พระเครื่อง

“เครื่องราง” ศาสตร์และศิลป์         
จากภูมิปัญญาของเกจิอาจารย์ไทย

“เครื่องราง” ศาสตร์และศิลป์ จากภูมิปัญญาของเกจิอาจารย์ไทย

01 เม.ย. 2552

คำว่า "เครื่องรางของขลัง" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายไว้อย่างสั้นๆ ว่า

เครื่องราง น. ของที่นับถือว่าป้องกันอันตราย ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ เหล็กไหล

 ของขลัง น. ของที่มีอํานาจศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อกันว่าอาจบันดาลให้สําเร็จได้ดังประสงค์  
  กล่าวสำหรับ เครื่องราง เป็นสิ่งที่มีมาตั้งสมัยโบราณกาลนับพันปีมาแล้ว และไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทยเท่านั้น ชนชาติอื่นๆ ก็มีเครื่องรางใช้กันมานานแล้ว โดยเชื่อกันว่าของสิ่งนี้จะสามารถปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่างๆ ให้ได้ รวมทั้งในเรื่องของโชคลาภ ความโชคดีทั้งหลายทั้งปวง

 เครื่องราง จึงนับเป็นเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่มีอยู่คู่กับมนุษย์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงทุกวันนี้  ซึ่งเป็นยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากแล้วก็ตาม

 สำหรับความเชื่อในเรื่อง เครื่องราง ของคนไทย ก็มีมาแต่ครั้งโบราณเช่นกัน ดังจะเห็นได้ในวรรณกรรมที่มีการกล่าวถึงอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะ เครื่องราง ที่นักรบใช้ติดตัวในยามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้ห้าวหาญไม่เกรงคลัวข้าศึก โดยเชื่อกันว่า เครื่องราง ที่สร้างขึ้นด้วยวิชาไสยศาสตร์ชั้นสูง โดยพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมอันเข้มขลัง จะสามารถช่วยคุ้มครองป้องกันภัยรอบตัวได้เป็นอย่างดี 

 เครื่องราง จึงนับเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของพระเกจิอาจารย์คนไทย หรือฆราวาสผู้มีวิชาอาคมขลัง สมัยเก่าก่อน ที่มีการสืบสานวิทยายุทธ์มาจนถึงทุกวันนี้ และส่วนใหญ่จะเป็นฝีมือการจัดสร้างขึ้นมาทีละชิ้น ไม่ซ้ำรูปแบบกัน เพราะไม่ได้ใช้แม่พิมพ์ตายตัวแต่อย่างใด

 เครื่องราง อันโด่งดังที่คนไทยรู้จักกันมาช้านานแล้ว ก็คือ ตะกรุด ที่สร้างจากวัสดุต่างๆ เบี้ยแก้ ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด เสื้อยันต์ ลูกอม เขี้ยวเสือกลวง ไม้ครู มีดหมอ รักยม กุมารทอง ฤาษี ชูชก หุ่นพยนต์ ปลัดขิก น้ำเต้า กะลาตาเดียว ราหูอมจันทร์ หมากทุย เชือกคาดเอว เชือกคาดแขน แหวนพิรอด นางกวัก พ่อเฒ่า พ่อแก่ (ฤๅษี) ท้าวเวสสุวรรณ ฯลฯ รวมทั้งเครื่องรางที่แกะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น หนุมาน ลิง องคต เสือ สิงห์ ราชสีห์ คชสีห์ ช้าง แพะ จิ้งจก ตุ๊กแก เต่า ปลาตะเพียน วัวธนู ควายธนู จระเข้ งู ฯลฯ

 เครื่องราง ของโบราณาจารย์ไทย ไม่ว่าจะเป็นพระเกจิอาจารย์ หรือเกจิอาจารย์ฆราวาส ผู้มีวิชาอาคมขลัง มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญชำนาญการในเรื่องไสยศาสตร์เป็นอย่างดี ได้จัดสร้างขึ้นนี้ มีความหลากหลายเหลือเกิน แต่ละชิ้นงานล้วนเป็นการสร้างขึ้นด้วยฝีมือชั้นบรมครูอันล้ำเลิศ ทีละชิ้น โดยไม่ซ้ำกัน นับเป็นงานแฮนด์เมดที่เป็นภูมิปัญญาไทยอย่างแท้จริง

