
วันพระประจำโรงเรียน วันพระในแนวคิด..."เจ้าคุณสง่า วัดปัญญาฯ"
สร้างพระ สร้างคน สร้างเยาวชนของชาติ สร้างศาสนทายาทให้มีชีวิตอยู่ในโลกอย่างถูกต้อง ให้มีชีวิตเรียบร้อยตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจวัตถุนิยมมากเกินไป
นี่เป็นวิสัยทัศน์ของวัดปัญญานันทาราม ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่ พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ วางไว้ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งและสร้างขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้เป็นมรดกธรรม ซึ่งปัจจุบันนี้มี พระปัญญานันทมุนี หรือ เจ้าคุณสง่า เป็นเจ้าอาวาส และเป็นผู้สานต่อวิสัยทัศน์ของหลวงพ่อปัญญา โดยเฉพาะกิจกรรมงานเผยแผ่พระศาสนา ที่มุ่งเน้นการศึกษาอบรมปฏิบัติธรรม และเผยแผ่ธรรมะ จนเป็นที่ยอมรับจากสถานศึกษา หน่วยงานราชการและ เอกชนหลายแห่ง ส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
หลายกิจกรรมงานเผยแผ่พระศาสนาของวัดปัญญานันทาราม โดยเจ้าคุณสง่า ล้วนต้องการให้คนเข้าถึงธรรม ผ่านโครงการค่ายพุทธบุตร จัดสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาน และโครงการค่ายพุทธธรรมสำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งทั้ง ๒ โครงการนี้ต้องเดินทางมาฝึกอบรมที่วัดเป็นระยะเวลา ๒ คืน ๓ วัน นอกจากนี้แล้วยังมีอีกโครงการหนึ่งที่โดดเด่น คือ "การจัดวัดเข้าสู่โรงเรียน ด้วยพุทธศาสนา ๑ วัน ในโรงเรียน”
"จัดให้โรงเรียนมีวันพระในโรงเรียน ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องตรงกับวันพระตามปฏิทิน โดยจัดวันที่โรงเรียนมีความสะดวกเหมาะสมและไม่ขัดหรือตรงกับวันที่มีกิจกรรมอื่นๆ เช่น วันที่เด็กต้องเรียน ร.ด. หรือ ลูกเสือ รวมทั้งเนตรนารี และกำหนดให้วันนั้นเป็นพระในโรงเรียนหรือวันดี เพื่อเตือนใจทุกคนทั้งครู เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนา ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ตระหนัก โดยอาศัยวันดีนี้คอยเตือนสติ รวมทั้งให้โอกาสชีวิตใหม่" นี่เป็นแนวคิดในการดำเนินโครงการการจัดวัดเข้าสู่โรงเรียน ด้วยพุทธศาสนา ๑ วัน ในโรงเรียนจากคำบอกเล่าของเจ้าคุณสง่า
พร้อมกันนี้เจ้าคุณสง่ายังบอกด้วยว่า โครงการการจัดวัดเข้าสู่โรงเรียน เป็นการจัดทำ ๕ ดี สู่โรงเรียน ประกอบด้วย ๑.สถานที่ดี คือ จัดสิ่งแวดล้อมให้มีความเป็นอยู่เหมาะสมแก่การศึกษาปฏิบัติ เช่น จัดให้มีห้องพระ หรือห้องพระพุทธ และขยายผลทั่วโรงเรียน โดยจัดให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อม ร่มรื่น สะอาด ประหยัด และถูกหลักอนามัย
๒.วันดี คือ วันพระ โดยจัดวันที่โรงเรียนมีความสะดวกเหมาะสมและไม่ขัดหรือตรงกับวันที่มีกิจกรรมอื่นๆ โดยมีการเชื่อมโยงขยายกิจกรรมไปสู่วันต่างๆ เช่น วันพระ ตามวัฒนธรรมชาวพุทธ วันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันออกพรรษา และวันสำคัญอื่นๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันเกิดพ่อแม่ วันเกิดครู วันเกิดเพื่อน วันเกิดตนเอง
