
"กาฬทวีป" ในวันที่...สงฆ์สาวกเดินทางไปถึง
วันนี้ถ้าไม่พูดถึงทวีปแอฟริกา หรือ กาฬทวีป ก็เห็นว่าน่าจะเชย โดยเฉพาะประเทศแอฟริกาใต้ (The Republic of South Africa) ดินแดนที่อัศจรรย์ ที่ทำให้คนทั้งโลกสะท้านสะเทือน ต้องหมกมุ่นอยู่หน้าจอทีวีติดตามความเคลื่อนไหว ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ป
ทวีปแอฟริกา เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ ๒ ของโลก รองจากทวีปเอเชีย ทั้งในด้านของพื้นที่และจำนวนประชากร มีพื้นที่ ๓๐,๒๔๔,๐๕๐ ตารางกิโลเมตร รวมหมู่เกาะที่อยู่ใกล้ หรือคิดเป็นพื้นที่ ๒๐.๓๐% ของพื้นดินบนโลก และมีประชากรรวมมากกว่า ๘๐๐ ล้านคน ใน ๕๔ ประเทศ หรือคิดเป็น ๑ ใน ๗ ของประชากรทั่วโลก
ประชากรส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกายังมีความเชื่อและปฏิบัติตามความเชื่อนั้นสืบต่อกันตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน เช่น เรื่องจิตวิญญาณ อำนาจของดวงดาว ภูเขา ต้นไม้ สิ่งมหัศจรรย์ เป็นต้น
ส่วนศาสนาที่นับถือกันมาก ได้แก่ ศาสนาคริสต์ มีผู้นับถือมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ยังมีชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาใหม่นับถือศาสนาฮินดู รวมทั้งศาสนายิวก็มีผู้นับถืออยู่บ้าง
ส่วนการนับถือพระพุทธศาสนานั้น พระครูวิเทศพรหมคุณ (พระ ดร.มหาวินัย) เจ้าอาวาสวัดพรหมคุณาราม (Wat Promkunaram) เมืองฟินิกซ์ รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา บอกว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเริ่มเข้าไปสู่ประเทศแอฟริกาใต้ โดย ท่านฮุย ลิ ได้ก่อตั้งชมรมพุทธศาสนิกชนในแอฟริกาขึ้น และเปิดคอร์สอบรมสำหรับผู้ที่สนใจในพุทธศาสนา ซึ่งในปัจจุบันมีนักเรียนเกือบ ๒๐๐ คน อายุระหว่าง ๑๘-๓๐ ปี จากประเทศต่างๆ ในแอฟริกา เช่น คองโก เคนยา มาลาวี รวันดา และซิมบับเว เป็นต้น
ทั้งนี้นักเรียนที่เข้าร่วมอบรมจะอาศัยอยู่ในวัดและปฏิบัติพรหมจรรย์เช่นพระภิกษุสงฆ์เป็นเวลานานถึง ๓ ปี เพื่อที่จะศึกษาหลักธรรมทางพุทธศาสนาให้ถ่องแท้ จนสามารถนำไปปฏิบัติและเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นได้
ในปีแรกนั้น สอนหลักเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา ปีต่อมานักศึกษาจะได้เรียนรู้ภาษาจีนและวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตแบบตะวันออก และปีสุดท้ายจะได้ศึกษาปรัชญาขั้นสูงเกี่ยวกับพุทธศาสนาและการนำไปประยุกต์ใช้
หลังจากเรียนจบแล้ว นักศึกษาสามารถไปปฏิบัติธรรมต่อที่ไต้หวัน หรือจะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติที่บ้านเกิดของตน โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ กับชมรมพุทธศาสนิกชนในแอฟริกา
สำหรับพระภิกษุรูปแรกของทวีปแอฟริกา คือ พระฮุย หลาน ฟา ซึ่งเป็นชาวคองโกที่สนใจในพุทธศาสนามานาน ท่านใช้เวลาศึกษาธรรมะที่วัดในประเทศจีนป็นเวลา ๒ ปี ก่อนจะไปศึกษาต่อที่ไต้หวันอีก ๓ ปีเต็ม และเข้าพิธีบวชที่วัดพุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งมีหลายคนที่นั่นค่อนข้างจะแปลกใจ เมื่อเห็นชาวแอฟริกันครองผ้าเหลือง
"วัดพุทธแห่งแรกในทวีปแอฟริกา คือ วัดหนานฮวา โดยหลวงพ่อฮุย ลิ จากไต้หวัน อาสาเป็นผู้นำในการก่อตั้งวัดหนานฮวา ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ และเปิดอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๙ วัดแห่งนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา เพื่อวางรากฐานการสืบทอดพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นในแอฟริกาอย่างยั่งยืน มีการนำพระธรรมมาเผยแผ่แก่ชาวแอฟริกันให้เป็นที่รู้จัก จัดพิธีบวชพระภิกษุและสามเณร รวมทั้งแปลพระไตรปิฎกและคำสอนที่สำคัญ" พระ ดร.มหาวินัยกล่าว
