
กฐินข้ามภพชาติ จอง...พ.ศ.๒๕๕๓ ทอด พ.ศ.๒๙๕๖
พิธีทอดกฐิน จัดเป็นกาลทาน แปลว่า "ถวายตามกาลสมัย" ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นประธานทำบุญกฐิน ต้องทำการจองกฐิน ซึ่งนิยมจองก่อนเข้าพรรษา หรือหลังจากเข้าพรรษาแล้วไม่นาน ที่จองกันข้ามปีก็มี แต่ถ้าไม่มีการจองเลย จนออกพรรษาเรียกว่า กฐินตกค้าง
การจองกฐินล่วงหน้า ที่ขึ้นชื่อว่ายาวนานที่สุด ต้องยกให้การจองเป็นประธานเอกทอดกฐินวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กทม. ซึ่งอาจจะเรียกว่า กฐินวัดปากน้ำต้องจองข้ามภพข้ามชาติเลยทีเดียว โดยข้อมูลล่าสุด คุณล่วงจึง แซ่อั้ง ครอบครัวเธียรวัฒนธาดา เดอ โคนิงค์ ลิขิตธีเมธ จองเพื่อเป็นประธานเอกทอดกฐิน พ.ศ. ๒๙๕๐ หรืออีก ๓๙๗ ปี และล่าสุด น.ส.พรชดา อิสสระ บุตรสาวเจ้าของตึกชาญอิสสระ ได้จองประธานเอกใน พ.ศ.๒๙๕๖ หรือ อีก ๔๐๓ ปี ข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ "พระกฐินพระราชทาน" สมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ ม.ส.จ. ซึ่งพิมพ์แจกในการถวายพระกฐินพระราชทาน วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ คณะศิษยานุศิษย์ และท่านที่เคารพนับถือพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) โดย น.ส.ชูชีพ กาญจนวัฒน์ ได้มีศรัทธาจองเป็นประธานเอกมาล่วงหน้า ๓๔ ปีแล้ว
นอกจากนี้ มีข้อมูลการจองกฐินที่น่าสนใจ คือ ผู้จองเป็นประธานเอกใน พ.ศ.๒๖๒๕ ซึ่งตรงกับปีที่กรุงเทพฯ มีอายุครบรอบ ๓๐๐ ปี คือ คุณสุรพล คูณนารถฤดี พนากิจกุล และบุตรธิดา หลานเหลน ผู้จองในปีที่กรุงเทพฯ มีอายุครบรอบ ๔๐๐ ปี หรือ พ.ศ. ๒๗๒๕ คือ คุณปรีย์ศักดิ์ เกียรติสุนทร ส่วนผู้จองในปีที่กรุงเทพฯ มีอายุครบรอบ ๕๐๐ ปี หรือ พ.ศ. ๒๘๒๕ คือ รศ.ดร.สุขุม คุณดวงพร น.ส.ณลิญา ด.ญ.พัชรา เราใจ
ผู้ที่จองอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. ๒๖๕๓ คือ คุณวิจารร์ คุณสุธา คุณสุวิทย์ คุณสุธี สฤษฎิ์ศิริ ที่จอง ๒๐๐ ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. ๒๗๕๓ คือ คุณจิ๊กป้อ แซ่ตั้ง คุณเพ็กลั้ง แซ่ซิ คุณเง็ก แซ่ตั้ง คุณจุ้นเซ็ง แซ่โง้ว ในขณะที่ผู้จองอีก ๓๐๐ ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. ๒๘๕๓ คือ คุณชัชชัยวิทย์ คุณวราภรณ์ ดวงทิพย์สกุล คุณยี่ แซ่บาง คุณเฟื่อ ดวงทิพย์
พระมหา ดร.วรัญญู วรญฺญู ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระผู้จัดทำข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้จองกฐิน บอกว่า ตั้งแต่มารับทำงานนี้ได้จัดระเบียบผู้จองใหม่ โดยไม่ให้เลือก พ.ศ.ที่มีตัวเลขอันเป็นมงคล ขณะเดียวกันก็ให้ชำระค่าเป็นเจ้าภาพผ้ากฐินจำนวน ๒.๒ หมื่นบาท โดยทางวัดได้เปิดบัญชีเพื่อฝากเงินสำหรับผู้จองกฐินไว้ล่วงหน้า ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาตลาดพลู เลขที่บัญชี ๑๑๕-๒-๔๓๔๒๐-๓ เป็นเงินฝากประจำ โดยระบุวัตถุประสงค์การฝากไว้ว่า "เพื่อเป็นเจ้าภาพถวายผ้ากฐินให้วัดปากน้ำภาษีเจริญ พ.ศ...." เมื่อตรงกับ พ.ศ.ใด ที่ใครเป็นเจ้าภาพก็จะเบิกเงินของเจ้าภาพท่านนั้นๆ ออกมาใช้ซื้อเครื่องกฐิน ๒,๐๐๐ บาท ส่วนอีก ๒ หมื่นบาท ไปใช้ในกิจของวัดด้านอื่นๆ
