
วัดตุยง จ.ปัตตานี ศูนย์กลางเรียนรู้ธรรมในวันที่...ใต้ร้อนระอุ
วัดมุจลินทวาปีวิหาร หรือที่ชาวพุทธพื้นที่ชายแดนภาคใต้คุ้นหูในชื่อ วัดตุยง ตั้งอยู่ใน ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แม้จะได้รับผลพวงจากความไม่สงบที่ปรากฏขึ้นบนดินแดน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างไปจากการศึกษาของนักเรียนในระดับสามัญ
วัดตุยงนอกจากเป็นศาสนสถานที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานเกือบ ๒ ศตวรรษ ทั้งในแง่ศิลปะ และเรื่องราวทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นจุดศูนย์กลางการศึกษาของเหล่าผู้ครองตนอยู่ในสมณเพศ มาตั้งแต่ครั้งพระยาวิเชียรภักดีศรีสงครามกับหลวงปู่พรหม ได้ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นมาจนกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญแห่งหนึ่งของพุทธบริษัทในภูมิภาคนี้
“จากเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา ทำให้การเรียนการสอนในโรงเรียนปริยัติธรรมได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งพระและเณรจากปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช รวมถึงจากรัฐกลันตันประเทศมาเลเซีย ลดจำนวนลงเพราะหวั่นใจในเรื่องความปลอดภัย” นี่คืเสียงสะท้อนของพระสุทธิสมณวัตร หรือ พระอาจารย์วิชิต ชวนปฺญโญ เจ้าอาวาส “วัดมุจลินทวาปีวิหาร”
พร้อมกันนี้ พระสุทธิสมณวัตร ยังบอกด้วยว่า วัดตุยงได้ส่งเสริมการศึกษาโดยแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ประกอบด้วย ๑.โรงเรียนมุจลินท์ปริยัติธรรมสามัญศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ จัดตั้งขึ้นสำหรับพระภิกษุสามเณรที่อาศัยอยู่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดใกล้เคียงได้มาศึกษาและอยู่อาศัย ๒.โรงเรียนศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน และ ๓.โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาและวิชาการต่างๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ประจำทุกวันอาทิตย์โดยมีเด็กศึกษาพระพุทธศานาอยู่ประมาณกว่า ๑๐๐ คน ซึ่งลดจำนวนลงจากอดีตระดับหนึ่ง อันเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ดั่งหลักฐานที่ปรากฏตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจบัน “วัดตุยง” นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งให้กำเนิดการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมแห่งแรกของมณฑลปัตตานี ณ วัดมุจลินทวาปีวิหารแห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อครั้งพระยาเมืองหนองจิกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๘๘ สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง ไม่ว่าจะเป็นวิหารยอด หรือมลฑป เป็นศาลาจตุรมุขจำลองแบบจากพระที่นั่งไอสวรรค์ทิพย์อาสน์ พระราชวังบางประอิน จ.พระนครศรีอยุธยา อำนวยการสร้างโดยพระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ) มอบหมายให้พระครูนิมมานกิจโกศล ควบคุมการสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ แทนหลังเก่าซึ่งเป็นพลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายู
ปัจจุบันวิหารยอดเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหล่อโลหะของอดีตเจ้าอาวาส ๓ องค์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน คือ รูปเหมือนพระอาจารย์นวล เจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ รูปเหมือนพระครูพิบูลย์สมณวัตร เจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ และรูปเหมือนพระราชพุทธรังษี เจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ โดยเฉพาะพระราชพุทธรังษี หรือหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระภิกษุที่ชาวพุทธในพื้นที่ให้ความเคารพศรัทธาอย่างสูง
นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ พระเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำ แบบลังกา ก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดฐานกว้าง ๘ เมตร ยาว ๘ เมตร สูง ๑๕ เมตร อนุสาวรีย์ผู้สร้างวัด หลวงปู่ทวดพรหม ธมฺมโร และพระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม (เกลี้ยง) คณะสงฆ์และพุทธบริษัทร่วมกันสร้างขึ้นในโอกาสสมโภชวัดอายุครบ ๑๕๐ ปี รวมทั้งพระอุโบสถ ซึ่งหลังปัจจุบันได้สร้างแทนหลังเก่าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และประชาชนร่วมสมทบ และได้พระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ "จ.ป.ร." ที่หน้าจั่วพระอุโบสถปรากฏจวบจนทุกวันนี้ และที่สำคัญยังมีหอสมุดเป็นอาคาร ๒ ชั้น มีหนังสือตำราทุกประเภททั้งทางโลกและทางธรรม เปิดให้ผู้สนใจเข้าศึกษาได้ทุกโอกาส
“แม้นยังไม่มีคำตอบว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะไปสิ้นสุดลงตรงไหน แต่อาตมายืนยันว่าจะทำให้วัดตุยงแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางพระธรรมในดินแดนปลายด้ามขวาน ควบคู่กับยืนหยัดเป็นศาสนาสถานที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองแห่งนี้สืบไป” พระสุทธิสมณวัตร กล่าวปิดท้าย
ร่วมบุญตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา
พระสุทธิสมณวัตร บอกว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่ยากปฏิเสธว่าบรรยากาศความคึกคักของเหล่าพุทธบริษัท และพระภิกษุสามเณร จากทั่วทุกสารทิศที่หลั่งไหลมายังวัดตุยงเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแต่เก่าก่อน ควบคู่กับเรียนรู้ด้านพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ จนส่งผลให้ปัจจัยที่จะส่งเสริมด้านการศึกษามีอยู่อย่างจำกัด แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาที่จะบั่นทอนเจตนารมณ์ของเจ้าอาวสรูปปัจจุบันที่มุ่งมั่นจะส่งเสริมการศึกษาทางธรรมให้แก่สังคม
โครงการใหญ่ภายใต้การดำเนินงานและรับผิดชอบของวัดทั้ง ๓ โครงการ เน้นให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาเพื่อก่อประโยชน์แก่พระภิกษุสามเณรเด็กและเยาวชน อันเป็นผลดีต่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และสร้างคนดีมีคุณธรรมให้แก่สังคม ประเทศชาติเป็นสำคัญ วัดจึงยินดีที่จะจัดการศึกษาแบบให้เปล่าโดยวัดได้จัดตั้งกองทุนสำรองเพื่อการศึกษาขึ้น
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การระดมทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ได้ปรึกษากับพระสุนทรปริยัติวิธาน เจ้าอาวาสราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) ในการจัดสร้างเหรียญ ๒ หน้า หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และหลวง่พอดำวาจาสิทธิ์ (วัดตุยง) โดยสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ เป็นผู้สร้างเหรียญเพื่อมอบเป็นที่ระลึกสำหรับผู้ร่วมทำบุญ มี ๒ แบบ คือ เหรียญในเสมา กับเหรียญใบจิก และมี ๕ เนื้อ คือ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนสะโลหะ เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงรมดำ พุทธศาสนิกชนร่วมบุญได้ที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร (วัดตุยง) โทร.๐-๗๓๔๓-๗๕๐๒ และ ๐-๗๓๔๓-๗๒๓๔ หรือดูรายเอียดประวัติของวัด รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของวัดได้ที่ "http//www.wattuyong.org"
“เหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา ทำให้การเรียนการสอนในโรงเรียนปริยัติธรรมได้รับผลกระทบอย่างมากทั้งพระและเณร ลดจำนวนลงเพราะหวั่นใจในเรื่องความปลอดภัย”
เรื่อง... "สุพิชฌาย์ รัตนะ"
ภาพ... "จรูญ ทองนวล"