พร้อมกันนี้ พระ ดร.มหาวินัย ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของพระธรรมทูตจากประเทศไทยนั้น วัดพระธรรมกาย โดย พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้ส่งลูกศิษย์เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทวีปแอฟริกา ซึ่งลูกศิษย์ได้ปรารภถึงท่านไว้ว่า ท่านมีความรัก ความปรารถนาดีที่จะให้คนทั้งโลกพบกับสันติสุขที่แท้จริง จึงได้ส่งพุทธบุตรไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา นำสารแห่งรักที่แท้จริงแจ้งแก่ผู้คนทั่วโลก จากจุดเริ่มต้นที่มีพระสงฆ์เดินทางไปสอนสมาธิที่ประเทศแอฟริกาใต้ ทำให้มีผู้คนได้เข้าถึงสันติสุขภายใน ก่อให้เกิดความรู้สึกที่อยากจะแบ่งปัน และเกิดการชักชวนบุคคลผู้เป็นที่รักของตนให้มาปฏิบัติธรรม เพื่อการเข้าถึงความสุขแท้จำนวนมากมาย แล้ววันนี้ความรักจึงเป็นดั่งดวงตะวันภายในที่เปล่งแสงสว่างไปทั่วดินแดนแอฟริกาใต้ ภายใต้ชื่อ วัดพุทธโยฮันเนสเบิร์ก
หลวงพี่จากอูกันดา
พระภิกษุ พุทธรักขิต (Most Ven. Bhikkhu Buddharakkhita) จากประเทศอูกันดา ทวีปแอฟริกา เป็นพระสงฆ์ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการวางรากฐานพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาเป็นรุ่นแรก และเป็นพระสงฆ์เถรวาทเป็นรูปแรกในทวีปแอฟริกา ซึ่งถือว่าเป็นทวีปที่ใหญ่รองจากทวีปเอเชีย และมีกลุ่มประชากรโลกจำนวนมาก ที่พร้อมจะรับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำใจ หรือประจำชาติในอนาคต
ทุกครั้งที่ท่านพุทธรักขิตเดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจในประเทศไทย จะต้องเดินทางไปกราบนมัสการ พระเทพปริยัติวิมล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นพิเศษ เนื่องจากการร่วมประชุมด้วยกันหลายครั้ง อาทิ การประชุมสุดยอดผู้นำพุทธศาสนาแห่งโลก ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑-๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ ที่หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร โดยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพฝ่ายไทย การประชุมสุดยอดผู้นำพุทธศาสนาแห่งโลกครั้งที่ ๕ ณ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๓๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ นอกจากนั้นก็ยังเคยร่วมประชุมในประเทศจีน พม่า เวียดนาม เป็นต้น
ปัจจุบันท่านพุทธรักขิต เป็นพระภิกษุที่บวชฝ่ายเถรวาท และประจำอยู่ ณ ประเทศอูกันดา เป็นรูปแรก และมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสั่งสอนประชาชนชาวอูกานดาให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีบทบาทสำคัญในเวทีระดับโลกทั้งนิกายเถรวาทและมหายาน ได้เป็นตัวแทนพระสงฆ์อูกันดาเดินทางไปประชุมยังประเทศต่างๆ บ่อยครั้ง จนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
พระเทพปริยัติวิมล บอกว่า "การเดินทางมาของท่านพุทธรักขิต ถือว่าเป็นส่วนให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และพระสงฆ์ในพุทธศาสนานิกายเถรวาทในประเทศอูกันดา เป็นส่วนสำคัญให้เกิดความร่วมมือสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เกิดความมั่นคง แผ่ขยายออกไปในทวีปแอฟริกา เกิดมิตรไมตรีระหว่างประชาชนชาวพุทธทั้งสองประเทศ ความเป็นกัลยาณมิตรย่อมนำไปสู่ความร่วมมือและการพัฒนาทั้งในส่วน มมร. และพระพุทธศาสนาในประเทศอูกันดาไปด้วยกัน"
"วัดพุทธแห่งแรกในทวีปแอฟริกา คือ วัดหนานฮวา ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา เพื่อวางรากฐานการสืบทอดพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นในแอฟริกาอย่างยั่งยืน"
0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0