พระเครื่อง

“วิถีพุทธแห่งแดนใต้"
ในวันที่...แสงเทียนพรรษาไม่อับแสง

“วิถีพุทธแห่งแดนใต้" ในวันที่...แสงเทียนพรรษาไม่อับแสง

27 ก.ค. 2553

ภาพการ “ถวายเทียนพรรษา” ที่มีขบวนกลองยาวของ “ชาวพุทธ” แห่เทียนเพื่อนำไปถวายวัดใกล้บ้าน ตลอดจนการจัดประเพณีแห่เทียนอย่างเอิกเกริก อาทิ งานแห่เทียนที่ จ.อุบลราชธานี จ.นครราชสีมา ที่เรียกความสนใจได้แทบทุกครั้ง หรือกระทั่งภาพแห่งความชื่นมื่นของพุทธศาสนิกชนที่

  แต่บรรยากาศเหล่านี้กลับสวนทางกับความเป็นไปในเทศกาลเข้าพรรษา ณ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แทบสิ้นเชิง โดยเฉพาะในบางจุดของ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกขานกันติดปากว่า พื้นที่ “สีแดง” เพราะปัจจัยอันเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ทำให้พุทธบริษัทในดินแดนแห่งนี้ต้องขับเคลื่อนกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาให้เป็นไปอย่างเรียบง่าย และเน้นความปลอดภัยให้แก่ทุกฝ่ายมากที่สุด เพื่อร่วมสืบทอดพระพุทธศาสนาในพื้นที่ปลายด้ามขวานให้ปรากฏและคงอยู่สืบไป แม้จำนวนผู้คนจะบางตา รวมถึงพิธีกรรมทางศาสนาจะต้องเน้นความกระชับ ฉับไว เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ในพื้นที่มากที่สุดก็ตาม 

  "การถวายเทียนพรรษาในวัดชายแดนภาคใต้ในระยะหลังๆ มักจะมีเพียงหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งข้าราชการ ตำรวจ และทหารเท่านั้นที่จะนำมาถวายวัด ส่วนชาวบ้านที่เคยหล่อเทียนแล้วทำพิธีฉลองก่อนแห่แหนมาถวายวัด นับวันจะยิ่งหาได้ยาก เพราะเหตุผลของความไม่ปลอดภัย ทำให้บางแห่งมีเพียงการ “ซื้อเทียน” พรรษาสำเร็จรูปมาถวายพระเท่านั้น แต่อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นที่ได้รู้ว่าชาวพุทธเข้าใจและรู้ถึงความสำคัญของการถวายเทียนพรรษาเป็นอย่างดี แต่ด้วยความจำเป็นบางอย่างทำให้พุทธบริษัทในพื้นที่ ๓ จังหวัดต้องปรับเปลี่ยนพิธีการต่างๆ ซึ่งอาจแตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นๆ" นี่คือภาพการถวายเทียนพรรษาจากคำบอกเล่าของ พระครูวิเชียรกิติคุณ กิตติญาโณ เจ้าอาวาสวัดวชิรปราการ อ.รามัน จ.ยะลา  

 พร้อมกันนี้ พระครูวิเชียรกิติคุณ ยังบอกด้วยว่า ทุกวันนี้ทางวัดพยายามคงเอกลักษณ์ในงานบุญเข้าพรรษา โดยเฉพาะการถวายเทียนให้เหมือนเมื่อครั้งวันวานให้ได้มากที่สุด แม้ว่าจะต้องลด หรือตัดขั้นตอนพิธีการบางอย่างออกไป เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในเรื่องมาตรการความปลอดภัยในช่วงระหว่างการเดินทางไป-กลับวัด  ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ไทยพุทธในพื้นที่ลดจำนวนลงมาก แม้ว่าชาวพุทธที่เหลือเพียงหยิบมือเดียว แต่ต้องรักษาเอกลักษณ์ในพิธีทางศาสนาให้คงเดิมมากที่สุด

 ด้าน พระครูบุญญาธรณ์ เจ้าอาวาสวัดศรีสาคร จ.นราธิวาส กล่าวว่า ในวันเข้าพรรษาปีนี้ วัดแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางของวัดในจังหวัด โดยวัดอื่นในพื้นที่นับสิบแห่ง จะเดินทางมารับเทียนพรรษาที่วัดศรีสาคร ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคมนี้ โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยให้แก่วงการสงฆ์ในพื้นที่ รวมถึงสะดวกในการดูแลประชาชนและพุทธศาสนิกชนในการเดินทางมาร่วมทำบุญในจุดเดียวกัน เจ้าอาวาสวัดศรีสาคร กล่าวต่อว่า นอกจากการถวายเทียนพรรษาแก่วัดบางแห่งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้จะต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษแล้ว วัดอีกจำนวนไม่น้อยจะต้องเร่งหาพระมาจำวัดได้ให้อย่างน้อย ๕ รูป เฉกเช่นวัดศรีสาครแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันมีพระเพียง ๓ รูป แต่คาดว่า ถึงวันเข้าพรรษาจะมีชาวบ้านในพื้นที่อีก ๓ ราย ร่วมบวชเทิดพระเกียรติฯ ซึ่งจะช่วยทำให้มีพระครบองค์พอดี

