
พระพุทธชินราช ใบมะยม กรุวัดอรัญญิก จ.พิษณุโลก เนื้อชินเงิน
เมืองพิษณุโลก เป็นเมืองพระที่มีความสำคัญ และยิ่งใหญ่เมืองหนึ่ง ในสมัยกรุงสุโขทัย โดยเฉพาะด้านพระพุทธศาสนา เมืองนี้มีพระเครื่องประเภทพระกรุมากมาย รวมทั้งพระพุทธรูปสำคัญๆ ที่มีความงดงามหลายองค์ โดยเฉพาะ พระพุทธชินราช ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเมืองไทย
พระพุทธชินราช หรือ หลวงพ่อใหญ่ ประดิษฐาน ณ พระวิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์ ปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย มีความกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว ความสูง ๗ ศอก
แต่เดิมไม่ได้ลงรักปิดทอง ต่อมาได้มีการปิดทองครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ คราวเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช
พระพุทธชินราช จัดเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทยองค์หนึ่ง ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้ชะลอมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่ทรงรับฟังคำทูลขอร้องของชาวพิษณุโลก ที่ว่าพระพุทธชินราชองค์นี้เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง จึงทรงตัดสินพระทัย ไม่ได้อัญเชิญพระพุทธชินราช ลงมากรุงเทพฯ แต่ทรงให้หล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) ขึ้นมาแทน คือองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในทุกวันนี้
จากพุทธลักษณะของ พระพุทธชินราช ซึ่งมีความงดงามมาก เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผู้คนกล่าวขวัญถึงว่า พระพุทธชินราชมีพุทธศิลป์แตกต่างไปจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยสมัยอื่นๆ กล่าวคือ มี...พระเกศรัศมียาวเป็นเปลวเพลิง และวงพระพักตร์ค่อนข้างกลม ไม่ยาวรีเหมือนพระพุทธรูปยุคศิลปะสุโขทัยองค์อื่นๆ ยิ่งเมื่อเสริมกับซุ้มเรือนแก้ว ที่สลักและลงรักปิดทองประดับเบื้องพระปฤษฎางค์ ซึ่งเสมือนเป็นรัศมีรอบๆ ยิ่งช่วยขับองค์พระให้โดดเด่น แลดูเหมือนองค์พระพุทธเปล่งรัศมีออกมา
พุทธลักษณะเด่นต่างๆ ทำให้พระพุทธชินราชได้รับการจัดให้เป็น พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดพิเศษ โดยตั้งชื่อหมวดตามชื่อขององค์พระคือ หมวดพระพุทธชินราช นั่นเอง นับเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีลักษณะงดงามที่สุดในโลก...นี่เป็นคำกล่าวขานกันในแวดวงศิลปะและโบราณคดีไทย
เมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ยุคสมัยโบราณมา จึงมีการสร้างพระเครื่อง พระพิมพ์พระพุทธชินราช ขึ้นไว้ตามวัดต่างๆ หลายวัด โดยบรรจุลงกรุไว้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น พระยอดนิยม พระพุทธชินราช ใบเสมา กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เนื้อชินเงิน ที่ได้รับเกียรติบรรจุไว้ในชุดเบญจภาคีพระเนื้อชินยอดนิยม และวัดอื่นๆ ภายในเมืองพิษณุโลก ก็มีการสร้างพระเครื่องพิมพ์พระพุทธชินราช เช่นเดียวกัน
มีพระอยู่พิมพ์หนึ่ง ที่อยู่ในยุคการสร้างใกล้เคียงกัน เป็นพระยอดนิยมที่หายาก และสามารถใช้บูชาแทน พระพุทธชินราชใบเสมา ได้เช่นเดียวกัน คือ พระพุทธชินราช ใบมะยม
