พระเครื่อง

พึ่งตนพึ่งธรรม - จุดจอดหัวใจที่สวนโมกข์

พึ่งตนพึ่งธรรม - จุดจอดหัวใจที่สวนโมกข์

02 ก.ย. 2553

ในวันเปิด สวนโมกข์กรุงเทพฯ หรือ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชาวพุทธที่มีศรัทธาต่อคำสอนของ ท่านอาจารย์พุทธทาส มาร่วมทำบุญฟังธรรมจำนวนมาก และเป็นนิมิตหมายอันดีที่กรุงเทพฯ มีสถานที่เหมาะกับการพักกายใจท่ามกลางธรรมชาติ เพื่อเรีย

  สวนโมกข์กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บริเวณสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความสงบและค้นหาสัจจะของชีวิต

 หากใครมีโอกาสแวะเวียนมาที่นี่ มักจะบอกว่ากรุงเทพฯ มีสถานที่แบบนี้ด้วยหรือ แล้วจะเข้าใจคำที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ธรรมะคือธรรมชาติ สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่วัด แต่เปิดโอกาสให้คนเข้ามาเรียนรู้ธรรมะท่ามกลางธรรมชาติ

 ในวันเปิดงานลานธรรมด้านนอกท่ามกลางต้นไม้น้อยใหญ่ ญาติโยมล้อมวงร่วมฟังเรื่องราวคนปฏิบัติธรรมที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี โดยคราวนี้ คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ศิษย์คนหนึ่งที่มีโอกาสปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์พุทธทาส เล่าถึงวันที่อาจารย์จากไปว่า

 “วันปลงศพท่านอาจารย์พุทธทาส ดิฉันได้เห็นการนำศพเผาบนเชิงตะกอนกลางแจ้ง ดิฉันนั่งอยู่ฝ่ายอุบาสิกา นั่งมองศพท่านไหม้จนไม่เหลือ และเห็นพระร่อนอัฐิ เพื่อเผาต่อไม่ให้เหลืออะไร ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนเรื่องมรณานุสติจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต”

 คุณหญิงจำนงศรี เป็นศิษย์รุ่นท้ายๆ ที่มีโอกาสกลับไปกราบท่านอาจารย์พุทธทาสก่อนที่จะมรณภาพ ๒-๓ ครั้ง และครั้งสุดท้ายได้กราบที่เชิงตะกอนบริเวณเชิงเขาพุทธทอง สุราษฎร์ธานี

 ก่อนหน้านี้คุณหญิงจำนงศรี ไม่ต่างจากคนอื่นๆ คือ มีความทุกข์และไม่รู้จะเดินออกจากทุกข์อย่างไร จึงมีคนแนะนำให้ลองมาปฏิบัติธรรมที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี

 ช่วงที่ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ มีเพื่อนและญาติปลอบโยนสารพัด ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้ว่า คำปลอบโยนหรือคำเข้าข้างคืออาหารอัตตาชั้นเยี่ยม และทุกข์นั้นมีพื้นฐานอยู่ที่อัตตา มันป้อนอัตตาเราใหญ่มาก ตอนนั้นคิดไปว่า “ทำไมฉันโดนอย่างนี้ ฉันทั้งสิ้น”

 เมื่อชีวิตตกอยู่ในห้วงทุกข์ คำปลอบใจก็เอาไม่อยู่ แม้จะปรึกษาเพื่อนทางธรรม แต่ก็ไม่เหมือนปฏิบัติด้วยตัวเอง
 เธอบอกว่า เคยโทรไปหาเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมในวัดแห่งหนึ่งและเปิดใจกับเพื่อน เพื่อนบอกว่า “คิดเสียว่าเป็นกรรมเก่า ให้ยอมรับเถอะ” ตอนนั้นเธอตัดสินใจไม่ไปวัด เพราะไม่พร้อมที่จะรับเรื่องกรรมเก่า พยายามค้นหาสถานที่เพื่อพัฒนาจิต จนมีคนแนะนำว่า ถ้าเป็นคนแบบนี้ต้องไปสวนโมกข์พลาราม เมื่อตัดสินว่าจะเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่นั่น ซึ่งการเดินทางไปครั้งแรกเป็นเรื่องขำๆ ของญาติๆ และเพื่อน

 ดิฉันไปอย่างทุลักทุเล ตกรถไฟ จึงเดินทางไปเครื่องบิน พอไปถึงสนามบินสุราษฎร์ธานี ไม่มีรถเข้าสวนโมกข์ ตอนนั้นเห็นผู้ชายอายุสามสิบกว่าๆ มีรถจะเข้าเมือง ดิฉันขอติดไปสวนโมกข์ด้วย ระหว่างทางเขาบอกว่าจะไปแค่อำเภอบ้านดอน และถามว่า “ผู้หญิงตัวคนเดียวมาแบบนี้ไม่กลัวหรือ”

 คุณหญิงจำนงศรี เล่าต่อว่า ตอนนั้นไม่ใช่ความกลัวหรือไม่กลัว พอเดินทางไปถึง อ.บ้านดอน เบียดไปกับรถแท็กซี่เล็กๆ มีแม่ค้าและกระจาดเต็มไปหมด จนมาถึงสวนโมกข์ มีคนบอกว่า การอบรมไม่ใช่ที่นี่ ต้องไปที่สวนโมกข์นานาชาติอีกสองกิโลเมตร ปรากฏว่า มีรถแล่นออกมาคันหนึ่งและพระนั่งมารูปหนึ่ง พระถามว่าจะไปไหน เมื่อบอกจุดประสงค์ ท่านก็ให้ติดรถไปด้วย

 เมื่อถึงสถานที่ปฏิบัติธรรมในสวนโมกข์แล้ว คุณหญิงบอกว่า ณ เวลานั้นคือ จุดเริ่มต้นของการเกลาอัตตา เริ่มปฏิบัติในคอร์สอบรมสวนโมกข์นานาชาติภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างต่อเนื่อง เดือนละสองครั้งรวมๆ ๒๐ วัน ประมาณ 6 ครั้ง จากนั้นฝึกปฏิบัติคนเดียวในป่าสวนโมกข์อีก ๓ เดือน

  "ต้องตื่นตีสี่ เดินมาฟังเทศน์ที่ลานหน้ากุฏิท่านอาจารย์พุทธทาส ตอนนั้นท่านเทศน์เรื่อง ปฏิจจสมุปบาทต่อเนื่องหลายวัน และได้ฟังธรรมจากการอบรมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต สวนโมกข์ให้สิ่งที่เกินค่าสำหรับชีวิต ได้เรียนรู้ธรรมชาติที่แท้จริง"

 ช่วงลองปฏิบัติธรรมคนเดียวในป่า เธอบอกว่า ได้ประสบการณ์หลายอย่าง ทั้งความเหงา ความเบื่อ ความกลัว และที่แรงที่สุดคือความโกรธที่สะสมเอาไว้

 “สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นลบเลย เป็นครูของเราและที่สำคัญมากก็คือความตาย อยู่ที่นั่นกับแมงมุม แมงป่องตัวใหญ่มาก และตุ๊กแกตัวยาวใหญ่กว่าอีสาน รวมถึงแมว หมาที่คนเอามาปล่อย หากวันนี้ได้ฟังเสียงนกสวยๆ ร้องเพลง วันพรุ่งนี้มันตาย” นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต เธอเริ่มมองเห็นความเป็นจริงเธอบอกว่า สิ่งเหล่านี้สำคัญมากในการออกจากทุกข์ และทำให้รู้จักทุกข์ เข้าใจว่ามันแค่นั้นเอง เธอตระหนักรู้ว่า ชีวิตมนุษย์ก็ไม่ต่างจากสรรพสัตว์รอบกาย ต้องหากิน แสวงสุข หนีทุกข์เหมือนกัน

 เมื่อได้เรียนรู้ความจริงของชีวิต อัตตาก็ค่อยๆ ลดลง เธอรู้สึกว่าเมื่อตัวตนเล็กลง ก็ได้เรียนรู้ว่า ชีวิตก็แค่นั้นเอง และพบสิ่งมหัศจรรย์ในชีวิต...ทุกข์ค่อยๆ ลดลงตามสัดส่วน

 “นี่คือสิ่งที่ดิฉันได้รับมากมายจากสวนโมกข์”
 เรื่องราวคุณหญิงจำนงศรี เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง จนค้นพบความจริงของชีวิต

"เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ"