พระเครื่อง

เปิดโอกาส 'พระเณร' ได้เรียน 'ฟรี'
อีกทางเลือกหนึ่งของ 'ลูกชาวบ้าน'

เปิดโอกาส 'พระเณร' ได้เรียน 'ฟรี' อีกทางเลือกหนึ่งของ 'ลูกชาวบ้าน'

27 ต.ค. 2553

ประเทศชาติ จะเจริญได้ก็ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญคือ การศึกษาของคนในชาติที่ต้องมีอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการศึกษาในระดับที่สูงกว่าภาคบังคับที่รัฐบาลได้กำหนดไว้

 สำหรับสังคมคนในเมืองไม่ค่อยมีปัญหา แต่ชาวบ้านธรรมดาตามชนบทที่ห่างไกล การส่งเสียให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือในชั้นสูงๆ นับเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม

 ตรงจุดนี้ สถาบันพระสงฆ์สามารถเอื้ออำนวยให้ลูกชาวบ้านทั่วๆ ไป ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่มีความตั้งใจใฝ่การศึกษา มีโอกาสที่ได้เรียนหนังสือถึงระดับปริญญาได้ตามความปรารถนา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเยาวชนไทยผู้รักความก้าวหน้าในชีวิต

 พระกิตติสารมุนี เจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม กล่าวว่า "วัดชูจิตธรรมารามเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย เปิดสอนพระภิกษุและสามเณร ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา (ม.๑-ม.๖) จนถึงระดับปริญญาบัตร โดยทางวัดจะรับสมัครนักเรียนที่จบชั้น ป.๖ อายุไม่เกิน ๑๕ ปี ให้มาอยู่ประจำที่วัดก่อน เพื่อฝึกนิสัย และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ประมาณ ๒ เดือน ถ้าหากอยู่ได้และรักการเรียน ทางวัดจะจัดการบรรพชาเป็นสามเณรให้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ หลังจากนั้นจะให้เข้ารับการศึกษาตามหลักสูตรสำหรับพระภิกษุสามเณรโดยตรง ได้แก่การเรียนนักธรรม (ตรี โท เอก) และภาษาบาลี (เปรียญธรรม ประโยค ๑-๙) รวมทั้งการศึกษาหลักสูตรขั้นพื้นฐาน (วิชาสามัญ) ม.๑-๖ ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสามเณรทั้งหมดจะอยู่รวมกันในหอพักของวัด มีภัตตาหารให้ฉัน ๒ มื้อ เมื่อเรียนจบชั้น ม.๖ แล้ว หากจะเรียนต่อในระดับปริญญาตรีก็ได้ โดยมีมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย (มวก.) วิทยาเขตแห่งแรกของมหาวิทยาลัยมหามกุEราชวิทยาลัย (มมร.) ที่รู้จักกันในนาม "วิทยาลัยสงฆ์วังน้อย" ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดเป็นที่รองรับ ที่นี่เป็นสถาบันศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีทั้งหมด ๘ สาระการเรียน คือ ๑.วิทยาศาสตร์ ๒.สังคมศึกษาและศาสนา ๓.คณิตศาสตร์ ๔.ภาษาไทย ๕.การประกอบอาชีพ ๖.ภาษาต่างประเทศ (มีภาษาบาลีรวมอยู่ด้วย) ๗.สุขศึกษา และ ๘.ศิลปศึกษา เมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับปริญญาบัตรเหมือนกับสถาบันการศึกษาทั่วๆ ไป แต่การศึกษาของพระเณรที่นี่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ" 

 พระกิตติสารมุนี กล่าวด้วยว่า แม้ว่าส่วนใหญ่ของพระเณรนักศึกษาจะมาจากลูกชาวบ้านตามต่างจังหวัด ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ทุกวันนี้ได้มีพ่อแม่ของคนในเมืองที่พอมีฐานะ ก็นิยมส่งลูกหลานมาบวชเรียนที่นี่ ด้วยเห็นว่า การศึกษาในสภาพของพระเณรได้รับความรู้ความสามารถไม่แตกต่างไปจากการศึกษาของคนทั่วไป แต่สิ่งที่ได้รับมากกว่า คือ กฎระเบียบวินัยของพระเณร ที่ได้บ่มเพาะให้พระเณรเป็นประชากรที่มีคุณภาพดีกว่า ทั้งในด้านความประพฤติ อุปนิสัยใจคอ จริยธรรม และคุณธรรม ให้เป็นคนดีที่ทุกสังคมต่างยอมรับ และให้ความนับถือ

 พุทธศาสนิกชนที่สนใจจะส่งลูกหลานเข้าศึกษา ติดต่อได้ที่...วัดชูจิตธรรมาราม ถนนพหลโยธิน (กรุงเทพ-สระบุรี) หลักกิโลเมตรที่ ๗๓ ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ๑๓๑๗๐  

 ปัจจุบัน ที่วัดแห่งนี้ มีพระภิกษุและสามเณรนักศึกษาพักอาศัยอยู่กว่า ๗๕๐ รูป และเนื่องจากวัดตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน จึงไม่สะดวกที่จะให้พระเณรทั้ง ๗๕๐ รูปออกรับบิณฑบาตในเวลาเดียวกัน จึงได้ตั้งโรงครัวเพื่อประกอบอาหารเช้า-เพล ถวายภัตตาหารแก่พระเณร โดยทางวัดต้องเสียค่าใช้จ่ายวันละประมาณ ๓ หมื่นบาท จึงได้ตั้ง "กองทุนบุญนิธิ" ขึ้น เพื่อนำดอกผลเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในวัด

 พุทธศาสนิกชนที่มีความประสงค์ร่วมทำบุญกองทุนนี้ บริจาคได้ตามกำลังศรัทธา โดยบริจาคผ่านธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาวังน้อย บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “วัดชูจิตธรรมาราม” เลขที่บัญชี ๒๔๙-๐-๑๕๓๑๑-๗ หรือธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาวังน้อย บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “วัดชูจิตธรรมาราม” เลขที่บัญชี ๕๑๐-๒-๐๓๕๗๙-๖ แล้วแจ้งชื่อผู้บริจาคทางโทรสาร.๐-๓๕๗๔-๕๐๖๐ หรือทางจดหมาย เพื่อออกใบอนุโมทนาบัตร สอบถามโทร.๐-๓๕๗๔-๕๐๖๐, ๐๘-๑๘๑๗-๔๓๒๐ (พระกิตติสารมุนี), ๐๘-๑๕๘๔-๗๒๑๓ (พระครูสมุห์อุทัย)  

 0 แล่ม จันท์พิศาโล 0

 ***ขอเชิญเฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดชูจิตธรรมาราม วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๕.๐๐ น.