สำหรับการจองเป็นประธานเอกนั้น มีผู้จองล่วงหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ เป็นต้นมา โดยในแต่ละปีจะมีผู้มาเข้าคิวจองประมาณ ๕-๑๐ ราย ทั้งนี้ ทางวัดมีแบบฟอร์มให้กรอกรายละเอียดการจองกฐินอย่างชัดเจน ซึ่งผู้จองรายที่อยู่ในลำดับที่ ๑๐-๑๕ หรือตรงกับ พ.ศ. ๒๕๖๓- พ.ศ.๒๕๖๘ ขึ้นไป น่าจะไม่มีโอกาสได้ถวายผ้ากฐิน เพราะเสียชีวิตหมดแล้ว ด้วยเหตุผลนี้ ผู้จองจึงได้เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารกรุงเทพ สาขาตลาดพลู จากนั้นก็ฝากไว้กับเจ้าอาวาส หากเจ้าอาวาสไม่มีชีวิตอยู่ เจ้าอาวาสรูปถัดไปเป็นผู้ถือสมุดบัญชี และเมื่อถึงเวลาก็จะถอนเงินออกมา
"๑.เป็นผู้ถือไตรกฐินพระราชทาน ๒.ศรัทธาในวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อสด ๓.ประสบความสำเร็จจากการบนบานศาลกล่าว และ ๔.จ่ายเงินเพียง ๒.๒ หมื่นบาท ก็เป็นประธานเอกได้แล้ว ทั้งนี้อาตมาได้จองเป็นเจ้าภาพไว้อีก ๒๒๒ ปี ข้างหน้า และได้ฝากเงินไว้แล้ว ๓๓,๓๓๓ บาท" นี่คือเหตุผลการของกฐินข้ามภพข้ามชาติ จากมุมมองของ พระมหา ดร.วรัญญู
พร้อมกันนี้ พระมหา ดร.วรัญญู ยังบอกด้วยว่า เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อบุตรหลานและคนรุ่นหลัง ประธานเอกทั้งหมดจะเปิดสมุดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารกรุงเทพ เมื่อถึงปีที่จองเป็นประธานเอกไว้ ในกรณีที่ประธานเอกเสียชีวิตลง ทางวัดจะไม่มีการเลื่อนคนจองในลำดับถัดไปขึ้นมาเป็นประธาน โดยในปีหน้าทางวัดจะทำข้อมูลว่า ผู้ที่จองไว้มีใครยังอยู่หรือตายไปแล้วบ้าง ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า ๔๐ ปี ที่ผ่านมา ยังไม่มีผู้จองรายใดสละสิทธิ์ แต่ก็ยังมิวายมีผู้อยากเป็นเจ้าภาพเร็วได้ไปหาข้อมูลว่า ถ้าผู้จองท่านใดตายก็ไปติดต่อกับญาติเพื่อขอเสียบเป็นเจ้าภาพแทน เช่น เมื่อ ๒ ปี ก่อน อ.วรณี สุนทรเวช ผู้จองเป็นประธานเอกตาย ได้มีคนไปขอเป็นเจ้าภาพแทน แต่ทนายซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกไม่ยอมให้ เพราะก่อนที่ อ.วรณี ถึงแก่กรรม ได้สั่งไว้ว่า "อย่าให้ใครมารับเป็นเจ้าภาพประธานเอกแทนฉันเด็ดขาด"
