พระเครื่อง

พ่อท่านหวาน พระผู้เป็นที่พึ่งไทยพุทธ..."อ.สะบ้าย้อย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย" เป็น ๔ อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีรอยต่อติดกับ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ทำให้ตลอด ๖ ปีที่ผ่านมา พื้นที่เหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่พ้นจากการตกเป็นส่วนหนึ่งในการก่อเหตุการณ์ความรุนแรงของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยเฉพา

  หนึ่งในเหตุการณ์ที่สะเทือนความรู้สึกของสังคมมากที่สุด นั่นคือ "เหตุการณ์ ๑๙ ศพ ที่บ้านสุโสะ" ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกับเหตุการณ์ "มัสยิดกรือเซะเลือด" ที่ จ.ปัตตานี เมื่อปี ๒๕๔๗

 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ชาวบ้านจะตกอยู่ในภาวะอกสั่นขวัญกระเจิงในทุกคราวที่คนร้ายลงมือสร้างสถานการณ์ด้วยความรุนแรง แต่นับเป็นความโชคดีไม่น้อยสำหรับชาวสะบ้าย้อย โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ยังมี “พระครูไพบูลย์สิกขการ” หรือ “พ่อท่านหวาน” เจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อย พระผู้เป็นดั่งขวัญและกำลังใจในการดำรงชีวิตของชาวพุทธ ท่ามกลางสถานการณ์อันไม่ปกติสำหรับผู้คนที่นี่

 “พ่อท่านหวาน” ถือเป็นหนึ่งในพระคณาจารย์ที่ร่วมพิธีสร้างพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ และยังเป็นสหมิกธรรมของ “พระครูวิสัยโสภณ” หรือ “พระอาจารย์ทิม” แห่งวัดช้างให้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ หากพระภิกษุรูปนี้จะเป็นที่พึ่งพาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธสะบ้าย้อยในยามนี้ ด้วยความที่เป็นพระที่ไม่ยึดติดกับวัตถุ และใช้ชีวิตอย่างสมถะ สิ่งที่ชาวพุทธทุกคนที่ได้รับจากการมากราบเจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อยแห่งนี้ นั่นคือ “ธรรมะ” เพื่อนำไปเป็น “หลักคิด” เพื่อ “ดำเนินชีวิต” อย่างรู้เท่าทันสถานการณ์ และไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงที่ผู้ไม่หวังดีก่อขึ้น

 อย่างไรก็ตาม นับแต่ “พ่อท่านหวาน” ได้เดินทางมาจำพรรษา ณ วัดสะบ้าย้อย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๐ ถึงวันนี้ พ่อท่านหวานได้สร้างคุณูปการแก่ชาวสะบ้าย้อย และพัฒนาวัดให้มีความสวยงาม อีกทั้งยังสร้างถาวรวัตถุ และอาคารเสนาสนะต่างๆ มากมาย ทั้งอุโบสถ กุฏิสงฆ์ จำนวน ๗ หลัง หอระฆัง และหอฉัน แต่ในทางกลับกันเจ้าอาวาสกลับเลือกจำวัดอยู่ในกุฏิเก่าหลังเล็กๆ รายล้อมไปด้วยลูกสุนัข และแมวจำนวนมาก

 นอกจากการยืนหยัดทำหน้าที่ปลุกกระตุ้นขวัญให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่แล้ว พ่อท่านหวานยังทำหน้าที่ของภิกษุอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการรับกิจนิมนต์ของชาวบ้านทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ก็ตาม ด้วยความมุ่งหวังเดียว คือ ต้องการให้พุทธศาสนิกชนสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างปกติเหมือนวันวาน เมื่อครั้งที่ท้องถิ่นแห่งนี้ยังไม่เกิดเหตุรุนแรง

 “วันนี้ ชาวบ้านต้องการที่พึ่งในเรื่องขวัญและกำลังใจ ดังนั้นคนที่มาวัดแห่งนี้ พวกเขาล้วนทุกข์ร้อนใจทั้งนั้น ดังนั้น หากเราช่วยลดอุณหภูมิความหวาดกลัวแก่เขาได้ พร้อมๆ กับเพิ่มพลังใจให้กลับไปทำหน้าที่ หรือใช้ชีวิตในสังคมนี้ได้ต่อไป เราจะนิ่งดูดายได้อย่างไร ฉะนั้นกุฏิเราเปิดรับชาวบ้านทุกระดับ อย่างเท่าเทียม คำสอนของพระพุทธองค์คือเครื่องเตือนสติให้เรามีสมาธิอยู่เสมอ ดังนั้น การมีจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม โดยไม่วอกแวก หรือขาดสติ จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย และฝ่าวิกฤติที่รุนแรงอยู่ในพื้นที่ไปได้” พ่อท่านหวาน กล่าวถึงแง่คิดที่ย้ำกับผู้มาเยือนเสมอ