พระพุทธชินราช ใบมะยม เป็นพระกรุวัดอรัญญิก เนื้อชินเงิน จ.พิษณุโลก ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑ กม. อารามแห่งนี้เข้าใจว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยยุคปลาย หรือในระยะเดียวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นั่นเอง เป็นวัดป่าที่พระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานจำพรรษา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระสงฆ์ผู้มีพลังจิตสูง การปลุกเสกพระเครื่องจึงย่อมเข้มขลังเป็นพิเศษ
พระเครื่องกรุวัดอรัญญิก แตกกรุออกมาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ และอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา โดยฝีมือขบวนการลักขุดทั้งสิ้น จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงได้มีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการครั้งใหญ่ขึ้น ต่อมาหลังจาก พ.ศ.๒๕๐๐ ก็ยังมีการขุดพบพระเครื่องอีกเป็นจำนวนมาก มีจำนวนพิมพ์มากกว่า ๒๐ พิมพ์ และที่มีมากที่สุด คือ พระซุ้มเสมาทิศ (พระซุ้มระฆัง) นอกจากนี้ยังขุดพบ พระพุทธชินราชใบมะยม ซึ่งเป็นพระที่มีขนาดเล็กกว่าพระพุทธชินราชใบเสมา อีกด้วย
พุทธลักษณะ พระพุทธชินราชใบมะยม เป็นพระเครื่องที่จำลองแบบพิมพ์มาจากพระพุทธชินราชองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธาน ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่) จ.พิษณุโลก มาไว้ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่วขนาดเล็ก โดยเน้นลักษณะองค์พระเป็นลายเส้นนูนเหมือนภาพลายเส้น
ด้านหลังองค์พระ เรียบตรง มีลายผ้าลายเล็กละเอียดปรากฏทั่วไป ราคาเช่าหา สภาพพอใช้หลักหมื่นต้นๆ ถ้าเป็นพระสภาพสวย ลวดลายเส้นสายคมชัด ราคาจะถึงหลักหมื่นกลาง
ขนาดองค์พระกว้างประมาณ ๑.๖๐ ซม. สูง ๒.๗๐ ซม. พุทธคุณสุดยอดแห่งความเป็นสิริมงคลด้านโชคลาภ การค้าขาย อีกทั้งแคล้วคลาด ปลอดภัยจากสรรพสิ่งทั้งปวงเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์องค์ พระพุทธชินราช หรือ หลวงพ่อใหญ่ องค์ต้นแบบในการสร้างพระเครื่อง พิมพ์พระพุทธชินราช มีหลายครั้ง อาทิ สมัยกรุงศรีอยุธยา โดย สมเด็จพระเอกาทศรถ สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ ทรงบูรณะโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินบริจาคของประชาชนที่ศรัทธา เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ กับการบูรณะครั้งล่าสุด ที่ดำเนินการเมื่อต้นปี ๒๕๔๗ โดยทางวัดและสำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช กรมศิลปากร แถลงร่วมกันว่า...เกิดการชำรุดเสียหายที่องค์พระ ทองที่ปิดไว้ถลอก มีรอยขูดขีด บริเวณที่ลงรักมีร่องรอยการแตก จึงต้องมีการซ่อมเแซม
หลังจากบูรณะแล้ว มีข่าวลือเกี่ยวกับองค์พระพุทธชินราชว่า พระเกศเปลี่ยนไป บ้างก็ว่า พระเกศหายไป แท้จริงแล้วเป็นเพียง ปรากฏการณ์แสงและเงา มากกว่า
สรุปคือ พุทธลักษณะ พระพุทธชินราช ยังงดงามเหมือนเดิม คงเป็นเพราะมีการทำให้เกิด แสง และ เงา เนื่องจากมีการเปลี่ยนใช้ไฟสปอตไลท์ที่ฉายจับแบบที่ไม่ก่อให้เกิดความร้อนต่อองค์พระ เพื่อเป็นการระบายความร้อนในองค์พระ ซึ่งหากองค์พระภายในเกิดความร้อนมากเกินไป อาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้องค์พระระเบิด หรือทำให้ทองคำ ละลายได้นั่นเอง
ข่าวลือที่ว่า พระเกศเปลี่ยนไป หรือ พระเกศหายไป จึงเป็นเพียง ปาฏิหาริย์ไฮเทค เท่านั้น
"ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ"