
นพ.บัญชา พงษ์พานิชกับวจี..."เล่นพระแบบจิตหลุดและปัญญาไม่ถึง"
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่เปิดให้บริการภายในสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) กรุงเทพฯ มีบรรยากาศไม่ต่างไปจากสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครต่อใครจะเรียกขานสถานที่แห่งนี้กันจนติดปากว่า สวนโมกข์กรุงเทพฯ โดยได้รวบรวมสื่อธรรมะอย่างค
บุคคลหนึ่งที่เป็นดั่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสืบสานปณิธานของท่านพุทธทาส คงต้องยกเครดิตให้แก่ "นพ.บัญชา พงษ์พานิช" กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ “หมอบัญชา” ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นถึง “ศิษย์ก้นกุฏิ” แห่งสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังเป็นนักแสวงหาธรรมตัวยงอีกท่านหนึ่งด้วย
“บวชที่สวนโมกขผลารามใน ปี ๒๕๒๙ เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี ศึกษาว่าศาสนาพุทธสอนอะไรเราบ้าง เพราะขณะนั้นรู้สึกว่า เรารู้แค่เพียงมีศาสนาที่นับถือ แต่ไม่เคยศึกษาให้เกิดความเข้าใจ โดยเฉพาะหัวใจพระธรรมอยู่ตรงไหน จึงศึกษาหาแก่นพระธรรมกับท่านพุทธทาส” นพ.บัญชา บอกถึงจุดหักเหที่ชีวิตสนใจในเรื่องพระธรรม
ส่วนเรื่อง "พระเครื่อง" นั้น นพ.บัญชา เล่าให้ฟังว่า สมัยเป็นนักศึกษา เคยแขวนพระที่ผู้เป็นแม่มอบให้ ๓ องค์ ประกอบด้วย เหรียญรูปไข่ ด้านหน้าหลวงปู่ทวด ด้านหลังพระอาจารย์ทิม เหรียญเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์ ที่คุณยายรับมากับมือเจ้าคุณนรฯ และแขวนเหรียญ ภปร.แต่เลิกแขวนหลังจากบวชเรียนและศึกษาพระธรรมกับท่านพุทธทาส โดยเน้นแขวนพระธรรมไว้ในใจ เพราะไปไหนไม่กลัวหาย แถมไม่ต้องถอด เพราะจะติดใจ ติดกายของเราตลอดไป สามารถนำหลักคำสอนของพระพุทธองค์ออกมาใช้ได้ในทุกสถานการณ์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม “หมอคนดัง” แห่ง “เมืองคอน” ก็ยังสนใจและสะสมวัตถุมงคล โดยมี “ตู้พระหัวเตียง” เพื่อกราบไหว้ และสักการะในทุกวันที่ตื่น และก่อนเข้านอน ขณะเดียวกัน วิธีการสะสมจะแบ่งเป็น ๓ ส่วน ประกอบด้วย ๑.พระที่บอกถึงพุทธธรรมของพระพุทธองค์จะสะสมประเภท พระพุทธรูปในความหมายบอกเรื่องราว ซึ่งจะเน้นเฉพาะปางที่สนใจที่สะท้อนพุทธประวัติ เช่น ปางประสูติ ซึ่งแม้แต่ตอนประสูติพระพุทธองค์ยังได้แสดง “มิชชั่น” ว่า เราจะเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งมีความหมายว่า "มนุษย์ต้องตั้งเป้าหมายในชีวิต" หรือพระพุทธรูปปางแสดงยมกปาฏิหาริย์” ที่สะท้อนให้รู้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง อันเป็นสรรพสิ่ง แล้วอธิบายเพื่อประยุกต์ให้เข้ากับชีวิตมนุษย์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
๒.“พระเก่าเมืองนคร” ด้วย เพราะนครศรีธรรมราชเป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์นับพันปี จนได้ชื่อว่า “เมืองตามพระลิงค์” ซึ่งถือเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญ ศูนย์รวมแห่งศิลปศาสตร์ เป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธและพราหมณ์ ด้วยเหตุนี้ วัดอารามในโบราณสถานหลายแห่งจึงมีความเก่าแก่ และขุดพบโบราณวัตถุ และพระกรุที่สร้างในยุคสมัยศรีวิชัยมากมาย โดยเฉพาะพระเมืองนคร “ชุดไตรภาคี” ประกอบด้วย พระปรกโพธิ์กรุวัดท่าเรือ พระนาคปรกกรุ วัดนางตรา และพระยอดขุนพล กรุวัดนาสน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลก หากสังคมจะขนานนามให้นครศรีธรรมราช ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองพระ” เพราะที่นี่ถือเป็นจุดสำคัญในการเข้ามาของพระพุทธศาสนา ก่อนจะขยายไปทั่วเอเชียอาคเนย์
และ ๓.“จตุคามรามเทพ” ทั้งนี้หมอบัญชาได้ให้เหตุผลว่า เพราะเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งกระแสจตุคามรามเทพที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของวัตถุมงคล การเกิดขึ้นของกระแสจตุคามรามเทพ สะท้อนวิวัฒนาการของวัตถุมงคลในยุคปัจจุบัน ที่มิได้เป็นพระแต่เป็นเทพ แต่คนในสังคมก็ให้การเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก แต่หากพินิจพิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง จะพบว่ากระแสในช่วงเวลานั้นจำแนกออกเป็นกลุ่มผู้ที่มีความเชื่อและศรัทธาในองค์จตุคาม อย่างแท้จริง และอีกกลุ่มคือ ตามกระแส” หมอบัญชา กล่าว
จากการศึกษาทั้งพระเครื่องและพระธรรม หมอปัญญาพูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "ทุกสิ่งไม่จีรัง องค์จตุคามรามเทพ เมื่อพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุด ย่อมหลีกไม่พ้นสัจธรรมความจริงข้อนี้ โดยการสะสมพระเครื่อง พระบูชา หรือวัตถุมงคล โดยส่วนตัวแล้ว เพียงเพื่อศึกษาและเข้าให้ถึงหัวใจของธรรมที่อยู่ในวัตถุเหล่านั้น แต่ทุกวันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยเล่นพระแบบจิตหลุด และปัญญาไม่ถึง ซึ่งไม่ต่างอะไรจากคนที่ตามกระแสเท่านั้น หรือไม่รู้คุณค่าในสิ่งนั้นว่ามีความหมาย หรือมีความสำคัญอย่างไร สุดท้ายก็ไม่สามารถเข้าถึงหลักธรรมได้ถึงแก่นแท้ว่า เราแขวนพระเพื่ออะไร" นพ.บัญชา กล่าว
หมอนักประวัติศาสตร์
ย้อนกลับในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ในห้วงที่กระแส “จตุคามรามเทพ” กำลังเฟื่องฟูสุดขีด หลายคนคงคุ้นหูกับชื่อของ “นพ.บัญชา พงษ์พานิช” หรือ “หมอบัญชา” ในฐานะผู้หนึ่งที่ศึกษาถึงเรื่องราวความเป็นมาของ “ราชันดำแห่งท้องทะเลใต้” ที่มีเรื่องราวผูกโยงกับประวัติศาสตร์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช จตุคามฯ ที่เก็บสะสม ส่วนใหญ่จะเน้นที่พุทธศิลป์ และรุ่นที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ควรค่าแก่การศึกษา รวมถึงรุ่นที่มีชื่อแปลกๆ เช่น “รุ่นรวยไม่มีเศรษฐี” หรือ “รุ่นเศรษฐีนับทรัพย์” ซึ่งปรากฏการณ์ครั้งนี้ สังคมไทยต้องบันทึกว่ามีการสร้างวัตถุมงคลนับพัน นับหมื่นรุ่นเกิดขึ้นในห้วงเวลาข้ามปีเท่านั้น
ขณะเดียวกันชื่อของหมอบัญชายังเป็นที่รู้จักของสังคมไทยอย่างกว้างขวางมาก ขึ้นในฐานะ “หมอนักประวัติศาสตร์” เมื่อศึกษาและสืบค้นเรื่องลูกปัดสุริยะเทพ โดยเฉพาะการค้นพบแหล่งลูกปัดโบราณที่คลองท่อม ซึ่งมี “อักขระพราหมี” โดยอักษรดังกล่าวนั้นใช้ในสมัยพระเจ้าอโศก ซึ่งเป็นเผยแผ่พระพุทธศาสนามายังดินแดนสุวรรณภูมิ ดังนั้นจึงเป็นบันทึกสำคัญในการบ่งชี้เรื่องราวของพุทธศาสนา บนแผ่นดินเอเชียอาคเนย์
นอกจากเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จากความสนใจในเรื่องของโบราณวัตถุ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้ว หมอบัญชาซึ่งปัจจุบันรั้งตำแหน่งกรรมการบริหารแผนงานสำนักเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยตั้งเป้าเดินหน้าให้ความรู้แก่สาธารณชนในทุกๆ ด้าน
เรื่อง/ภาพ สุพิชฌาย์ รัตนะ สำนักข่าวเนชั่น