พระเครื่อง

"กะพ้อ" อำเภอนี้ไม่มีวัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วัดที่มีพระสงฆ์ทั่วประเทศ ๓๓,๙๐๒ วัด แบ่งเป็น มหานิกาย ๓๑,๘๙๐ วัด ธรรมยุต ๑,๙๘๗ วัด จีนนิกาย ๑๒ วัด และอนัมนิกาย (ญวน) ๑๓ วัด นอกจากนี้แล้วยังมีวัดร้างมากถึง ๖,๘๑๕ วัด" นี่เป็นข้อมูลวัดจากการสำรวจของกองพุทธศาสนสถาน, สำนักงานศาสนสมบัติ (วัดร้าง) เมื่อวัน

    จำนวนวัดที่มีมากถึง ๓๓,๙๐๒ วัด พุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยอาจจะเข้าใจว่าในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ ๙๙๘ อำเภอ อย่างน้อยทุกอำเภอต้องมีวัดตั้งอยู่อย่างน้อย ๑-๒ วัด แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ไม่มีวัดเลยสักแห่งเดียว มีเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ ที่มีชื่อว่า “สำนักสงฆ์กะพ้อ” ซึ่งเป็นศูนย์กลางวิถีธรรมกลางไฟใต้ชโลมทุกข์ในใจให้ชาวไทยพุทธกว่า ๘๐ ชีวิตยืนยันที่จะอยู่ในพื้นที่ต่อไป

 “ที่นี่ยังไม่มีวัด มีเพียงสำนักสงฆ์เพียงแห่งเดียวที่เป็นศูนย์กลางรวมใจของชาวพุทธกว่า ๘๐ ชีวิตจากจำนวนประชากรของพื้นที่ทั้งหมด ๑๖,๐๐๐ คน ดังนั้นความมุ่งหวังของผมคืออยากเห็น อ.กะพ้อมีวัดประจำอำเภอให้ได้ เพื่อให้ประชาชน หน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ได้ใช้ประกอบศาสนกิจอย่างเป็นกิจลักษณะ อีกทั้งเพื่อเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน และเป็นขวัญกำลังใจที่จะอยู่ในพื้นที่ต่อไป” คำกล่าวที่มุ่งมั่นของ นายจรัล จันทรปาน นายอำเภอกะพ้อ จ.ปัตตานี    

 อย่างไรก็ตามเมื่อพินิจสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะนี้ดูเหมือนจะปรากฏอุณหภูมิที่สูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ลอบทำร้ายเกษตรกร ชาวบ้าน รวมถึงวางระเบิดในสวนยางพารา จนส่งผลให้เจ้าของพื้นที่บางแห่งไม่กล้าออกไปเก็บเกี่ยวผลอาสินได้ตามปกติ ในขณะที่บางส่วนก็ตกอยู่ในอาการขวัญผวาแล้วยังโยกย้ายออกนอกพื้นที่ให้เห็นบ้างแล้วในเวลานี้ ดังนั้นสำหรับชาวพุทธแห่งกะพ้อที่เผชิญสถานการณ์ดังกล่าวจึงหันหน้าเข้า “สำนักสงฆ์” เพื่อระงับอาการขวัญและกำลังใจระส่ำระส่าย อันเป็นผลมาจากการกระทำของกลุ่มแนวร่วม

 ในฐานะนายอำเภอกะพ้อ จ.ปัตตานี ย่อมรู้ดีว่านอกจากการนำกำลังฝ่ายปกครองผนึกความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เพื่อดูแลความปลอดภัยของชาวบ้านนาทีนี้คงไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจงัดมาตรการสร้าง ”ศูนย์รวมจิตใจ” ให้แก่พี่น้องไทยพุทธได้สามารถมีที่พึ่งพิงทางกาย และที่พึ่งพาทางใจด้วยการอยู่ใกล้พระพุทธศาสนาเพื่อตั้งสติและสยบความหวาดผวา ด้วยการปูพรมทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องในเวลานี้

 “ปัญหาระเบิดสวนยางชาวบ้านที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.กะพ้อ สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในเวลานี้คือสภาพจิตใจของชาวบ้านโดยเฉพาะไทยพุทธในพื้นที่ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๘๐ คนเท่านั้น ดังนั้นผมจึงพยายามนำชาวบ้านเข้าใกล้พระพุทธศาสนาเพื่อให้เขาได้สติ และยืนหยัดใช้ชีวิตต่อไปโดยฝ่ายบ้านเมืองได้ระดมกำลังดูแลความปลอดภัยเต็มที่” นายจรัลระบุ

 พร้อมกันนี้ นายอำเภอกะพ้อ ยังยืนยันว่า “ไทยพุทธกับมุสลิมในพื้นที่แห่งนี้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนานและจะเป็นไปเฉกเช่นนั้น แต่การก่อความไม่สงบของผู้ไม่หวังดีพยายามตอกลิ่มเพิ่มรอยร้าวทางความรู้สึกในหมู่พี่น้องประชาชน ดังนั้นเราต้องดูแลสมดุลในสังคมแห่งนี้ด้วยการให้ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างปกติให้ได้”

 ส่วนการก่อเหตุของกลุ่มแนวร่วมนั้นนายจรัล บอกว่า ทุกเหตุการณ์มีความพยายามที่จะมุ่งเน้นการนำประเด็นเรื่องของศานาเข้ามาแบ่งฝ่ายสร้างความขัดแย้งให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะการลอบทำร้ายชาวบ้านโดยการใช้ระเบิดฝังไว้ใต้โคนต้นยางซึ่งสะท้อนถึงวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการทำร้ายเชิงบุคคล และที่สำคัญบุคคลที่เป็นเป้าคือพี่น้องไทยพุทธ แต่ด้วยความโชคร้ายในวันเกิดเหตุมีพี่น้องมุสลิมที่เพิ่งมารับจ้างกรีดยางได้เพียง ๓ วัน ถูกทำร้ายไปด้วย

 ภารกิจดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญอย่างเท่าๆ กันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยจำนวนประชกรที่นับถือศาสนาในท้องถิ่นแห่งนี้เหลือเพียงแค่ “หยิบมือ”จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความเชื่อมั่นและพิทักษ์ชีวิตดุจ “ไข่ในหิน” เพราะหากพุทธบริษัท 80 ชีวิตตกอยู่ภาวะขาดความปลอดภัยแล้ว อาจจะไม่หลงเหลือภาพความรักใคร่สมัครสมานระหว่างชน 2 ศาสนิกเหมือนที่เคยปรากฏและเป็นมาตั้งแต่ในอดีต

 “แรงจูงใจสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชาวพุทธยังปักหลักอยู่ได้ในพื้นที่นั่นคือการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นสำนักสงฆ์กะพ้อจึงเป็นดั่งหมุดที่ปักยึดและร้อยดวงใจของพุทธบริษัทราว ๘๐ ชีวิต ในพื้นที่แห่งนี้ให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับพี่น้องมุสลิมได้อย่างปกติต่อไป ผมและชาวบ้านในพื้นที่มุ่งหวังจะเห็นสำนักสงฆ์แห่งนี้ได้รับการยกระดับให้เป็นวัดประจำอำเภอในภายภาคหน้า จึงร่วมแรงร่วมใจกันส่งเสริมพระพุทธศาสนาทุกๆ ด้านอย่างสุดกำลังเพื่อทุกคนได้มีศูนย์ยึดเหนี่ยวทางใจอย่างสมภาคภูมิ” นายอำเภอกะพ้อ กล่าวทิ้งท้าย

รู้จักอำเภอกะพ้อ
 "อ.กะพ้อ" เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ อ.สายบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศแยกเป็นกิ่งอำเภอ ชื่อ “กิ่งอำเภอกะพ้อ” ต่อมาได้ยกฐานะเป็น อ.กะพ้อ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ห่างจากตัว จ.ปัตตานี ประมาณ ๖๘ กิโลเมตร ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่นทำสวนยาง ทำนาและสวนผลไม้ ส่วนคำว่า “กะพ้อ” เป็นชื่อปาล์มชนิดหนึ่งที่พบในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

 ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีวัดจำนวน ๒๖๖ วัด อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี นับเป็นอำเภอเดียวที่ยังไม่มีวัด มีเพียงสำนักสงฆ์กะพ้อเพียงแห่งเดียว โดยช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่ผ่านมาได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์จากจังหวัดภาคอีสาน และพระจากวัดไม้แก่น อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี มาจำพรรษาจำนวน 2 รูป โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ประกอบพิธีทางศาสนาเฉกเช่นปกติทุกอย่างตั้งแต่วันพระ งานบุญเทศกาลเดือนสิบ รวมถึงเทศกาลตักบาตรเทโวในวันออกพรรษษที่ผ่านมา“

 สำหรับแนวทางที่นายอำเภอกะพ้อใช้นั่น คือการผลักดันให้ “สำนักสงฆ์กะพ้อ” เป็นศูนย์กลางของชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ กิจกรรมหนึ่งที่นายอำเภอหนุ่มคนนี้ได้วางแนวทางให้เจ้าหน้าที่ซึ่งนับถือศาสนาพุทธได้ร่วมกันนำภัตตาหารคาวหวานใส่ปิ่นโตเพื่อหิ้วไปถวายพระภิกษุร่วมกันที่วัดในทุกวันพระ ด้วยจุดประสงค์ต้องการเห็นภาพพุทธบริษัทร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และสืบสานให้ศาสนาพุทธยังปรากฏอยู่ในพื้นที่สืบไป

 "แรงจูงใจสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชาวพุทธยังปักหลักอยู่ได้ในพื้นที่นั่นคือการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นสำนักสงฆ์กะพ้อจึงเป็นดั่งหมุดที่ปักยึดและร้อยดวงใจของพุทธบริษัทราว ๘๐ ชีวิต"

เรื่อง... "สุพิชฌาย์ รัตนะ"
ภาพ... "จรูญ ทองนวล"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