พระเครื่อง

"ชักพระโคกโพธิ์" 
บุญใหญ่วันออกพรรษา ๓ จว.ใต้

"ชักพระโคกโพธิ์" บุญใหญ่วันออกพรรษา ๓ จว.ใต้

22 ต.ค. 2553

ภาพงานในบุญเทศกาลออกพรรษาในภาคใต้ภาพที่ปรากฏจนคุ้นเคยแก่สายตาพุทธศาสนิกชนในเรื่องราวที่สะท้อนถึงเรื่องราวตามตำนานพุทธประวัติถูกถ่ายทอดผ่านประเพณี วัฒนธรรม คือ งานประเพณีชักพระ เนื่องด้วยปัญหาความไม่สงบที่ปะทุขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕

  แม้เสียงโพน เสียงกลอง ของบางพื้นที่ของดินแดนด้ามขวานในวันนี้จะไม่ดังกระหึ่มเฉกวันวาน แต่สำหรับงาน “ชักพระโคกโพธิ์” ยังคงยืนหยัด และเป็นดั่งศูนย์กลางการจัดกิจกรรมเนื่องในวันออกพรรษาของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดิมไม่เคยเปลี่ยน

  “งานชักพระโคกโพธิ์” มีจุดเด่นและจุดแข็งที่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่นๆ นั่นคือ เป็นประเพณีที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชนที่มีวิถีชีวิต ๓ วัฒนธรรม คือ ไทยพุทธ มุสลิม จีน ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นทุกปี เสมือนหนึ่งการสร้างความสนิทสนมผูกมิตร และกระชับสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

 สำหรับประวัติความเป็นมาของการจัดงานงานประเพณีชักพระอำเภอโคกโพธิ์นั้น นายนิพนธ์ อินทรสกุล นายอำเภอโคกโพธิ์ บอกว่า เป็นประเพณีที่เก่าแก่สืบทอดจากบรรพบุรุษมายาวนาน ริเริ่มในสมัยพระครูมานิตย์สมณคุณ (หลวงพ่อศรีพุฒ) อดีตเจ้าอาวสวัดมะเดื่อทอง โดยริเริ่มจัดทำ “พนมเรือพระ” โดยนำ “กระดาษสี” มาแกะลายกระหนกนำมาปิดยอดพนม และมีการ ”จัดชุมนุมเรือพระ” ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ โดยพระอธิการแดง สุนทรโร (หลวงปู่แดง) เจ้าอาวาสวัดมะเดื่อทองในขณะนั้น ทั้งนี้ได้นัดหมายให้มีการลากพนมเรือมาจอดชุมนุมสมโภชร่วมกันหนึ่งคืน โดยใช้บริเวณพลับพลาที่ประทับทอดพระเนตรสุริยุปราคาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เป็นที่ชุมนุมนัดหมาย ก่อนจะแยกย้ายกันกลับวัดในวันรุ่งขึ้น

 จากงานชุมนุมเรือพระในยุคแรก ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นงานประเพณีชักพระ จนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๙๒ มีการลากเรือพระมาชุมนุมที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์ โดยมี พระครูวิรัชโศภณ (พ่อท่านแดง) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีมหาโพธิ์ เป็นเสาหลักในการประชุมเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ใน อ.โคกโพธิ์ และมีมติย้ายจากบริเวณเดิมไปจัดในสถานที่แห่งใหม่ พร้อมทั้งจัดให้มีมหรสพท้องถิ่น เช่น หนังตะลุง และมโหราห์ จนในที่สุดงานชักพระโคกโพธิ์ถูกบรรจุอยู่ในปฏิทินการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มาจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

 ส่วนเอกลักษณ์สำคัญสำหรับรูปแบบเรือพระของพื้นที่นี้ พระครูโสภิตโพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีมหาโพธิ์ บอกว่า การใช้ไม้แกะรูปพญานาค ๒ ตัว ทำเป็นฐานเรือแทนไม้ไผ่ และมีการออกแบบเรือพระเป็นเรือยอดทรงสูง มีองค์ประกอบได้แก่ แม่เรือเป็นนาคคู่ แกะส่วนโค้งเป็นส่วนหัวนาค ส่วนตรงเป็นลำตัวตั้งพื้น ปลายหางงอนขึ้น  ลายของนาคสองตัวจะไม่เหมือนกัน อาจต่างกันที่ปาก หงอน คาง สื่อความหมายทางเพศ สภาพของพญานาค แต่บางวัดนาคทั้งสองละม้ายกันมากจนดูไม่แตกต่าง อย่างนั้นให้ถือตามตำแหน่งที่อยู่ นาคตัวผู้อยู่ข้างขวา และนาคตัวเมียอยู่ทางซ้ายของลำเรือ

