
พระกำแพงเข็ม กรุวัดพระแก้ว เนื้อชินเงิน จ.กำแพงเพชร
โบราณสถาน ที่ใหญ่และกว้างขวางที่สุด ภายในกำแพงของเมืองกำแพงเพชร คือ วัดพระแก้ว วัดนี้มีขนาดกว้างประมาณ ๑๕๐ เมตร และยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร วัดนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางเมือง แต่ใกล้ไปข้างทิศตะวันตกของกำแพงเมือง
วัดพระแก้ว สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และอยู่ห่างจากวัดพระธาตุประมาณ ๑๐๐ เมตร
ชื่อ วัดพระแก้ว นี้เรียกกันมาแต่เดิม เพราะในตำนาน พระแก้วมรกต กล่าวว่า ในสมัยอยุธยาวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต
ถ้าพระแก้วมรกตได้มาประดิษฐานอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรจริง ก็น่าจะต้องอยู่บนบุษบกที่ย่อมุมอย่างงดงามนี้ โดยสร้างไว้บนพื้นยกสูงกว้างใหญ่มาก ด้านหน้าของบุษบกเป็นแท่นสูงใหญ่ ข้างบนยกพื้นสี่เหลี่ยม เข้าใจว่าเดิมอาจจะเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
ติดกับแท่นใหญ่นี้เป็นโบสถ์ มีใบเสมาทำด้วยหินชนวนอยู่ล้อมรอบ เป็นใบเสมาเกลี้ยงๆ มีขนาดใหญ่ ไม่มีลวดลายอะไร
ภายในโบสถ์ วัดพระแก้ว มีพระประธานขนาดใหญ่ ที่เดิมหักครึ่งซีก และล้มอยู่ แต่ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
โบสถ์หลังนี้มีการก่อสร้างเป็น ๒ สมัย คือ สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา เป็นไปได้ว่า ในสมัยเดิม โบสถ์หลังนี้คงเป็นวิหาร ต่อมาได้รับการดัดแปลงเป็นโบสถ์ในสมัยอยุธยา
ด้านหลังโบสถ์เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ฐานแปดเหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ฐานบนเหนือฐานแปดเหลี่ยมมีซุ้มพระพุทธรูปปูนปั้นโดยรอบ พระพุทธรูปเหล่านี้ไม่มีเศียร รอบฐานสี่เหลี่ยมมีซุ้มปูนปั้นรูปสิงห์โดยรอบ มีจำนวน ๓๒ ตัว เฉพาะตัวมุมมีขนาดใหญ่กว่าตัวอื่น
ถัดจากวิหารใหญ่นี้ไปเบื้องหลังตามแนวยาว มีกำแพงล้อมรอบ ตรงกลางเป็นเจดีย์กลมทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม มีช้างล้อมอยู่โดยรอบ จำนวน ๓๒ เชือก และมีเจดีย์รายอีก ๒๐ องค์
ที่มุมทั้ง ๔ ของเจดีย์องค์ใหญ่ มีเจดีย์มุมอีก ๔ องค์ ส่วนทางด้านตะวันออกของเจดีย์ช้างล้อมนี้ มีสิ่งสำคัญคือ พระบาทคู่ ขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปทำด้วยศิลาแลง แต่ไม่ปรากฏมีชิ้นส่วนของพระพุทธรูปเหลืออยู่เลย
โบราณวัตถุสำคัญที่พบในบริเวณวัดคือ ขันสัมฤทธิ์ ขนาดใหญ่ ซึ่งพบที่ฐานเจดีย์ มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายในขันมีกระดูกซึ่งเผาแล้วบรรจุไว้
นอกจากนี้ ยังพบอาวุธเป็นรูปสามง่าม ทำด้วยเหล็ก และยังได้พบเศียรพระพุทธรูปสมัยอยุธยาขนาดเล็ก รวมทั้งพระพุทธรูปสมัยอู่ทองอีกด้วย