นอกจากประเด็นการจองกฐินที่ยาวนานแล้ว ดอกผลของเงินฝากก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพ สาขาตลาดพลู เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ธนาคารได้เปิดบัญชีเงินฝากของผู้จองกฐินวัดปากน้ำ หลายสิบราย โดยเปิดบัญชีเงินฝากประจำ ๓ ปี ซึ่งปัจจุบันนี้ธนาคารได้ให้ดอกเบี้ย ๒.๕ (นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร) แม้จะรู้ว่า อายุการฝากของแต่ละบัญชีไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี ก็ตาม เพราะการคิดอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในกรอบ ๓ เดือน ๖ เดือน และ ๑ ปีเท่านั้น ไม่ได้คิดตามอายุที่ฝาก
ดังนั้น หากฝากเงิน ๒.๒ หมื่นบาท โดยเปิดบัญชีประเภทเงินฝากประจำ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓ โดยไม่มีการไถ่ถอนเลย แล้วไปถอนใช้ใน พ.ศ.๒๙๕๖ หรือ อีก ๔๐๓ ข้างน้า โดยมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ หากคำนวณเฉพาะดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น จะได้เงินในส่วนเฉพาะดอกเบี้ยประมาณ ๒ แสนบาท เมื่อรวมกับเงินต้นจะได้เงิน ๒.๒๒ แสนบาท แต่ในทางปฏิบัติ ธนาคารต้องคำนวณดอกเบี้ยทบต้นในแต่ละปี รวมเข้าไปด้วย ซึ่งจำนวนเงินสุทธิน่าจะสูงกว่าอีกหลายเท่าตัว
มหากฐินร้อยล้านหลวงปู่เณรคำ
"๑๐๐ ล้านบาท" เป็นยอดเงินทำบุญโดยประมาณของการทอดกฐินทอดถวาย ณ วัดป่าขันติธรรม ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีพระอาจารย์วิรพล ฉัตติโก หรือหลวงปู่เณรคำ เป็นประธานสงฆ์ ซึ่งได้ทอดไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ โดยแรงศรัทธาญาติโยมลูกศิษย์ลูกหาจากทั่วประเทศ รวมทั้งจากต่างประเทศ ต้นเงินกฐินสูง ๙ เมตร จำนวน ๓๖ ต้น
โดยในปีนี้ ดร.สุนันทา ลีเลิศพันธ์ ประธาน บริษัท ดอกบัวคู่ จำกัด และคณะได้เป็นเจ้าภาพ โดยได้ปวารณาเป็นเจ้าภาพนำคณะพุทธศาสนิกชนทอดมหากฐินต่อไปอีก ๓ ปี เพื่อให้พระแก้วมรกตจำลององค์ใหญ่ที่สุดในโลกสำเร็จลุล่วงต่อไป
ที่สำคัญ คือ ณ วันนี้ เงินสมทบทุนกฐินยังไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องสุทธิแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า ๑๒๐ ล้านบาท นอกจากนี้แล้ว หลังวันทอดกฐินกรรมการวัดใช้เวลานับเงินกฐินเกือบ ๑ อาทิตย์เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กฐินวัดป่าขันติธรรมก็สร้างความฮือฮา คือ งานบุญทอดกฐิน ปลายปี ๒๕๕๑ ได้เงิน ๒๗ ล้าน ส่วนกฐินวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ ต้นกฐินจากแรงศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหา เพิ่มเป็น ๒๗ ต้น ได้เงินกว่า ๕๗ ล้านบาท ทองคำ ๑๑ กก. นอกจากนี้ เครื่องกฐินของวัดนี้เป็นที่ฮือฮาสุดๆ คือ มีการนำเอารถเบนซ์ ป้ายแดง ใหม่เอี่ยม หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ๑๑๑๑ กรุงเทพมหานคร มาร่วมในองค์บริวารกฐินด้วย
0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0