๓.สัญลักษณ์ดี คือ ชุดขาว ซึ่งถือเป็นการเคารพธงไตรรงค์อีกประการหนึ่งด้วย เพราะสีขาว หมายถึง ศาสนา โดยให้ทุกคนใส่ชุดขาวในวันที่โรงเรียนกำหนดเป็นวันพระ และวันที่โรงเรียนจัดกิจกรรมทางศาสนา เช่น แห่เทียน ทำบุญตักบาตร ฯลฯ
๔.กิจกรรมที่ดี การศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียน ต้องเน้นการพัฒนากาย จิต วิญญาณด้วยกิจกรรม เช่น การสวดมนต์ รับประทานอาหารเป็นวิถีพุทธ คือ กิน อยู่ ดู ฟัง และ ๕. กัลยาณมิตรที่ดี คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ทั้งด้านการศึกษา อบรม การครองชีวิต กิจการงานและธรรมปฏิบัติ
"โครงการวันพระประจำโรงเรียน เป็นโครงการหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ต้องอนุโมทนาบุญกับผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งที่ให้ความร่วมมือ ซึ่งมีโรงเรียนอยู่ ๓ แห่งที่ทำได้อย่างดีเยี่ยม คือ โรงเรียนผ่องสุวรรณวิทยา เขตสายไหม กทม. โรงเรียนแย้มสอาด รังสิต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และโรงเรียนวัดโคกขี้หนอน อ.พานทอง จ.ชลบุรี " เจ้าคุณสง่ากล่าว
โครงการ "Bomb to Bell"
ความเป็นมาของโครงการ “Bomb to Bell สันติสุข สันติภาพ สู่สังคมไทย” นั้น เจ้าคุณสง่าบอกว่า เกิดจากแนวคิดที่ว่า ปัจจุบันสังคมกำลังเผชิญวิกฤติทางศีลธรรม ด้วยเสียงเพรียกหาสันติสุข-สันติภาพแต่กลับบูชาของดี คือวัตถุสิ่งของ เสียง Bomb ลูกระเบิดแห่งความชั่วจึงเกิดขึ้น พร้อมเสียงคร่ำครวญแห่งความพลัดพรากและความคับแค้นใจจากการสูญเสียบุคคลที่รักและทรัพย์สิน ดังนั้นขอให้หันกลับมาร่วมใจบูชาเสียง Bell ระฆังแห่งความดี คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้เกิดขึ้นกับทุกชีวิต เพื่อสร้างความสงบในจิตใจตนและนำมาซึ่งความสงบร่มเย็น เป็นสันติสุข-สันติภาพแก่โลก โดยจัดทำระฆังโรงเรียนละ ๑ ลูก พร้อมจารึกข้อความ “Bomb to Bell สันติสุข สันติภาพ สู่สังคมไทย” และใช้ระฆังเป็นสื่อบอกสัญญาณเริ่มต้นกิจกรรม
โครงการ Bomb to Bell สันติสุข สันติภาพ สู่สังคมไทย มีเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ โรงเรียนวิถีพุทธเป็นโครงการนำร่อง และขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ ที่มีความพร้อมโดยสมัครใจในระยะต่อไป โดยวัตถุประสงค์ ๑.เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กและเยาวชนให้มีความรู้ด้านพุทธธรรมและเรียนรู้วิถีชีวิตชาวพุทธผ่านการปฏิบัติจริงด้วยตนเองในโรงเรียน
๒.เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตชาวพุทธและหลักพุทธธรรมผ่านกิจกรรมแบบผสมผสานเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และปฏิบัติ และ ๓.เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด โรงเรียนและชุมชน ในการปลูกฝังความดีให้แก่เด็กและเยาวชน รวมถึงความร่วมใจกันในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่เด็กและชุมชน
"จัดให้โรงเรียนมีวันพระในโรงเรียน ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องตรงกับวันพระตามปฏิทิน และกำหนดให้วันนั้นเป็นพระในโรงเรียนหรือวันดี เพื่อเตือนใจทุกคน ทั้งครู เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน"
เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"