ในกรุนี้มีพระเครื่องประเภทพระกรุจำนวนไม่มากนัก แต่มีพระอยู่พิมพ์หนึ่ง เป็น พระยืนปางเปิดโลก มีขนาดจิ๋ว ลักษณะเรียวแหลมยาวเหมือนเข็ม จึงมีชื่อเรียกว่า พระกำแพงเข็ม
ท่านอาจารย์สมเกียรติ โล่ห์เพชรัตน์ ได้บรรยาย พระปางเปิดโลก ไว้ว่า เป็นปางที่นิยมมากที่สุด สำหรับการสร้างพระพุทธรูปในอาณาจักรล้านช้าง (ลาว) และพื้นที่บริเวณตอนบนของอาณาจักรล้านนา รวมถึงทางตอนใต้ของประเทศไทย และพระพุทธรูปยุคสมัยหลังในประเทศพม่า โดยเฉพาะการสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็กที่เรียกว่า พระเครื่อง ในเกือบทั่วทุกภาคของอาณาจักรไทยโบราณ
พระพุทธรูปทรงประทับยืนปางนี้ จะทรงยืนหงายฝ่ามือออกทั้งสองข้าง ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ทิ้งดิ่ง
ส่วนประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้ ตามตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าหลังจากโปรดพุทธมารดาเสร็จแล้ว จะเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์
ขณะเสด็จมาประทับยืนที่ฐานหัวบันได ท่ามกลางเทพพรหมบริษัททั้งหลายทรงทำ โลกวิวรณปาฏิหาริย์ หรือ เปิดโลก ทำให้เหล่าเทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ล้วนแต่สามารถมองทะลุให้เห็นซึ่งกันและกัน พร้อมกับเปล่งฉัพพรรณรังสีพระรัศมี ๖ ประการ
พระกำแพงเข็ม กรุวัดพระแก้ว จัดเป็นพระยืนปางเปิดโลกที่เล็กที่สุด คือ มีขนาดสูงประมาณ ๒ ซม. กว้างประมาณ ๐.๕๐ ซม. เท่านั้น มีเนื้อชินเงิน และตะกั่วสนิมแดง
พระพิมพ์นี้ เป็นพระที่มีแบบแม่พิมพ์ไม่สวยงาม องค์พระประทับยืนแบบเรียบง่าย ไม่มีหน้าพระพักตร์ องค์พระไม่มีเครื่องทรงลวดลายปรากฏให้เห็น มีเพียงชายจีวรด้านล่าง เป็นรอยขอบชายจีวรลงล่างไปเหนือพระบาททั้งสองให้เห็นชัดเจนเท่านั้น เป็นพระที่หาได้ยากมาก เพราะของเทียมมีมาก
เป็นพระที่ไม่หนา ผิวพระมีปรอทขาว พร้อมคราบกรุสีส้มอ่อน
ด้านหลังมีลายแบบเป็นจุดลายเล็กๆ เป็นบางตำแหน่งเท่านั้น พร้อมมีสนิมขุม และรอยระเบิดปรากฏให้เห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน
พุทธคุณ ครบทุกอย่าง ไม่ว่าแคล้วคลาด คงกระพัน หรือโภคทรัพย์
พระกำแพงเข็ม กรุวัดพระแก้ว สนนราคาเช่าหาพระเนื้อชินเงิน มีราคาหลักหมื่นต้นๆ ถ้าเป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดง มีราคาสูงกว่าเท่าตัว คือสองสามหมื่นบาทขึ้นไป
จัดอยู่ในประเภท พระดีหายาก แต่ถูกกว่าหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับราคาเรือนแสนของ พระลีลาเมืองกำแพงเพชร พิมพ์ยอดนิยม คือ พระกำแพงขาว กรุวัดบรมธาตุ ที่มีขนาดใหญ่โตกว่ากันมาก
"ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ"