พระเครื่อง

กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง

กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง

30 มี.ค. 2552

“กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก”

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นคำขวัญประจำจังหวัดกำแพงเพชร ทั้งนี้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก่อนมีเมืองกำแพงเพชรเคยมีเมืองเก่ามาก่อน ๒ เมือง คือ เมืองชากังราว ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง และ เมืองนครชุม ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปิง และอยู่ตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชรเก่า จึงเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์วัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔

กำแพงเพชร ถือที่เป็นจังหวัดพบกรุพระเครื่องที่ยิ่งใหญ่สุด มากทั้งคุณภาพและปริมาณ พระเครื่องอันดับ ๑ ที่วงการพระเครื่องยกย่องก็เป็นพระกรุงจากจังหวัดกำแพงเพชรถึง ๓ องค์ คือ พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุน และพระกำแพงพลูจีบ ซึ่งไม่มีจังหวัดใดมีพระเครื่องดังเท่าจังหวัดกำแพงเพชร
ทั้งนี้เพราะว่าพระเครื่องของกำแพงเพชร โดยเฉพาะพระตระกูลทุ่งเศรษฐีนั้น ถือเป็นพระที่ถูกสร้างขึ้นในยุคทองของพระพุทธศาสนา ซึ่งศิลปะและประติมากรรมต่างๆ เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด

กรุพระเครื่องเมืองกำแพงเพชรนั้น มีอยู่มากมาย ถ้าแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์ของ ๒ ฝั่งแม่น้ำปิง คือ

.กรุทุ่งเศรษฐี อยู่ฝั่งตรงข้ามกับตัวจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมเป็นตำบลคลองสวนหมาก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นตำบลนครชุม ซึ่งมีกรุพระเครื่องมากมาย

กรุพระเครื่องที่สำคัญๆ ของกรุทุ่งเศรษฐี เช่น กรุวัดพระบรมธาตุ กรุเจดีย์กลาง กรุวัดพิกุล กรุซุ้มกอ กรุบ้านเศรษฐี กรุฤาษี กรุวัดน้อย (กรุซุ้มกอดำ) กรุวัดหนองลังกา กรุหัวยาง กรุคลองไพร และกรุโนนม่วง ฯลฯ เป็นต้น
ส่วนพระเครื่องจากกรุทุ่งเศรษฐีที่มีชื่อเสียงซึ่งวงการพระเครื่องยกย่องให้เป็นอันดับ ๑ ก็มี พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุน และพระกำแพงพลูจีบ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีพระเครื่องต่างๆ ที่มีชื่อเสียงอันเป็นที่รู้จักทั่วกัน คือ พระกำแพงเปิดโลก พระกำแพงลีลา พระกำแพงกลีบจำปา พระกำแพงบิด พระกำแพงกลีบบัว นางกำแพงกรุต่างๆ พระยอดขุนพล และอื่นๆ เป็นต้น

โดยที่ได้รับความนิยมอันเป็นที่เลื่องลือ ก็คือ เรื่องศิลปะความงดงามและเนื้อวัสดุ ทั้งเนื้อดิน ชิน ว่าน พระของทุ่งเศรษฐีมีความละเอียดและประณีตเป็นพิเศษ ซึ่งมีคำพูดหนึ่งที่ติดปากของคนในวงการพระเครื่อง คือ “เนื้อทุ่ง” ในขณะที่นักพระเครื่องรุ่นเก่ามักเรียกกันว่า “เนื้อเกสร” ซึ่งมีความละเอียดหนึกนุ่มเป็นพิเศษ ยากที่จะหาเนื้อพระกรุอื่นใดเท่าเทียมได้

และ ๒.กรุฝั่งกำแพงเพชร ซึ่งส่วนมากเป็นพระกรุใหญ่ๆ ทั้งสิ้น อยู่ฝั่งตรงข้ามกับแม่น้ำปิง ตรงการกับทุ่งเศรษฐี คือฝั่งที่เป็นตัวเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบันนั่นเอง มีกรุพระมากมาย เช่น กรุวัดพระแก้ว กรุวัดพระธาตุ กรุวัดป่ามืด กรุวัดพระนอน กรุวัดพระสี่อิริยาบถ กรุวัดพระสิงห์ กรุวัดช้างล้อม กรุวัดเชิงหวาย กรุวังพาน กรุวัดอาวาสใหญ่ กรุวัดอาวาสน้อย กรุวัดตึกพราหมณ์ กรุวัดนาคเจ็ดเศียร กรุวัดตะแบกลาย กรุวัดช้างรอบ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ไม่ปรากฏชื่อ
พระเครื่องฝั่งเมืองกำแพงเพชร มีมากมายเช่นเดียวกับฝั่งกรุทุ่งเศรษฐี ส่วนที่ฝั่งกำแพงเพชรมีน้อยและยังสู้ฝั่งทุ่งเศรษฐีไม่ได้ คือ พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุน และพระกำแพงพลูจีบ เท่านั้น แต่ที่ฝั่งกำแพงเพชรก็มีพระที่เหนือกว่า คือ พระกำแพงห้าร้อย ซึ่งฝั่งทุ่งเศรษฐีไม่มี

