พระเครื่อง

พึ่งตนพึ่งธรรม - พระป่าปลูกป่า

พึ่งตนพึ่งธรรม - พระป่าปลูกป่า

06 พ.ย. 2553

พระป่าส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน นิยมบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติธรรมมากกว่าการสร้างวัตถุสถานใหญ่โต เช่น ในภาคกลางหรือภาคเหนือ จากพุทธประวัติการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าในพุทธกาล พระองค์ทรงสละราชสมบัติธุดงควัตรในป่านานกว่า ๖ ปี จึงบรรลุธรรมใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ใ

  พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานดับขันธ์ในป่าเมืองกุสินารา ดังนั้นเมื่อพิจารณาพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทรงเป็นพระดำรงชีวิตในป่า ทรงประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะในป่าลุมพินี ประสูติทางธรรมเป็นพระพุทธเจ้าในป่าเมืองพุทธคยาและเสด็จดับขันธ์ในป่าเมืองกุสินารา

 เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน พระอาจารย์กรรมฐานหลายรูปในประเทศไทยก็ใช้ชีวิตในป่า ซึ่งยังอุดมสมบูรณ์ แต่หลังจากป่าไม้เปลี่ยนเป็นพืชเศรษฐกิจ การทำลายป่าเกิดขึ้นในทุกหย่อมหญ้า ป่าภาคอีสานกลายเป็นที่โล่งเตียนแห้งแล้งทุรกันดาร มีการอพยพของผู้คนเข้าไปอาศัยในดินแดนที่ยังอุดมสมบูรณ์ จึงพบกลุ่มคนอีสานกระจายทั่วประเทศไทย

 ส่วนชีวิตพระป่าซึ่งเคยอาศัยป่าเป็นสถานปฏิบัติกรรมฐาน ต้องเปลี่ยนเป็นการปลูกป่าทดแทน เมื่อเห็นธงสีเหลืองปักบนเขาสูง ก็เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นพื้นที่ที่พระกำลังดูแลอนุรักษ์ป่า ไม่ใช่การบุกรุกป่าดังที่หลายท่านเข้าใจ ในตำนานคนรักป่าได้เล่าเรื่องป่าและการปลูกป่าของ หลวงพ่อบุญธรรม อุตฺตมธมฺโม ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าโพนทอง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เดิมเป็นวัดในหมู่บ้านครอบคลุม ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านหนองแก ซึ่งเคยเป็นหนองน้ำต้นสะแก และบ้านหนองโน ซึ่งเคยเป็นหนองน้ำของต้นดอกโสน

 ทั้ง ๒ หนองได้ถูกถมกลายเป็นที่พักอาศัยไปเรียบร้อยแล้ว ครอบครัวของหลวงพ่อบุญธรรมอพยพหนีความแห้งแล้งจาก อ.เมือง จ.ขอนแก่น มาหักล้างถางพงสร้างบ้านอยู่กลางป่าเหนือบ้านแก้งคร้อ เมื่อท่านอายุ ๔ ขวบ ท่านเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๓ เมื่ออายุ ๑๕ ปี อายุเกินวัยเล่าเรียน จึงออกบวชเป็นสามเณรและพระภิกษุเรียนจบนักธรรมเอก ท่านถูกเกณฑ์ทหาร ทั้งที่รูปร่างต่ำกว่าเกณฑ์จึงต้องประจำอยู่ฝ่ายทหารสื่อสารทำให้มีโอกาสได้เรียนวาดรูป

 เมื่อกลับมาใช้ชีวิตแบบฆราวาส ได้ทำนาและรับจ้างวาดรูปฉากหมอลำอยู่ ๖ ปี แต่ร่างกายบอบบางไม่เหมาะกับการทำงานนตรากตรำในไร่นา ท่านได้บวชเรียนครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ ได้เข้าร่วมขบวนการฟื้นฟูศาสนาที่ป่าพุทธยาน จ.เลย กับ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เป็นการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ยกมือสร้างจังหวะและเดินจงกรมให้รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจนึกคิด จนเกิดสติสัมปชัญญะและปัญญาหยั่งรู้

 หลวงพ่อบุญธรรมและ พระมหาบัวทอง พุทฺธโฆสโก เป็นศิษย์รุ่นแรกของหลวงพ่อเทียนได้ถูกกำหนดให้เป็นอาจารย์สอนปริยัติแก่พระและเณรในวัด แต่ท่านไม่ชอบสอนต้องการปฏิบัติแบบอิสระหลังจากพาพระไปสอบนักธรรมในพรรษาที่ ๒ จึงหนีขึ้นไปปฏิบัติธรรมที่ป่าหลังเขาภูโค้ง (ภูแลนคา) ท่านเข้าใจเรื่องรูป-นาม ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ และสร้างวัดป่าสุคะโตในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ท่านได้จำพรรษาอยู่ในป่าองค์เดียวนาน 3 พรรษา จึงมีความรู้เรื่องธรรมชาติของป่าไม้เป็นอย่างดี

 ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ ป่าไม้รอบบริเวณวัดถูกพนักงานป่าไม้มาตีตราสัมปทาน โดยไม่ฟังคำทัดทานของหลวงพ่อ เครื่องจักรถูกนำมาตัดต้นไม้ขนาดใหญ่หมดภายใน ๓ วัน และการลากไม้ออกจากป่าได้ทำลายต้นไม้ขนาดเล็ก จนป่าราบเป็นหน้ากลอง หลวงพ่อสุดทนต้องเดินธุดงค์เข้าป่าลึกไปอยู่ที่ภูกาหลง และเมื่อเครื่องจักรหยุดทำงาน หลวงพ่อพร้อมด้วยหลวงพ่อคำเขียน ซึ่งเป็นน้องทางธรรมศิษย์ร่วมสำนักหลวงพ่อเทียนได้กลับเข้ามาวัดป่าสุคะโตเพื่อฟื้นฟูวัด

 ในระยะดังกล่าวไม้ซุงขนาดใหญ่ยังถมกองในวัดและใช้เวลาปีกว่าจึงขนย้ายหมด เหลือแต่พื้นที่ราบโล่งให้สองหลวงพ่อดูแลต่อ เรื่องการปลูกป่าของหลวงพ่อบุญธรรม อุตฺตมธมฺโม (หลวงพ่อจ่อย) และ หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ (หลวงพ่ออ้วน) ยังอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านหนองแก ท่านจะผลัดกันขึ้นไปปลูกป่าบนภูเขาโค้ง ส่วนอีกรูปจะจำวัดในวัดบ้านของหมู่บ้าน เพื่อเป็นเสาหลักทางด้านจิตใจให้ชาวบ้าน ท่านยังได้ร่วมกันจัดงานปฏิบัติธรรมเจริญสติเป็นประจำทุกปีในช่วงสงกรานต์เป็นการสืบทอดประเพณีกรรมฐานแบบเคลื่อนไหวตามแนวทางหลวงพ่อเทียนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๔ และยังดำเนินต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 หลังจากสภาพป่าวัดป่าสุคะโตเริ่มฟื้นตัว จนกลายเป็นสถานปฏิบัติธรรมของชาวกรุงที่อยู่ห่างไกล ปัจจุบันหลวงพ่อคำเขียนเกจิอาจารย์สอนปฏิบัติธรรมแบบเคลื่อนไหวตามแนวทางหลวงพ่อเทียนเป็นผู้นำการอบรม หลวงพ่อได้มีโอกาสเดินทางไปทั่วโลกเพื่อสอนวิธีการเจริญสติ แต่ท่านก็ยังคงปลูกป่าเพิ่มเติมในวัดป่าสุคะโต

 ผู้เขียนจำได้ว่าขณะที่ท่านอาพาธที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ปี พ.ศ.๒๕๔๙ ท่านก็ยังห่วงเรื่องปลูกป่าเพิ่มในที่ซึ่งได้รับบริจาคใหม่ และเมื่อท่านหายเป็นปกติท่านก็ถือจอบไปปลูกป่า ญาติธรรมอยากให้ท่านพัก จึงเอาจอบไปซ่อน แต่ท่านก็กลับมาหาจอบอีก แอบญาติธรรมไว้ปลูกป่าต่อ

 ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ เกิดน้ำท่วมฉับพลันมีผู้เสียชีวิตในบ้านหนองแก เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยพบมานับพันปีในที่ราบสูงแห่งนี้ ฝนเทลงมาอย่างรุนแรง น้ำถูกพัดพาลงฝายน้ำล้น จนฝายแตก น้ำได้ทะลักเข้าหมู่บ้าน ก็เป็นการพิสูจน์ถึงความสำคัญของป่าซึ่งดูดซับความชื้นในพื้นดิน ทำให้พืชพรรณเจริญเติบโต และป่ายังช่วยกระจายความชื้นในอากาศ ทำให้ฝนตกตามฤดูกาลในปริมาณที่สม่ำเสมอทั้งปี

 ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ หลวงพ่อบุญธรรมได้ลงจากวัดป่าสุคะโตมาจำพรรษาที่วัดโพนทองตามคำนิมนต์ของชาวบ้านหนองแก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน เพื่อเป็นหลักทางใจให้ชาวบ้าน วัดมีพื้นที่ ๓๐ ไร่ ร้างมานานจนเปลี่ยนเป็นลานเลี้ยงวัวควายและไร่ปอ ขณะนั้นมีต้นตาล ๑ ตัน ต้นแจ้ง ๑ ต้น และต้นมะขาม ๒-๓ ต้นเหลืออยู่ หน้าดินแข็งจากการเหยียบย่ำของวัวควาย ทำให้น้ำฝนไม่สามารถซึมผ่านได้ จึงไม่มีต้นไม้ปกคลุมดิน

 การปลูกป่าใหม่ของหลวงพ่อก็เริ่มขึ้น หลวงพ่อแก้ไขหน้าดินแข็ง โดยปลูกหญ้าขจรจบให้รากหญ้าชอนไชลงใต้ดิน เพื่อให้น้ำซึมผ่านได้ลึกขึ้น ท่านปลูกต้นไม้โตเร็ว คือ ต้นยูคา กระถินและแค เพื่อเป็นร่มเงาแก่ไม้หลัก ซึ่งเป็นกล้าไม้ชนิดที่เคยเจริญเติบโตในบริเวณดังกล่าว โดยท่านไปหากล้าไม้ที่ยังเหลือตามไร่นาของชาวบ้านก่อนที่ชาวนาจะไถกลบ และนำมาเพาะชำในวัด เมื่อกล้าไม้แข็งแรงจึงปลูกในแปลงโดยปลูก ๔ ต้น ในที่เดียวกัน และเลือกไม้ที่แข็งแรงไว้ ๑ ต้น ส่วนการชลประทานท่านขุดร่องน้ำกว้าง ๐.๕ เมตร ยาว ๔ เมตร เป็นระยะๆ มีการเชื่อมต่อของร่องน้ำ โดยฝังท่อไล่ระดับความสูง เมื่อสูบน้ำลงร่องแรก น้ำก็จะกระจายไปเต็มร่องน้ำอื่นได้

 ในปัจจุบันป่าไม้ได้เจริญเต็มที่เป็นป่าที่สมบูรณ์มีต้นตะโกเป็นหลัก ความหนาทึบของใบไม้ทำให้แดดส่องไม่ถึง จึงไม่มีหญ้าปกคลุมพื้นดิน ใบไม้ที่หล่นทับถมท่านก็ปล่อยให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยสำหรับผักป่าและเห็ดป่า น้ำที่สมบูรณ์ในหนองน้ำหลังวัดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา ซึ่งจะเคลื่อนย้ายกระจายไปแหล่งน้ำอื่นในฤดูน้ำหลาก หลวงพ่อได้นำสมุนไพรหลายชนิดปลูกแซมไม้หลัก และถ้าเป็นไม้เลื้อยก็จะพันต้นไม้กลายเป็นไม้เถาสวยงาม ในช่วงปฏิบัติธรรมที่ว่างระหว่างแถวต้นไม้ก็เป็นทางจงกรมซึ่งร่มเย็น

