พระเครื่อง

พระพุทธศรีสัพพัญญู 
พระประธานแห่ง..."พุทธอุทยานนครสวรรค์"

พระพุทธศรีสัพพัญญู พระประธานแห่ง..."พุทธอุทยานนครสวรรค์"

11 ส.ค. 2553

เนื่องในปีมหามงคล พุทธศักราช ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และพ.ศ. ๒๕๕๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และจากนโยบายของคณะรัฐมนตรี ด้านพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ ส่งเสริมบทบาทของคณะสงฆ

  คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม ได้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่จะสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัดเฉลิมพระเกียรติ ในการนี้ จ.นครสวรรค์ เป็น ๑ ใน ๙ จังหวัด ที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการ ทั้งนี้ คณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวนครสวรรค์ ได้ดำเนินการจัดสร้างพุทธอุทยาน นครสวรรค์ และจัดสร้างพระประธานพุทธอุทยาน หล่อด้วยโลหะใหญ่ที่สุด ขนาดหน้าตัก ๑๘ เมตร หน้าตัก (๙ วา เมตรหรือ ๓๖ ศอก) โดยได้รับการขนานามว่า "พระพุทธศรีสัพพัญญู" เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรย่อพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดิษฐานที่ด้านหน้าพุทธบัลลังก์ องค์พระประธานพุทธอุทยาน

 "เพื่อเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม พักผ่อนด้านร่างกายและจิตใจของประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษา ค้นคว้าวิจัยพระพุทธศาสนาในเขตภาคเหนือตอนล่าง  ภาคกลางตอนบน และเพื่อเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการพระพุทธศาสนา สามารถประยุกต์เข้ากับศาสตร์ต่างๆ มีความเป็นผู้นำทางจิตใจและปัญญา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ใฝ่คิด มีโลกทัศน์กว้างไกล มีศรัทธาที่จะอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา มีคุณธรรมจริยธรรม เสียสละเพื่อส่วนรวม ด้วยรูปแบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นมาตรฐานสากล" นี่เป็นวัตถุประสงค์การจัดสร้างพุทธอุทยานนครสวรรค์ จากคำบอกเล่าของ พระเทพปริยัติเมธี เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์

 ความเป็นมาของการจัดสร้างพุทธอุทยานนครสวรรค์ พระเทพปริยัติเมธี บอกว่า เมื่อต้นปี ๒๕๔๘ คุณนงลักษณ์ ภัทรประสิทธิ์ และครอบครัว พร้อมเครือญาติตระกูล "ภัทรประสิทธิ์" ได้แสดงความจำนงขอบริจาคที่ดิน ๓๐๐ ไร่เศษ ในพื้นที่ ต.นครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ออกเพื่อใช้ในกิจการพระพุทธศาสนา ตามเจตนารมณ์ของ คุณวิศาล ภัทรประสิทธิ์ ที่เสียชีวิตก่อน และได้ประกอบพิธีถวายที่ดินอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๘

 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ดำเนินโครงการก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๘ ขณะนี้แล้วเสร็จเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ๑.วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นกลุ่มอาคารประกอบด้วย อาคารเรียน อาคารอำนวยการ หอสมุด หอประชุม และอาคารกิจกรรมอื่นๆ

 ๒.พุทธมณฑลจังหวัดนครสวรรค์ เป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับพุทธมณฑล ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ประกอบด้วย การก่อสร้างสัญลักษณ์ของสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล และก่อสร้างพระพุทธศรีสัพพัญญู

 ๓.วัดภัทรสิทธาราม เป็นวัดและศาสนสถานที่ก่อสร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของเจ้าของที่ดิน ซึ่งได้มีการก่อสร้างโบสถ์ พร้อมประดิษฐานพระประธานรูปเหมือนหลวงพ่อเพชร ขนาดหน้าตัก ๘๙ นิ้ว และศาลาการเปรียญภัทรประสิทธิ์ แล้วเสร็จ โดยได้รับบริจาคค่าก่อสร้างจากเจ้าของที่ดินตระกูลภัทรประสิทธิ์

 ๔.สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ที่สร้างขึ้นเพื่อสำนักงานจะได้อยู่เป็นที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงสถานที่ไปตามวัดเจ้าคณะจังหวัดเช่นแต่ก่อน พร้อมทั้งได้มีการก่อสร้างอาคารรับรองพระเถระผู้ใหญ่ ไว้ในบริเวณติดกัน

 และ ๕.พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม เป็นพื้นที่ตามบริเวณจุดต่างๆ ซึ่งกันไว้ อาทิ บริเวณที่จัดเป็นสวนริมสระน้ำ บริเวณส่วนป่า หรือบริเวณพื้นที่เปิดโล่ง สำหรับจัดงาน หรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

 อย่างไรก็ตาม ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ คณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ ได้กำหนดการพิธีวางศิลาฤกษ์ พิธีตอกเสาเข็มปฐมฤกษ์ สร้าง "พระพุทธศรีสัพพัญญู" และพิธีเททองหล่อองค์พระต้นแบบ "พระพุทธศรีสัพพัญญู" ขนาดหน้าตัก ๑๘๐ เซนติเมตร โดยพิธีจะเริ่มตั้งแต่ ๑๕.๐๐ น.

หลวงพ่อเดิม รุ่นชนะความจน 
  การจัดหาทุนจัดสร้าง "พระพุทธศรีสัพพัญญู" นั้น พระเทพปริยัติเมธี บอกว่า คณะสงฆ์นครสวรรค์ได้จัดสร้างวัตถุมงคลหลวงพ่อเดิม รุ่น 'ชนะความจน' ประกอบด้วย รูปหล่อบูชาขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว รูปหล่อบูชาขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว รวมทั้งรูปหล่อปั๊ม เนื้อโลหะชนิดต่างๆ ประกอบด้วย เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อทองเหลือง และเนื้ออัลปาก้า เพื่อให้ผู้ที่มีความศรัทธาเคารพนับถือหลวงพ่อเดิม ที่ยังไม่มีพระหลวงพ่อเดิมไว้บูชา ได้บูชาวัตถุมงคลหลวงพ่อเดิมไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อร่วมเป็นเจ้าภาพในการสร้างพระประธานพุทธอุทยาน

 ในการจัดสร้าง ได้ประกอบพิธี ๔ วาระด้วยกัน คือ วาระที่ ๑ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ประกอบพิธีเททองรูปเหมือน ณ วัดนครสวรรค์ วาระที่ ๒ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ประกอบพิธีมหามงคลปริตตาภิเษก ณ วัดหนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ วาระที่ ๓ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ประกอบพิธีมหามงคลสมัยปริตตาภิเษก ณ วัดนครสวรรค์ วาระที่ ๔ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ประกอบพิธีมหามงคลมหาพุทธาภิเษก ณ วัดนครสวรรค์ โดยพระเถระผู้ทรงวิทยาคุณ เช่น หลวงพ่อครูบาสายทอง จ.ตาก หลวงพ่อรวย วัดตะโก หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อครูบาน้อย จ.เชียงใหม่ และพระเถระศิษย์สายหลวงพ่อเดิม

 พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญสร้าง "พระพุทธศรีสัพพัญญู" รวมทั้งเป็นเจ้าภาพสร้างพระประธานพุทธอุทยาน ด้วยการบูชาหลวงพ่อเดิม รุ่น 'ชนะความจน' ติดต่อได้ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ  (แผนกประชาสัมพันธ์) โทร.๐-๒๔๖๗-๐๘๑๑ พุทธอุทยานนครสวรรค์ โทร.๐-๕๖๒๕-๖๒๕๕, ๐๘-๕๗๒๘-๗๒๘๒, วัดนครสวรรค์ โทร.๐-๕๖๒๒-๗๖๘๘  หรือเข้าชมความคืบหน้าของการก่อสร้างได้ที่ "www.bunsawan.com"

 "เพื่อเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม พักผ่อนด้านร่างกายและจิตใจ ของประชาชนทั่วไป"

0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0