อย่างไรก็ตาม หากจะจำแนกพระเครื่องของจังหวัดกำแพงเพชรออกตามแหล่งที่พบกรุสำคัญๆ ดังนี้

๑.พระเครื่องที่พบบริเวณลานทุ่งเศรษฐี เช่น พระซุ้มกอ พระลีลาเม็ดขนุน พระลีลาพลูจีบ พระกลีบจำปา เม็ดมะลื่น นางกลีบบัว นางกำแพง อู่ทอง ฯลฯ เป็นต้น

๒.พระเครื่องที่พบจากกรุวัดบรมธาตุ เช่น พระซุ้มกอต่างๆ พระเชยคางข้างเม็ด เม็ดมะลื่น นางกลีบบัว ฯลฯ เป็นต้น

๓.พระเครื่องกรุวัดพิกุล เช่น พระกำแพงเขย่ง พระกำแพงกลีบบัว พระเปิดโลก พระซุ้มกอ เม็ดขนุน เม็ดมะลื่น นางกำแพงพิมพ์ลึก พิมพ์ตื่น

๔.พระเครื่องกรุวัดฤาษี พบพระเช่นเดียวกับกรุอื่นๆ

๕.พระเครื่องกรุนาตาคำ พบพระหลายประเภทเช่นเดียวกับลานทุ่งเศรษฐี

และ ๖.พระเครื่องกรุอื่นๆ ก็มีพระเครื่องสกุลกำแพงเพชรโดยทั่วไป แต่ปริมาณและจำนวนไม่เท่ากับกรุงหลักๆ ที่กล่าวมา

ในจำนวนพระเครื่องที่พบทุกๆ กรุใน จ.กำแพงเพชร ศิลปะที่ปรากฏส่วนใหญ่จะแสดงออกตามจินตนาการของช่างสุโขทัย ซึ่งจะมีทั้งศิลปะสุโขทัยยุคต้น ยุคกลาง และยุคปลาย โดยเฉพาะศิลปะสุโขทัยแบบกำแพงเพชรมากที่สุด

นอกจากนี้ยังพบว่า มีพระส่วนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับศิลปะถึง ๔ สมัย เช่น พระเครื่องบางองค์เป็นแบบสุโขทัย แต่รับเอาอิทธิพลของศิลปะเชียงแสนผสมเข้าไว้ ในขณะที่บางองค์ก็ได้รับอิทธิพลของศิลปะอู่ทอง สัมพันธ์ไว้อย่างอลังการ รวมทั้งศิลปะลพบุรี ก็ยังเข้ามามีอิทธิพลต่อพระเครื่องสกุลกำแพงเพชรอยู่ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม พระเครื่องที่พบใน จ.กำแพงเพชร จะมีให้พบเห็นหลายลักษณะ หลายพิมพ์ อยู่ทั่วไปตามกรุต่างๆ ที่กล่าวมา ไม่มีการพบเป็นการเฉพาะเจาะจงเฉพาะประเภทในแต่ละกรุ ดังนั้นความแตกต่างของธรรมชาติพระจึงเกิดขึ้นได้ในพระพิมพ์เดียวกัน

จากหลักฐานที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกหลักที่ ๓ ที่พบในวัดเสด็จ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) คำกล่าวที่ว่า ศิลปกรรมสามารถแบ่งออกความเป็นมาของยุคสมัยได้นั้น ได้ถูกถ่ายทอดสู่พระเครื่องเมืองกำแพงเพชร ด้วยประติมากรรมที่แสดงถึงพุทธลักษณะที่อ่อนช้อย พลิ้วไหว ล่ำสัน บึกบึน พระโอษฐ์แย้มสรวล บ่งบอกถึงความสมบูรณ์พูนสุข เป็นสกุลของช่างกำแพงเพชรโดยแท้
เนื้อหาของพระพิมพ์กำแพงนี้นับว่าเป็นที่สุดของพุทธศิลป์ และความประณีตละเอียดของมวลสารที่หนึกนุ่ม แทบที่จะหาพระสกุลอื่นเทียบได้ยาก คำกล่าวอ้างนี้ก็มิใช่เป็นการอวดอ้างที่เกินจริงเลย

พระเครื่องสกุลกำแพงเพชร นับเป็นมรดกอันล้ำค่าของแผ่นดิน ที่ครบถ้วนคุณค่าที่ชาวไทยทุกคน แม้มีผู้นิยมสะสมพระเครื่องควรให้ความสำคัญถึงคุณค่า หวงแหน รักษา และเผยแพร่ความรู้ให้เป็นที่ประจักษ์สู่สังคมโดยรวมของประเทศไทย แผ่ขยายผลักดันสู่สากลนิยมยอมรับต่อไป

เทพ กำแพง