 แม้วิทยาการทางเทคโนโลยีในสมัยนี้จะมีความก้าวหน้าไปมากแล้ว ความเชื่อในเรื่องของ เครื่องราง อันเก่าแก่อาจจะลดน้อยลงไปในความรู้สึกเชื่อถือและศรัทธาของคนรุ่นใหม่ก็ตาม แต่ เครื่องราง ก็ยังเป็นที่ศรัทธาสนใจของผู้คนอีกไม่น้อย โดยเฉพาะนักนิยมสะสมพระเครื่องทั้งหลาย โดยเห็นว่า  เครื่องราง เป็นส่วนหนึ่งของงานสะสมที่น่าสนใจไม่น้อย แม้จะไม่เชื่อในเรื่องของอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ ความเข้มขลัง ก็ตาม แต่ เครื่องราง ก็ยังนับเป็นโบราณวัตถุอย่างหนึ่งที่เต็มไปด้วย ศาสตร์ และ ศิลป์ อันทรงคุณค่ายิ่ง ที่จะไม่มีโอกาสพบเห็นจากชนชาติอื่นใด

 เครื่องราง เหล่านี้จึงเป็นผลงานรังสรรค์ ที่เกิดมาจากภูมิปัญญาของคนไทยแต่ครั้งโบราณกาล  สมควรที่คนรุ่นหลังควรจะได้อนุรักษ์เอาไว้ ด้วยความหวงแหน และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

 ในแวดวงพระเครื่องเมืองไทย “เครื่องราง” จึงนับเป็นวัตถุมงคลอีกประเภทหนึ่ง ที่มีผู้ให้ความศรัทธาสนใจสะสมกันมานานปี โดยเฉพาะของพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่า หรือเกจิอาจารย์ฆราวาส ที่มีอายุการสร้างกว่า ๕๐ ปีขึ้นไป จนมีผู้รวบรวมเรื่องราวและภาพจัดพิมพ์เป็นหนังสือรวมเล่มขึ้นมาแล้ว หลายเล่มด้วยกัน ซึ่งล้วนได้รับความสนใจซื้อหาจากนักสะสมเครื่องรางมาแล้วอย่างกว้างขวาง

 อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้จะมีหนังสือ “เครื่องรางยอดนิยม” ออกมาอีกเล่มหนึ่ง เป็นการจัดทำโดย ศุภชัย เรืองสรรงามสิริ หรือ ตี๋เหล้า ท่าพระจันทร์ ประธานชมรมพระเครื่องท่าพระจันทร์ ผู้ชำนาญการด้านพระเครื่อง และเครื่องรางของขลัง ชื่อดังคนหนึ่งของวงการพระเครื่องเมืองไทย ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมานานกว่า ๓๐ ปี

 ตี๋เหล้า กล่าวว่า “หนังสือ ‘เครื่องรางยอดนิยม’ เล่มนี้ผมได้ตั้งใจจัดทำอย่างสุดฝีมือ โดยการคัดเลือกภาพเครื่องรางที่ล้วนเป็นของแท้ และเป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป โดยเน้นความสวยสมบูรณ์ทุกชิ้น ดูง่าย มีข้อยุติ ประเภทดูยาก คาบลูกคาบดอกจะไม่มีปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้อย่างแน่นอน  ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นหนังสือคู่มือที่ได้มาตรฐานในการพิจารณาของนักสะสมเครื่องรางอย่างแท้จริง ผมขอเอาเกียรติและชื่อเสียงเป็นหลักประกัน ขอให้มั่นใจได้ ในความถูกต้องทั้งด้านข้อมูล ประวัติความเป็นมาของเครื่องราง และเกจิอาจารย์ผู้สร้าง รวมทั้งภาพประกอบที่สวยคมชัดเป็นพิเศษ”

 หนังสือ “เครื่องรางยอดนิยม” ฉบับมาตรฐานและสมบูรณ์ที่สุดเล่มนี้ ออกแบบรูปเล่มสวยงาม โดยฝีมืออาชีพผู้มากด้วยประสบการณ์  เป็นหนังสือปกแข็ง พร้อมกล่องใส่สวยหรู พิมพ์สี่สีทั้งเล่ม หนา ๕๐๐ หน้า จัดพิมพ์จำนวนจำกัด เพียง ๓,๐๐๐ เล่ม เท่านั้น ทุกเล่มมีหมายเลขกำกับ ราคาจองเล่มละ ๑,๘๐๐ บาท (ราคาปก ๒,๕๐๐ บาท)  ปิดจองวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒

 สั่งจองได้ตามสนามพระทุกแห่ง หรือที่ ชมรมพระเครื่องท่าพระจันทร์ ถนนมหาราช ท่าพระจันทร์ เขตพระนคร กทม.๑๐๒๐๐ ธนาณัติสั่งจ่ายในนาม นายศุภชัย เรืองสรรงามสิริ ปณ.หน้าพระลาน (ค่าส่งฟรี) หรือสอบถามได้ที่โทร.๐-๒๖๒๓-๕๕๓๓, ร้านตี๋เหล้าและประเสริฐ แผงพระเลขที่ ๘-๙-๑๐ สนามพระท่าพระจันทร์ โทร.๐-๒๒๒๕-๒๕๕๖,๐๘-๑๖๔๐-๖๔๓๓ รับหนังสือได้ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป

"แล่ม จันท์พิศาโล"