 ทางด้าน นายธัญพัฒน์ สุวรรณรัตน์ รองนายกเทศมนตรีตำบลสะบ้าย้อย ศิษย์ก้นกุฏิพ่อท่านหวาน บอกว่า วัดแห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองได้ก็เพราะพ่อท่านหวาน อีกทั้งชาวพุทธยังมีขวัญและกำลังใจที่ดี ก็เพราะยังมีเจ้าอาวาสยืนหยัดเป็นศูนย์รวมใจให้แก่ชาวบ้าน และเพื่อแสดงความกตัญญู มุทิตาจิตแด่พระผู้มีคุณูปการอย่างสูงต่อชุมชนแห่งนี้ จึงได้จัดงาน “ฉลองกตัญญูพ่อท่านหวาน” ฉลองวันคล้ายวันเกิดครอบรอบ ๙๓ ปี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๓ โดยในงานนี้ จะมีการถวายกุฏิหลังใหม่ ที่สร้างจากพลังศรัทธาของชาวบ้านทุกคน และทุกชีวิตต่างขอมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นอิฐหนึ่งก้อน ทรายหนึ่งกอง บางคนก็ลงแรงร่วมสร้างจนแล้วเสร็จ เพื่อแสดงความกตัญญู

ชาติภูมิ..."พ่อท่านหวาน"
 ชื่อของ “พ่อท่านหวาน” เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เมื่อวัดสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ได้จัดสร้างหลวงพ่อทวด เพื่อหารายได้สร้างอุโบสถ เมื่อปี ๒๕๓๙ ซึ่งพระรุ่นนี้ได้เกิดประสบการณ์ เมื่อเกิดเหตุการณ์เครื่องบินตกที่เสิ่นเจิ้น ประเทศจีน แล้วมีผู้รอดชีวิต โดยแขวนพระหลวงปู่ทวด วัดสะบ้าย้อย รุ่นนี้ จนเกิดการเรียกขานพระรุ่นนี้ว่า "รุ่นเสิ่นเจิ้น"

  "หวาน เดชพุฒิ" เป็นชื่อและสกุลเดิมของ พระครูไพบูลย์สิกขการ หรือ พ่อท่านหวาน เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๖๑ ที่ ต.บางโกระ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี บิดาชื่อ นายแก้ว มารดาชื่อ นางจันทร์ บรรพชาอุปสมบท ณ วัดมะเดื่อทอง ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๘๑ มี พระครูมนัสสมณคุณ เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ พระอธิการแดง สุนทโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระชุม เกสฺสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

 หลังจากสอบได้นักธรรมชั้นตรี ช่วยเหลือเจ้าอาวาสในการสอนนักธรรมแก่พระภิกษุสามเณรบวชใหม่ และเป็นผู้ช่วยเหลือในการสร้างอุโบสถ วัดมะเดื่อทอง จนสำเร็จ พร้อมกันนี้ได้สร้างกุฏิเจ้าอาวาส และกุฏิสงฆ์ จำนวน ๒ หลัง

 ต่อมาได้ย้ายสังกัดไปรักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคลองยอ ต.วังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๔๙๓ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการศึกษาคณะสงฆ์ อ.เทพา-สะบ้าย้อย ได้เลื่อนสมณศักดิ์ชั้นตรีเป็น พระครูไพบูลย์สิกขาการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอสะบ้าย้อย

  กระทั่ง พ.ศ.๒๕๒๐ ได้เดินทางมาจำพรรษา ณ วัดสะบ้าย้อย หลังจากอดีตเจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อย คือ พระใบฎีกาจ้วน สุปญฺโญ ได้อาพาธและมรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๐ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อย เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๑ ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะอำเภอสะบ้าย้อย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นมา

 “คำสอนของพระพุทธองค์ คือ เครื่องเตือนสติให้เรามีสมาธิอยู่เสมอ ดังนั้น การมีจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม โดยไม่วอกแวก หรือขาดสติ จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย และฝ่าวิกฤตที่รุนแรงอยู่ในพื้นที่ไปได้”

0 เรื่อง / ภาพ สุพิชฌย์ รัตนะ 0
สำนักข่าวเนชั่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