 ขณะที่ตัวเรือใช้ไม้ไผ่สานลายลูกแก้วทั้งสี่ด้าน ส่วน “บุษบก” หรือ “ห้องพระ” เป็นที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป หรือที่เรียกกันว่า "พระลาก" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ประจำวัดแต่ละวัด สำหรับ ”ยอดเรือทรงฉิมพลี” ใช้กระดาษเงินกระดาษทองแกะกระหนกลายไทยปิดประดับ

พ่อท่านแดง หัวเรือใหญ่ชักพระ
 ตำนานแห่งการอนุรักษ์ประเพณีชักพระโคกโพธิ์นั้น พระครูโสภิตโพธิคุณ เล่าว่า พระครูวิรัชโศภณ หรือ พ่อท่านแดง อดีตเจ้าอาวาส ถือเป็นหัวเรือใหญ่ในการอนุรักษ์ประเพณีชักพระโคกโพธิ์ ด้วยการให้คงไว้เฉพาะการใช้กระดาษสีเท่านั้น ในการติดยอดพนมเรือยกชั้น รวมถึงการแกะกระหนกลายไทย-สอดสี ก็จะไม่มีการนำโฟม หรือวัสดุสังเคราะห์ชนิดอื่นมาประกอบเรือพระ

 การลากเรือเริ่มจากหมู่บ้านของตัวเอง ด้วยการร่วมแรงของคนภายในชุมชน โดยใช้เชือกหวายเส้นเท่าลำอ้อยคาดท้ายเรือ ขนาบผ่านตัวนาคทั้งสองออกไปทางหัวเรือข้างละเส้น คนลากเรือจับเชือกยืนเรียงแถวไปตามความยาวเชือก คนอีกจำนวนหนึ่งคอยผลักหัวเรือให้หันไปตามทาง และอีกส่วนหนึ่งแบกไม้ขนาดเล็กกว่าน่อง ยาวกว่าความกว้างเรือเล็กน้อยคนละดุ้น สำหรับวางเป็นไม้หมอนรับเรือ พอเรือเคลื่อนพ้นก็เก็บไปวางดักหน้าอีก ค่อยคืบไปทีละศอกทีละวา กระทั่งถึงจุดนัดหมาย

 อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ มีความสำคัญเป็นพิเศษกว่าทุกๆ ปี คือ เป็นครั้งแรกในรอบ ๑๔  ปี ที่บรรดาลูกศิษย์ ผู้เคารพศรัทธา จะได้ชื่นชมอมตะสังขารของพระภิกษุรูปสำคัญท่านหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับแต่มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ เพราะทางวัดได้ทำพิธีเปิดหีบไม้ที่บรรจุร่างพ่อท่านแดง ของเก่าที่ทำด้วยไม้แบบเดิม มาเป็นหีบแก้วเพื่อบรรจุสังขารพ่อท่านแดง ด้วยเป้าประสงค์ให้ผู้ที่เดินทางมายังวัดแห่งนี้ได้มีโอกาสเห็นและชื่นชมอมตะสังขารของพระบริสุทธิสงฆ์ผู้ได้ชื่อว่าเป็นทั้ง “พระนักพัฒนา” และ ”พระผู้ให้” อย่างใกล้ชิดที่สุด

 ออกพรรษาปีนี้ ชาวพุทธใน อ.โคกโพธิ์ และพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากจะได้ร่วมสืบสานมรดกประเพณีอันสำคัญทางศาสนาแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่ได้ชื่นชมสังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของพ่อท่านแดง สอบถามเส้ทางไปวัดได้ที่โทร.๐๘-๙๘๗๖-๐๒๓๖, ๐๘-๙๖๕๕-๔๗๙๗ และ ๐-๗๓๔๓-๑๓๗๕

เรื่อง - ภาพ... " สุพิชฌาย์ รัตนะ สำนักข่าวเนชั่น"