พระเครื่อง

ชั่วโมงเซียน-พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์สมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสฺสเทโว)

ชั่วโมงเซียน-พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์สมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสฺสเทโว)

16 ส.ค. 2553

ตำราสร้างพระกริ่งดั้งเดิมอยู่กับ สมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล) จ.พระนครศรีอยุธยา แต่จะรวบรวมข้อมูลมาจากที่ใดบ้าง และท่านจะสร้างไว้บ้างหรือเปล่า ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ต่อมาตำราได้ตกมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระปรมานุชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ

 จนกระทั่งตำราตกทอดมาถึง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แห่งวัดบวรนิเวศ หลังจาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศฯ สิ้นพระชนม์ ตำราการสร้างพระกริ่งตกทอดมายัง "พระพุฒาจารย์ (มา)" หรือ "ท่านเจ้ามา" วัดสามปลื้ม เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์เป็น "พระมงคลทิพมุนี" ท่านเคยดำริว่า เมื่ออายุครบ ๘๐ ปี จะสร้างพระกริ่งตามตำรับเดิมที่ได้รับตกทอดมา แต่ท่านก็มรณภาพเสียก่อน

 ตำรานี้จึงตกไปอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม พระองค์ที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และที่วัดนี้เองถือว่าเป็นตำนานในการสร้างพระกริ่งในประเทศไทย ตั้งแต่บัดนั้นมาจนปัจจุบัน พระกริ่งวัดสุทัศนฯ มีชื่อเสียงทรงคุณวิเศษหลายประการ มีผู้นิยมนับถือกันมาก ยิ่งในปัจจุบันนี้ยิ่งหายาก เพราะสร้างไว้จำนวนไม่มาก

 สำหรับค่านิยมสูงที่สุดของพระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) คือ พระกริ่งเทพโมฬี ออกเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๑ เท่าที่มีการเช่าซื้อ ๒-๕ ล้านบาท ค่านิยมน้อยที่สุด ถ้าเทนอกวัด คือ พระกริ่งประภามณฑล เทที่วัดดอน ยานนาวา เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ เท่าที่มีการเช่าซื้อ ๒-๔ หมื่นบาท ส่วนค่านิยมน้อยที่สุด เทในวัด คือ พระกริ่งหน้าอินเดีย พ.ศ.๒๔๘๒ เท่าที่มีการเช่าซื้อหลักหมื่นปลายๆ ถึงหลักแสนต้นๆ

 ส่วนที่มีการทำปลอมออกมามากที่สุดเท่าที่พบเห็น คือ พระกริ่งหน้าอินเดีย พ.ศ.๒๔๘๒ เหตุที่ปลอมมาก คือ พระมีการสร้างออกมาจำนวนมาก คือ ๘,๐๐๐ องค์ ราคาที่ออกมาขายง่าย นอกจากนี้ ถ้าแยกเป็นพิมพ์ ต้องยกให้ พระกริ่งใหญ่ พระกริ่งพรหมมุณี และพระกริ่งเชียงตุง เหตุที่มีการทำพิมพ์ใหญ่ออกมาปลอมขายจำนวนมาก เพราะพุทธลักษณะงดงาม และจำนวนการสร้างตามกำลังของแต่ละปี ซึ่งมีน้อยมาก ของแท้ค่านิยมอยู่ในหลักล้าน

 ในขณะที่ พระชัยวัฒน์ของสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว)  ค่านิยมสูงที่สุด คือ พระชัยวัฒน์ พิมพ์กะไหล่ทอง เท่าที่มีการเช่าซื้อแสนปลายๆ ถึงหลักล้าน ส่วนอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ พระชัยวัฒน์ หุ้มก้น (หุ่มด้วยแผ่นทองแดง) และ พระชัยวัฒน์ ของหม่อมมิตร พระชัยวัฒน์ พ.ศ.๒๔๗๙ และ พระชัยวัฒน์ พ.ศ.๒๔๘๓ แต่ถ้าเป็นของปลอมที่มากสุดต้องยกให้ พระชัยวัฒน์ พ.ศ.๒๔๘๒ ด้วยเหตุที่สร้างจำนวน การสร้างจริง ๒,๐๐๐ องค์ ซึ่งในครั้งนั้นได้พระที่มีสภาพสวยสมบูรณ์ ๑,๐๐๐ องค์ ส่วนอีก ๑,๐๐๐ องค์ที่ไม่สวย มีการแกะแม่พิมพ์ขึ้นมาปั๊มใหม่ เป็น พระชัยวัฒน์ปั๊ม พิมพ์หน้าใหญ่ และหน้าเล็ก ส่วนที่ปลอมออกมากอีกเช่นกัน คือ พระชัยวัฒน์ พ.ศ.๒๔๘๓

 สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของพระกริ่ง คือ ความเปลี่ยนแปลงของคติความเชื่อเรื่องพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ คือ ในอดีตนั้นการจัดสร้างพระกริ่งเพื่อใช้ทำน้ำพุทธมนต์รักษาโรค ตามตำรับของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ส่วนพระชัยวัฒน์เพื่อแขวนคอให้มีโชคมีชัย แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นการนำพระกริ่งมาแขวนคอ ส่วนเรื่องการใช้พระกริ่งทำน้ำมนต์เกือบไม่ค่อยให้เห็น เพราะผู้ครอบครองเกรงว่าสภาพผิวจะมีการเปลี่ยนแปลง

 อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของการสร้างพระกริ่ง สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มวลสารที่ใช้จัดสร้าง เนื้ออันเป็นที่นิยมสูงสุด คือ เนื้อนวโลหะตามสูตรของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้ว ซึ่งประกอบด้วย ชินหนัก ๑ บาท จ้าวหนัก ๒ บาท เหล็กหนัก ๓ บาท บริสุทธิหนัก ๔ บาท ปรอทหนัก ๕ บาท สังกะสีหนัก ๖ บาท ทองแดงหนัก ๗ บาท เงินหนัก ๘ บาท ทองคำหนัก ๙ บาท (หลักคือทองคำบังคับต้องหนัก ๙ บาท)

 สุดท้ายนี้ ต้องขอบคุณข้อมูลและภาพจากหนังสือพระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช แพ วัดสุทัศนฯ จัดทำโดยตำรวจภูธรภาค ๗ ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นรางวัลชนะเลิศพระแต่ละประเภท ซึ่งเป็นหนึ่งสื่ออีกเล่มหนึ่งที่จัดทำได้สมบูรณ์ทั้งภาพถ่ายและเนื้อหา
 
พระชัยหม่อมมิตร

 “พระชัยหม่อมมิตร” ที่เรียกขานกันในวงการสะสมพระเครื่องนั้น เป็นพระชัยวัฒน์ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ ทรงจัดสร้างขึ้น ต่อมา ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี ได้นำพระชัยวัฒน์ดังกล่าวนี้แจกจ่ายแก่ผู้เป็นญาติมิตร ในวงการสะสมพระเครื่องจึงเรียกกันว่า “พระชัยหม่อมมิตร” แต่ชื่อจริงๆ ของพระชัยวัฒน์นี้ คือ พระพุทธศิริวัฒน์ มีความเป็นมาของการสร้างดังปรากฏในบันทึกการสร้างว่า “วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๑ ได้อาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ที่พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม พระสงฆ์ ๑๔ รูป สวดพุทธาภิเษกแผ่เมตตาพรหมวิหาร และพระอรหันต์นั่ง ๘ ทิศ"

 พุทธลักษณะของพระชัยหม่อมมิตร เป็นพระพุทธปฏิมากรปางสมาธิ ประทับนั่งแบบสมาธิราบบนอาสนะฐานที่เป็นบัวสองชั้น สำหรับพระพักตร์ปรากฏรายละเอียดของพระเนตร (ตา) พระนาสิก (จมูก) พระโอษฐ์ (ปาก) ค่อนข้างจะชัดเจน รวมทั้งพระกรรณ (หู) ที่ติดพอเห็น พระเกศไม่แหลมมากนัก ปรากฏไรพระศก ผ้าสังฆาฏิพาดระดับพระอุระ (อก) ด้านซ้าย พระพาหา (แขน) ขวาทะลุส่วนของด้านหลัง จะเห็นผ้าสังฆาฏิพาดลงมาจรดอาสนะฐานบัวสองชั้น ใต้ฐานมีจารอักขระขอมเป็นตัวลึก มีความหมายถึงพระนามของพระพุทธเจ้าและพระพุทธคุณ ขนาดของพระชัยวัฒน์นี้ ฐานกว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร เนื้อนวโลหะกลับดำสนิท สร้างจำนวน ๓๗๓ องค์ โดยสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) วัดสุทัศนเทพวราราม แต่ครั้งยังเป็นที่ “พระพรหมมุนี” พร้อมด้วยพระเถระผู้ใหญ่ รวม ๙ รูป และอาราธนาหลวงปู่ศุข บริกรรมภาวนาในตอนสุดท้าย ทำพิธีเททองหล่อและพุทธาภิเษก ณ วัดสุทัศนเทพวราม วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๑

 พระชัยหม่อมมิตร ที่พบเห็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์แรกพระเนตรเป็นแบบตามีเนื้อ หล่อในหุ่นเทียน และแบบที่สอง พระเนตรเป็นตามีขีด ทั้งหล่อในหุ่นเทียน และแต่งหลังหล่อเสร็จแล้ว ส่วนเหตุที่พระชัยวัฒน์ ของหม่อมมิตร ได้รับความนิยม เพราะมีพุทธลักษณะโดดเด่น มีเอกลักษณะไม่เหมือนรุ่นอื่น มีการจารึกชื่อพระนามของพระอรหันต์ บริเวณใต้ฐานะขององค์พระที่ไม่ซ้ำกันเลย หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าปลุกเสก นอกจากนี้แล้ว เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง คือ ตลับใส่พระที่มีการทำออกมา เท่าที่เห็นมี ๒ เนื้อ คือ นาก กับ ทองคำ ที่มีตลับเป็นส่วนน้อย
 
ล้ง ท่าพระจันทร์