 ในขณะที่ พระครูปราโมทย์สีตคุณ เจ้าอาวาสวัดทรายขาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า สำหรับวันเข้าพรรษาปีนี้ ชาวบ้านยังนำเทียนพรรษามาถวายเฉกเช่นทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากที่ตั้งของวัดอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีความสมัครสมานสามัคคีของพี่น้องไทยพุทธกับมุสลิมอย่างกลมเกลียว ทำให้กิจกรรมทางศาสนาใดๆ ก็ตาม ยังสามารถดำเนินไปได้เหมือนในอดีต แม้ว่าในบางครั้งอาจปรับเรื่องเวลาที่เหมาะสมเพื่อเอื้อต่อการประกอบพิธีให้เป็นไปอย่างปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย 

 เจ้าอาวาสวัดทรายขาว กล่าวต่อว่า ไม่ว่าสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้จะเป็นเช่นใด แต่หากพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่ายังคงความกลมเกลียว และรักใคร่อย่างเข้มแข็ง จะเป็นเสมือน “ไม้ค้ำจุน” พระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป และที่สำคัญเป็นดั่งการเพิ่มแสงสว่างให้แรงกล้า เพื่อให้เหล่าพระภิกษุสงฆ์ และสามเณรสามารถศึกษาปฏิบัติธรรมในศาสนสถานได้อย่างเต็มที่ตลอด ๓ เดือน

  เช่นเดียวกับ พระครูโสภิตโพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีมหาโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า วันเข้าพรรษา คือหนึ่งในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธในพื้นที่จะต้องสืบสานให้คงอยู่ เพราะถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญที่จะเกื้อหนุนให้คำสอนของพระพุทธองค์ยังคงอยู่เพื่อเผยแผ่แก่สาธุชนในพื้นที่แห่งนี้สืบไป 

 “การถวายเทียนพรรษาในวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะไม่คึกคักมากนัก หากเทียบกับพื้นที่อื่น แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิบัติอย่างสืบเนื่องทุกปี เพื่ออย่างน้อยเชื่อว่าแสงสว่างแห่งเทียนช่วยให้พระภิกษุสามเณรได้มีแสงสว่างในการศึกษาพระธรรมในห้วง ๓ เดือน ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล” พระครูโสภิตโพธิคุณ กล่าว 

เข้าพรรษาที่นครยะลา
 เทศบาลนครยะลา เป็นหน่วยงานหนึ่งที่จัดพิธีหล่อเทียนพรรษา สืบสานวัฒนธรรมไทย มาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยทุกครั้งจะมีพุทธศาสนิกชนทั้งรุ่นเล็ก และรุ่นใหญ่ในพื้นที่เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

 และปีนี้ก็เช่นเดียวกัน นายพง์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเล็กแห่งเมืองยะลา ยังคงดำเนินกิจกรรมเฉกเช่นเดิม โดยจัดให้มีพิธีหล่อเทียนพรรษา จำนวน ๑๙  ต้น อีกทั้งทุกขั้นตอนยังคงจัดพิธีหล่อเทียนในแบบดั้งเดิม โดยการหล่อเทียนจะใช้ขี้ผึ้งนำมาหล่อเพื่อหวังให้ชาวพุทธได้เรียนรู้ขนบและประเพณีที่บรรพชนเคยปฏิบัติและร่วมบำเพ็ญกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

 โดยหลังพิธีหล่อเทียนยังได้จัดสมโภชเทียนพรรษา ก่อนนำเทียนพรรษาไปถวายยังวัดต่างๆ ซึ่งถือเป็นงานกุศลอย่างหนึ่งของการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา สว่างไสวและเป็นการอนุรักษ์ประเพณีทางพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป 

 เช่นเดียวกับหน่วยงานทหาร นำโดย พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ หทาร (พตท.) ที่ยังคงเน้นการทำบุญด้วยการเดินหน้าถวายเทียนพรรษามอบให้วัดในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัดที่ตั้งในพื้นที่สีแดงทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งยืนยันว่าต้องเข้าไปให้ถึงทุกวัด เพื่อมอบเทียนพรรษาให้วัดได้ดำรงไว้ซึ่งวิถีแห่งพุทธให้ได้ เนื่องจากแสงแห่งเทียนเปรียบเสมือนแสงแห่งธรรมที่จะช่วยพุทธศาสนาคงอยู่สืบไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

 "หากพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่ายังคงความกลมเกลียว และรักใคร่อย่างเข้มแข็ง จะเป็นเสมือนไม้ค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป และที่สำคัญเป็นดั่งการเพิ่มแสงสว่างให้แรงกล้า"

๐ เรื่อง / ภาพ สุพิชฌาย์ รัตนะ สำนักข่าวเนชั่นภาคใต้ ๐