที่ได้บุกเบิกพระเมืองสุโขทัยในตลาดพระเมืองกรุง โดยการขึ้นล่องกรุงเทพฯ-สุโขทัย เพื่อหาซื้อพระที่สุโขทัยในระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ พอถึงวันเสาร์-อาทิตย์ ก็เอาพระลงมาขายที่กรุงเทพฯ ทำให้พระเมืองสุโขทัย อย่าง พระร่วงหลังรางปืน พระร่วงนั่งหลังลิ่ม ฯลฯ เป็นที่รู้จักและแสวงหากันในหมู่นักสะสมพระเมืองกรุง สมัยนั้นองค์ละไม่กี่พันบาทเท่านั้น
ที่สำคัญสุด คือ พระที่เอามาขายนั้นล้วนเป็น พระแท้ และเป็นพระสวยดูง่ายทุกองค์ จึงเป็นที่พอใจของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นนักสะสมพระระดับชาวบ้าน พ่อค้า นักธุรกิจ หรือข้าราชการผู้ใหญ่ นักการเมือง ก็ตาม จนชื่อเสียงของป๋าปรีชาโด่งดังไปทั่ววงการพระ รวมทั้งโกยีก็เป็นที่รู้จักของคนในวงการพระอย่างกว้างขวางเช่นกัน
มาถึงยุคหนึ่ง ได้มีการรวมเซียนพระชื่อดัง ไปเปิดร้านพระอย่างเลิศหรู ย่านถนนราชดำริ เป็นที่โด่งดังมาก เพราะมีลูกค้าระดับวีไอพีทั้งนั้น แต่ดำเนินการอยู่ได้ไม่นานก็ต้องแยกตัวกัน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างซื้อขายกันเอง คราวนี้ "ป๋าชา" ไปเปิดร้านที่ห้างพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ก่อนจะย้ายไปอยู่ตลาดนัดจตุจักร
แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา โกยีจะติดตามพี่ปรีชาไปทั่วทุกแห่งหน แต่โกยีก็ไม่ได้เปิดร้านพระเป็นของตัวเอง คงซื้อขายพระในวงนอกทั่วๆ ไป หากได้พระแพงๆ ก็จะเอาเข้าไปขายเซียนใหญ่ในสนามพระ
อาศัยว่า กล้าซื้อพระได้ทุกประเภทด้วยสายตาตัวเอง ทำให้โกยีสามารถยืนยงคงกระพันอยู่ในวงการพระได้อย่างสง่างามจนถึงทุกวันนี้ และเป็นคนหนึ่งในการร่วมก่อตั้ง สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย โดยได้รับตำแหน่งประธานกรรมบริหารภาคเหนือตอนล่าง ระยะหนึ่ง ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของสมาคม
แม้ธุรกิจการซื้อขายพระจะสามารถทำรายได้ดี แต่โกยีไม่ได้ยึดเป็นอาชีพหลัก จะถือว่าเป็นอาชีพรองก็คงได้ ส่วนอาชีพหลักคือ การสั่งสินค้าจากเมืองนอกมาขายในเมืองไทย และร้านขายยา สุโขทัยเภสัช ในห้างเทสโก้โลตัส สาขาวังหิน
ในการสะสมพระ โกยีให้คำแนะนำว่า "ควรจะเริ่มจากพระราคาถูกๆ ก่อน เช่น หากสนใจพระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก ซึ่งมีราคาเป็นหมื่นเป็นแสน ควรศึกษาพระเนื้อดินที่มีราคาไม่แพงนักก่อน เช่น พระหลวงพ่อโต กรุวัดบางกระทิง ศึกษาดูความเก่าของเนื้อพระ มวลสาร พิมพ์ทรง และศิลปะขององค์พระ เมื่อชำนาญแล้วจึงค่อยเขยิบขึ้นไปหาพระราคาสูงกว่านั้น หรือถ้าสนใจพระเนื้อชิน เช่น พระหูยาน พระพุทธชินราชใบเสมา พระมเหศวร ฯลฯ ก็ควรจะศึกษาเบื้องต้นจาก พระเนื้อชินกรุ วัดราชบูรณะ อยุธยา ให้ได้เสียก่อน"
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้จัดตั้ง ชมรมพระบูชาพระเครื่อง จ.ตาก และได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานชมรม โกยีจึงขอรับหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องพระเครื่อง รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจในการสะสมพระเครื่องทั่วไปด้วยความยินดี ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร.๐๘-๑๘๓๘-๑๕๘๑
0 ตาล ตันหยง 0