 หลวงพ่อบุญธรรมชอบความวิเวก แต่ก็เดินสายช่วยอบรมกรรมฐานและเมื่อมีพรรณไม้แปลกๆ ท่านก็นำกลับมาปลูกทดลองในป่าของวัดป่าโพนทอง วัดกลายเป็นสถานีทดลองเรียนรู้ธรรมชาติ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมเมื่อวันเข้าพรรษาปี ๒๕๕๓ หลวงพ่อได้อธิบายเรื่องต้นไม้ซึ่งมีหลากหลายได้อย่างแยบคาย ตั้งแต่การปลูก การบำรุงรักษาและประโยชน์ของแต่ละส่วนของต้นไม้

 ความรู้ของท่านคงเขียนเป็นตำราเล่มใหญ่ได้ โดยเฉพาะความรู้ด้านสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งเป็นเหตุที่พาผู้เขียนมาวัดป่าโพนทอง เนื่องจาก พระอาจารย์สุริยา มหาปัญโญ พระอาจารย์กรรมฐานของผู้เขียน ได้แนะนำให้มาศึกษาเรื่องสมุนไพรแก้พิษงูกับหลวงพ่อบุญธรรม เมื่อได้สัมผัสหลวงพ่อและบรรยากาศป่าของวัด จึงตัดสินใจปฏิบัติธรรมเข้มนาน ๑๕ วันต่อ ความสงบร่มเย็นของป่าช่วยให้อารมณ์กรรมฐานของผู้เขียนก้าวหน้ามากขึ้น

 วัดเป็นป่าในหมู่บ้าน มีศาลาธรรม 2 ชั้น ด้านล่างสำหรับกิจฆราวาสส่วนชั้นบนเป็นโบสถ์ของสงฆ์ กุฏิหลวงพ่อสร้างบนฐานสูง ๒ เมตร เป็นที่รองรับน้ำฝน ส่วนกุฏิอื่น ๕-๖ แห่งกระจายในป่า มีหนองน้ำ ๒ หนองขนาดใหญ่ด้านหลังวัด ในระหว่างผู้เขียนเดินจงกรมในกุฏิ ก็จะเห็นชาวบ้านเดินไปนา ไปไร่ ไปสวน จึงเข้าใจเรื่องนาบุญในบทสวดมนต์ ชาวบ้านเดินไปทำนาข้าว แต่ผู้เขียนเดินจงกรมเพื่อทำนาบุญ

 และก่อนกลับหลวงพ่อได้พาไปขุดต้นไม้เพื่อจะนำมาทำยาสมุนไพรแก้พิษงู ท่านสาธิตวิธีฝนยาสมุนไพรและวิธีสักผิวด้วยยาสมุนไพรเข้าใต้ผิวหนังในตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย เพื่อบรรลุจุดประสงค์เดิมที่พาผู้เขียนมาวัด ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ แก้ไข ผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งอาจถูกงูกัดเมื่อธุดงค์ในป่า

 การปลูกป่าของหลวงพ่อเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านมีความรักธรรมชาติอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลวงพ่อยังสอดใส่พุทธธรรมให้แก่ชาวบ้านให้งดอบายมุข จนกลายเป็นหมู่บ้านตัวอย่างชนะเลิศระดับจังหวัด ปัจจุบันหลวงพ่อยังคงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบ้านหนองแก หลวงพ่อจะเทศน์ผ่านทางหอกระจายข่าว ซึ่งตั้งอยู่ในวัดประมาณตีสี่ บางครั้งท่านก็เล่าเรื่องที่ท่านไปพบเห็นและให้ข้อคิดทางธรรมแก่ชาวบ้าน ท่านออกบิณฑบาตทุกเช้า และยังมีชาวบ้านนำอาหารพื้นบ้านซึ่งปรุงเองตามมาใส่บาตรถึงในวัด

 หลวงพ่อยังคงความเรียบง่ายและวางตัวเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหนองแก โดยมีป่าที่ท่านสร้างเป็นต้นแบบของธรรมะซึ่งกลมกลืนกับธรรมชาติให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

"รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน"