พระเครื่อง

พล.ต.ท.พงษ์สันต์ เจียมอ่อน
ตำรวจ...นครปฐมต้องแขวนพระนครปฐม

พล.ต.ท.พงษ์สันต์ เจียมอ่อน ตำรวจ...นครปฐมต้องแขวนพระนครปฐม

07 ส.ค. 2553

"บึ้ม !!!" เสียงระเบิดซีโฟร์ดังสนั่นหวั่นไหวกึกก้องไปทั่วบริเวณสนามมวยราชดำเนิน แรงอัดจากดินขับแรงดันสูงทำให้กระจกบริเวณใกล้เคียงแตกกระจาย เศษกระจกปลิวไปทุกทิศทุกทาง ความโกลาหลเข้าครอบงำสนามมวยราชดำเนินเสียแล้ว เสียงพูดคุยเล่นหัวเมื่อแรก กลายเป็นเสียงร้อ

 นายตำรวจติดตาม และมือปืนคุ้มกัน "เฮียเหลา สวนมะลิ" เสียชีวิตจากแรงระเบิด ๒ ศพ ส่วนเฮียเหลานั้นลูกน้องพาขึ้นรถเบนซ์สีดำ หลบออกจากบริเวณนั้น หลังเสียงระเบิดดังขึ้น

 ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเหตุระเบิดสนามมวยราชดำเนิน เมื่อเวลา ๑๙.๔๕ น. ในคืนวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๒๓ หรือเมื่อ ๓๐ ปีก่อน

 ทั้งนี้ทุกฝ่ายต่างลงความเห็นว่า คนลงมือต้องการกำจัดนายแคล้ว ธนิกุล หรือที่วงการต่างๆ ที่กล่าวมาเรียกขานกันจนติดปากว่า “เฮียเหลา” เจ้าของฉายา “เจ้าพ่อ ของวงการมวย, วงการนักเลง, วงการพนัน ฯลฯ" ให้พ้นทาง เพราะคนร้ายเลือกลงมือกดรีโมทตอนที่เฮียเหลาเดินออกมาจากสนามมวย จะเป็นด้วยโชคเข้าข้างเฮียเหลา หรือเพราะชื่อดีเป็นมงคล ส่งผลให้คลาดแคล้วสมชื่อก็ตามแต่ ระเบิดทำงานช้าไปเสี้ยววินาที เฮียเหลาจึงรอดตายปาฏิหาริย์

 ในคืนวันนั้น มีคนตาย ๒ คน และนายตำรวจท่านหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ และรอดตายปาฏิหาริย์เช่นเดียวกัน คือ พล.ต.ท.พงษ์สันต์ เจียมอ่อน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๗ (ผบช.ภ.๗) ซึ่งขณะนั้นมียศเพียงร้อยตำรวจเอก ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายตำรวจติดตามนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์

 พล.ต.ท.พงษ์สันต์ เล่าว่า ในคืนนั้น ผู้คนนับร้อยส่วนใหญ่เป็นเซียนมวย ทยอยเดินตามกันออกมาแล้ว อยู่ๆ ก็มีเสียงระเบิดดังขึ้น ด้วยแรงอัดของระเบิดทำให้ตัวเองล้มทั้งยืน นับเป็นความโชคดีที่ยืนหันหลังให้ทิศทางของระเบิด สะเก็ดระเบิดจึงเข้าด้านหลัง จากนั้นก็ถูกหามส่งโรงพยาบาล เช่นเดียวกับผู้บาดเจ็บรายอื่นๆ แม้ว่าแพทย์จากผ่าตัดเอาสะเก็ดระเบิดออกได้ แต่มีอยู่หลายชิ้นที่ยังติดอยู่ที่หลังและก้น มาจนถึงทุกวันนี้

 สำหรับเหตุผลที่ทำให้รอดตายอย่างปาฏิหาริย์นั้น พล.ต.ท.พงษ์สันต์ บอกว่า มีเหตุปัจจัยหลายส่วนประกอบกัน แน่นอนที่สุดว่า ส่วนหนึ่งต้องเกิดจากกรรมดี ทั้งที่สร้างไว้เมื่ออดีตชาติและชาติปัจจุบัน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว เชื่อเรื่องกรรมที่ว่า ใครสร้างกรรมดีย่อมได้ดีเป็นผลตอบแทน ในขณะที่ใครสร้างกรรมชั่ว ย่อมไม่ได้ดี ทุกครั้งที่เกิดเหตุไม่ดีกับใครก็ตาม คนส่วนใหญ่มักโทษเหตุปัจจัยภายนอกเป็นอันดับแรก ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว ต้องดูตัวเองก่อนว่า ได้สร้างกรรมดีหรือทำกรรมเวรอะไรไว้บ้าง เพราะเวลาที่เวรกรรมออกฤทธิ์ ทำให้ผู้ทำเวรกรรมนั้นประสบอันตราย หรือได้รับความทุกข์วิบัติต่างๆ เจ้าตัวมักจะไม่รู้ตัวว่า ที่เป็นดังนี้เพราะผลกรรมที่ตนทำไว้  หรืออาจไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ กลับโทษโน่นโทษนี่ไปตามเรื่อง ด้วยเหตุดังนี้แหละ จึงทำให้คนทั่วไปไม่อายชั่วกลัวบาปกันนัก จึงได้ประกอบกรรมทำเข็ญกันไปต่างๆ โดยไม่กลัวเกรงอะไร
 
 เมื่อถามถึงพระเครื่องที่แขวนติดตัวเป็นประจำ พล.ต.ท.พงษ์สันต์ บอกว่า ส่วนใหญ่เป็นพระสายนครปฐม และที่ขาดไม่ได้ คือ พระหลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ หรือพระราชธรรมาภรณ์ วัดดอนยายหอม เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม ยอดพระเกจิอาจารย์ของเมืองไทย เท่าที่ศึกษาประวัติ ท่านเป็นพระนักพัฒนา และเป็นที่พึ่งของชาวบ้านดอนยายหอม ท่านเป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติปฏิปทางดงามน่าเคารพเลื่อมใสสักการบูชาเป็นอย่างยิ่ง

 ทางด้านวัตถุมงคลพระเครื่อง หรือวัตถุมงคลที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสก พุทธคุณสูงทางด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และเปี่ยมไปด้วยเมตตามหานิยมเป็นอย่างยิ่ง

 วัตถุมงคลของท่านนั้น เป็นที่ยอมรับว่า พุทธคุณนั้นเชื่อถือได้ เนื่องด้วยประสบการณ์ที่ผู้ใช้บูชาประสบพบเจอมา และหลายครั้งหลายเหตุการณ์ บนหนังสือพิมพ์หรือเล่ากันปากต่อปาก

ประกวดพระเพื่อลูกตำรวจ
 "เพื่อหารายได้ช่วยเหลือกิจกรรม และเป็นสวัสดิการแก่ครอบครัวข้าราชการตำรวจสังกัดตำรวจภูธรภาค ๗ ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ สนับสนุนการศึกษาบุตรธิดาข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค ๗  ช่วยเหลือครอบครัวข้าราชการตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งนำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนางานตำรวจให้มีขีดความสามารถ ทั้งประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน และการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของตำรวจสังกัดภูธรภาค ๗ ยิ่งขึ้น และกิจกรรม สาธารณประโยชน์อื่นๆ"

 ที่กล่าวมาข้างต้น คือ วัตุประสงค์หลักในการจัดงานการประกวดการอนุรักษ์พระเครื่องพระบูชา และเหรียญคณาจารย์ ของตำรวจภูธรภาค ๗ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม ณ หอประชุมชุณหะวัณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. จากคำบอกเล่าของ พล.ต.ท.พงษ์สันต์

 งานประกวดพระ-ตำรวจภูธรภาค ๗ ปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ ๗ โดยการริเริ่มของ พล.ต.ท.ชัยยันต์ มะกล่ำทอง สมัยที่เป็น ผบช.ภ.๗ ต่อเนื่องมาถึงสมัย พล.ต.ท.พิชิต ควรเดชะคุปต์ พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.ภ.๗ พล.ต.ท.ถวิล สุรเชษฐพงษ์ ผบช.ภ.๗ และ พล.ต.ท.พงษ์สันต์ เจียมอ่อน ผบช.ภ.๗ คนปัจจุบัน

  อย่างไรก็ตาม ในงานวันแถลงข่าวการจัดงานนั้น ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์ โรงแรมเวล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ตำรวจภูธรภาค ๗ จัดให้มีการมอบทุนการศึกษา ให้แก่บุตรธิดาข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค ๗  ซึ่งเป็นรายได้จากการประกวดพระเครื่อง เมื่อปีที่แล้ว

 ส่วนเงื่อนไขในการมอบทุน พล.ต.ท.พงษ์สันต์ บอกว่า ตั้งไว้ ๒ ประเภท คือ ทุนสำหรับการศึกษาชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษา มอบให้ปีละ ๒ หมื่นบาท ส่วนระดับมัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับปริญญาตรี มอบให้ปีละ ๔ หมื่นบาท  ซึ่งในปี ๒๕๕๑ และ ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา มีการมอบทุนไปแล้วจำนวน ๑๑๙  ทุน เป็นเงินจำนวนเกือบ ๔ ล้านบาท ทั้งนี้ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ๗ จะให้การสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกปี จนกว่าผู้ได้รับทุนจะเรียนจบระดับชั้นปริญญาตรี

 "ทุกครั้งที่เกิดเหตุไม่ดีกับใครก็ตาม คนส่วนใหญ่มักโทษเหตุปัจจัยภายนอกเป็นอันดับแรก ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว ต้องดูตัวเองก่อน ได้สร้างกรรมดีหรือทำกรรมเวรอะไรไว้บ้าง เพราะเวลาที่เวรกรรมออกฤทธิ์ เจ้าตัวมักจะไม่รู้ตัว"

เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"