พระเครื่อง

พระมหาสัมฤทธิ์ กับการอนุรักษ์ "เมรุลอยนางลอย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัดโกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งมี พระครูวิสุทธิ์สิทธิคุณ (พระมหาสัมฤทธิ์ วิสุทฺธสีโล) เจ้าคณะตำบลโกรกกราก และเจ้าอาวาสวัดโกรกกราก นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องการจัดงานปิดทองประจำปี หลวงพ่อปู่-หลวงปู่กรับ โดยเฉพาะความอลังการของการประดับไฟฟ้าด้วยหลอดไฟนานาชน

   “เมรุลอย” คือ "การก่อสร้างเมรุเผาศพชั่วคราวชนิดเคลื่อนย้ายได้" เพื่อเผาศพของบุคคลสำคัญ เจ้าสัว หรือผู้มีหน้ามีตาในสังคม จึงเปรียบเสมือนเวทีแสดงหน้าตาของผู้ตาย ตระกูลหรือเจ้าภาพ โดยรูปแบบของเมรุลอย คือเป็นสถาปัตยกรรมแบบมณฑปทั่วไป ตามลักษณะนิยมทางสถาปัตยกรรม และศิลปะประยุกต์ มีความโดดเด่นในโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม มีความเรียบง่าย แต่สง่างาม ประดับตกแต่งด้วยลวดลายไทยที่วิจิตรบรรจง มีความงดงามละเอียดในงานประณีตศิลป์ ซึ่งมีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ และนำความภาคภูมิใจ

   พระครูวิสุทธิ์สิทธิคุณ (พระมหาสัมฤทธิ์ วิสุทฺธสีโล) เจ้าคณะตำบลโกรกกราก และเจ้าอาวาสวัดโกรกกรากรูปปัจจุบัน เล่าให้ฟังว่า เมรุลอยของวัดมีหัวเสาแกะลักเป็นรูปนางลอยอยู่ทั้ง ๔ มุม จึงเรียกว่า เมรุลอยนางลอย โดยเมรุดังกล่าวมีโยมท่านหนึ่งสร้างไว้เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๙๐ เพื่อเผาศพแม่ของตัวเอง จากนั้นก็ถวายให้เป็นสมบัติของวัดโกรกกราก เมื่อพระครูธรรมสาคร หรือหลวงปู่กรับ ญาณวฑฺฒโน อดีตเจ้าอาวาสวัดโกรกกราก และเจ้าคณะตำบลมหาชัย เขต ๒ มรณภาพลง อาตมาและกรรมการวัดได้ปรับปรุงและขยายขนาดเมรุให้ใหญ่และสูงขึ้น เพื่อใช้ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่กรับ จากนั้นก็ออกรับงานวัดและญาติโยมเรื่อยมา รวมระยะเวลาแล้วเกือบ ๕๐ ปี

 ความพิเศษของเมรุลอย คือ เป็นสถาปัตยกรรมแบบมณฑปทั่วไป ตามลักษณะนิยมทางสถาปัตยกรรม และศิลปะประยุกต์ มีความโดดเด่นในโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม มีความเรียบง่าย แต่สง่างาม ประดับตกแต่งด้วยลวดลายไทยที่วิจิตรบรรจง มีความงดงามละเอียดในงานประณีต ทุกชิ้นสามารถถอดประกอบได้ด้วยนอต สลัก เกลียว ล็อกต่างๆ โดยจะกำกับด้วยตัวเลขเอาไว้หมด ทั้งนี้จะใช้เวลาประกอบประมาณ ๑ วันเต็มๆ หลังจากนั้นก็จะประดับประดาไฟ และทันทีที่เดินเครื่องปั่นไฟความอลังการเด่นก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะสีเหลืองทองที่เกิดจากทองคำแท้ๆ ที่ใช้ปิดลงบนลายไทยซึ่งเมื่อเกือบสิบปีก่อน เฉพาะค่าทองคำเปลวแท้ที่ใช้ประมาณ ๓ แสนบาท ทั้งนี้หากต้องปิดทองคำเปลวแท้ใหม่น่าจะอยู่ในหลักล้านบาท

 เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายในการจ้างงานเมรุนางลอยของวัดโกรกกราก พระมหาสัมฤทธิ์ บอกว่า งานละ ๑๕๐,๐๐๐ บาท และจะเลือกรับเฉพาะงานพระ หรือญาติโยมที่คุ้นเคยเท่านั้น และจะรับงานช่วง ๘ เดือนเท่านั้น ส่วนอีก ๔ เดือน ต้องเตรียมจัดงานประจำปีของวัด ค่าจ้างที่ได้ ๑๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจะเหลือครั้งละประมาณ ๑ แสนบาท หรือถ้าเหลือต่ำกว่านี้วัดก็จะสมทบให้เต็ม ๑ แสนบาท โดยเงินจำนวนนี้ไม่เคยนำกลับไปใช้ที่วัดเลยสักครั้งเดียว ตลอดเวลาเกือบ ๔๐ ปี ที่ผ่านมา หากจะนำถวายวัดที่ไปตั้งเมรุลอยนั้นๆ เพื่อเป็นการทำบุญต่อบุญให้หลวงปู่กรับ รวมทั้งญาติโยมที่สนับสนุนใช้บริการเมรุลอยนางลอยของวัด

 อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าการก่อสร้างเมรุชั่วคราวมีค่าใช้จ่ายกว่าแสนบาท รวมทั้งหามหรสพมาจัดแสดงในงานศพเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ทั้งนี้พระมหาสัมฤทธิ์ พูดไว้อย่างน่าคิดว่า

 “ครั้งหนึ่งและครั้งสุดท้ายในชีวิต เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องคิด ทำเพื่อผู้มีพระคุณโดยเฉพาะพ่อแม่ทำเพื่อพ่อเพื่อแม่สักครั้งหนึ่งจะเป็นไรไป อย่าว่าแต่สมบัติทรัพย์สินเงินทองเลย แม้แต่ลมหายใจเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ เราก็ได้จากพ่อแม่ทั้งสิ้น อย่ามองโลกด้านเดียว คุ้มหรือไม่คุ้ม สิ้นเปลืองหรือไม่สิ้นเปลืองอยู่ที่มุมมอง และการตัดสินใจของคน ถ้าไม่สร้างก็ไม่มี ที่มีอยู่ก็เพราะคนรุ่นก่อนสร้างไว้  เมื่อมาถึงรุ่นเรา นอกจากบูรณะและรักษาสิ่งที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ หากเรามีพลังพอก็ควรจะสร้างเพิ่มเติม นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีศิลปวัฒธรรมอีกด้วย"

เมรุลอยแห่งหัวเวียง
 ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา นับเป็นตำบลที่มีผู้ประกอบการให้เช่าเมรุลอยมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากเป็นชุมชนใหญ่ซึ่งมีช่างฝีมือดีหลายท่าน และได้สร้างเมรุลอยให้เป็นจำนวนนับกว่าสิบหลัง

 จากประวัติการสร้างเมรุลอย ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อใด จากคำบอกเล่าของกลุ่มผู้ประกอบกิจการ เมรุลอยในยุคแรกว่า สร้างครั้งแรกประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๐ ในงานปลงศพโยมแม่ของเจ้าอาวาส วัดประดู่โลกเชษฐ์ ผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างคือ พระอาจารย์เทียม พระสงฆ์จากวัดกษัตราธิราช ซึ่งเป็นพระภิกษุที่มีความสามารถด้านงานช่าง มีฝีมือหลายด้าน โดยเฉพาะงานก่อสร้าง ซึ่งช่างที่ร่วมสร้างเมรุลอยในขณะนั้นมีนายสาย ฤกษ์อุโฆษ รวมอยู่ด้วย

 ส่วนพระอาจารย์เทียม เคยสร้างเมรุลอยสามชั้น ยอดเดียวใช้ในการเผาศพที่วัดกษัตราธิราช ในสมัยที่ยังไม่มีเมรุปูนถาวร แต่หลังจากที่สร้างเมรุถาวรขึ้นแล้ว วัดกษัตราธิราชจึงเลิกใช้เมรุลอยในการเผาศพ เมรุลอยที่ท่านสร้างไว้ ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยให้ศึกษา

 ส่วนเมรุลอยหลังที่พระอาจารย์เทียมสร้างขึ้นในวัประดู่โลกเชษฐ์นั้น หลังจากเสร็จงานแล้ววัดจึงเก็บรักษาไว้ให้วัดต่างๆ ใน อ.เสนา และอำเภอใกล้เคียงยืมใช้ในการเผาศพ โดยมีนายสาย ฤกษ์อุโฆษ เป็นผู้ดูแลรักษา

 การเก็บรักษาในอดีตจะเก็บไว้ในเรือขนาดใหญ่ เรียกว่าเรือต่อ หรือเรือบรรทุกข้าว โดยใส่เรือนำมาจอดที่วัดบันไดช้าง ลักษณะการให้บริการ เป็นการช่วยงานกันมากกว่าให้เช่า จึงเป็นที่นิยมสำหรับงานศพเกือบทุกวัด ในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง

  หลังจากเมรุลอยหลังแรกที่ใช้เผาศพโยมแม่หลวงพ่อเจาะ ได้ให้บริการศพสมภารวัดต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง และได้ใช้เป็นเมรุในการเผาศพพระสุวรรณวิมลศีล รองเจ้าอาวาสวัดบันไดช้าง หลังจากนั้นขาดผู้ดูแลรักษา นายชมา สุพรรณมี ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าของเมรุลอยรายแรกของตำบลหัวเวียง จึงนำมาปรับปรุงเป็นเมรุชั่วคราว สำหรับให้ชาวบ้านใช้ในการเผาศพญาติผู้ใหญ่ของตน ความสำเร็จในการประกอบอาชีพของนายชม มีอิทธิพลทำให้เกิดผู้ประกอบการเมรุลอยกันเพิ่มขึ้น จากการสร้างเมรุลอยให้เช่าเป็นอาชีพเสริมกลายมาเป็นอาชีพหลัก ที่นำรายได้มาสู่ท้องถิ่นในตำบลหัวเวียง นับกว่า ๑๐ ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่เริ่มแรกพัฒนาเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา ๕๐ ปีแล้ว

 "ทำเพื่อผู้มีพระคุณโดยเฉพาะพ่อแม่ทำเพื่อพ่อเพื่อแม่สักครั้งหนึ่งจะเป็นไรไป อย่าว่าแต่สมบัติทรัพย์สินเงินทองเลย แม้แต่ลมหายใจเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ เราก็ได้จากพ่อแม่ทั้งสิ้น สิ้นเปลืองหรือไม่สิ้นเปลืองอยู่ที่มุมมอง"

0 เรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู 0

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