พระเครื่อง

'จากพระหลักร้อย...สู่พระหลักล้าน'สุธน ศรีหิรัญคนแรกที่เขียนประวัติหลวงปู่บุญ

'จากพระหลักร้อย...สู่พระหลักล้าน'สุธน ศรีหิรัญคนแรกที่เขียนประวัติหลวงปู่บุญ

30 พ.ค. 2553

แวดวงคนทำหนังสือพระ ชื่อของ สุธน ศรีหิรัญ ย่อมเป็นที่รู้จักมักคุ้นของบรรดาท่านผู้อ่านและนักสะสมพระเครื่องโดยทั่วไป ในฐานะเป็นผู้มีผลงานการเขียนหนังสือแนวพระเครื่องมานานปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุธน ศรีหิรัญ เป็น คนแรก

ที่เขียนถึงประวัติและพระเครื่องของ หลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม มาก่อนคนอื่นใด จนถึงทุกวันนี้พระเครื่องของ หลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม กำลังได้รับความนิยมสูง และโด่งดังสุดๆ อยู่ในขณะนี้

 สุธน ศรีหิรัญ เป็นชาว อ.นครชัยศรี โดยกำเนิด บ้านเดิมอยู่ใกล้วัดกลางบางแก้ว อีกทั้งคุณยายก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่บุญโดยตรง ทุกวันพระคุณยายจะให้ลูกสาว (คุณแม่ของสุธน) เป็นผู้นำปิ่นโตสำรับอาหารไปถวายหลวงปู่บุญเสมอ

 ด้วยเหตุนี้พระเครื่องแทบทุกรุ่นของหลวงปู่บุญ รวมทั้งเบี้ยแก้ คุณยายของสุธนจึงมีอยู่มากพอสมควร เมื่อคุณยายสิ้นบุญ คุณแม่ก็ได้รับการสืบทอดการส่งปิ่นโตถวายหลวงปู่บุญแทน จนมาถึงสมัยหลวงปู่เพิ่ม ก็ยังคงปฏิบัติเหมือนอย่างเดิม

 นอกจากนี้ เมื่อปี ๒๕๑๖ สุธนได้อุปสมบทที่วัดกลางบางแก้ว โดยมีหลวงปู่เพิ่ม เป็นพระอุปัชฌาย์ ช่วงที่ครองผ้ากาสาวพัสตร์ และพำนักอยู่ที่วัดกลางบางแก้ว พระสุธนได้ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่เพิ่มอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

 ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้...สมัยเป็นเด็ก สุธนเรียนหนังสือที่โรงเรียนเพิ่มวิทยา วัดกลางบางแก้ว เมื่อโตขึ้นได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ (เป็นลูกศิษย์ของ รศ.กมล ฉายาวัฒนะ ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ร่วมงานในการจัดทำหนังสือต่างๆ หลายฉบับ รวมทั้งหนังสือพระเครื่อง)

 เมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้ว สุธนได้เข้าทำงานที่โรงเรียนราษฎร์แห่งหนึ่ง ต่อมาสอบเข้าทำงานที่กระทรวงแรงงาน จนถึงปี ๒๕๔๙ จึงลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสาร ลานโพธิ์ นิตยสารพระเครื่องที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของวงการพระเครื่องเมืองไทย (๓๖ ปี)

 ก่อนหน้านี้ สุธนได้เขียนบทความพระเครื่องลงในนิตยสารลานโพธิ์มาก่อนกว่า ๒๐ ปี รวมทั้งเป็นผู้จัดทำนิตยสารพระเครื่องด้วยตนเองอีกหลายฉบับ จนเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงผู้อ่านหนังสือพระเครื่องอย่างกว้างขวาง

 ผลงานโดดเด่นที่สุดของสุธนคือเป็น คนแรก ที่ได้เขียนประวัติและพระเครื่องของ หลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว และเป็นผู้ผลักดันให้พระเครื่องของหลวงปู่ทั้ง ๒ ท่าน ซึ่งไม่ได้รับความสนใจมาก่อนหน้านี้ ให้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป จาก พระหลักร้อย ในสมัยนั้น ได้กลายเป็น พระหลักล้าน ในปัจจุบัน

 "ช่วงที่ผมบวชอยู่ที่วัดกลางบางแก้ว เมื่อปี ๒๕๑๖ ได้พบเห็นกระดานพื้นศาลาชำรุดมาก จึงปรารภกับหลวงปู่เพิ่มว่า น่าจะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม หลวงปู่บอกว่าไม่ใช่ธุระของพระ เป็นเรื่องของญาติโยม ผมจึงไปปรึกษาอาจารย์ใบ (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสแทนหลวงปู่เพิ่ม) อาจารย์ใบบอกว่า วัดมีเงินอยู่ ๒ หมื่นบาท หากจะซ่อมแซมคงต้องใช้เงินมากกว่านั้น ผมจึงไปขอความช่วยเหลือจากเถ้าแก่เจ้าของโรงไม้แห่งหนึ่ง ท่านใจดีมาก บอกให้ขนไม้ไปใช้ก่อน มีเงินเมื่อไรค่อยนำมาจ่าย ตกลงว่าพื้นกระดานศาลาวัดได้รับการซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพสมบูรณ์แข็งแรง จากนั้นได้ไปเรียนให้หลวงปู่เพิ่มทราบ พร้อมกับเรียนท่านว่า ยังค้างค่าไม้อยู่อีก ๓ หมื่นบาท หลวงปู่ได้ฟังแล้วก็เข้าไปในกุฏิเก่าของหลวงปู่บุญ ซึ่งท่านไม่ค่อยเข้าไปบ่อยนัก ไปค้นหาขันลงหินใบหนึ่ง จึงนำออกมาให้ผมกับอาจารย์ใบ บอกว่าพระในนี้เอาไปให้ชาวบ้านทำบุญ นำเงินไปจ่ายค่าไม้ อย่าไปเป็นหนี้เขา มันไม่ดี ผมกับอาจารย์ใบนำขันลงหินกลับมาที่กุฏิ เปิดออกดู ปรากฏว่าของที่อยู่ในนั้นคือ เหรียญซุ้มกระจัง หรือเหรียญเจ้าสัว หลวงปู่บุญ ชนิดเนื้อเงิน ๒๐๐ เหรียญ เนื้อทองแดง ๓๐๐ เหรียญ จึงได้นำออกให้ชาวบ้านทำบุญ ครั้งแรกกำหนดไว้ที่เนื้อเงินเหรียญละ ๕๐๐ บาท เนื้อทองแดง ๓๐๐ บาท อาจารย์ใบบอกว่าแพงไป ไม่มีใครเอาแน่ จึงลดลงมาเหลือ เนื้อเงิน ๒๐๐ บาท เนื้อทองแดง ๑๐๐ บาท เมื่อประกาศข่าวออกไปได้ไม่นาน ก็มีชาวบ้านมาช่วยกันทำบุญบูชาพอสมควร จนได้เงินครบ ๓ หมื่นบาท ก็เอาไปใช้หนี้ค่าไม้ก่อน แต่กว่าเหรียญจะหมด ต้องใช้เวลานานเป็นปี เงินที่ได้ในตอนหลัง ได้เอาไปซ่อมมณฑปได้อีก ๑ หลัง" อ.สุธน เล่าถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา

 ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้เล็กน้อย มีขโมยขึ้นไปขนพระเนื้อดินเผากับพระเนื้อว่าน (ของหลวงปู่บุญ) บนมณฑป ทางวัดจึงได้ขนพระลงมาทั้งหมด แล้วเปิดให้ชาวบ้านทำบุญองค์ละ ๓๐-๕๐ บาท เงินส่วนนี้เอามาสร้างศาลาหลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม ซึ่งกว่าจะมีผู้ทำบุญบูชาพระชุดนี้หมด ก็กินเวลาเป็นปีเช่นกัน

 อ.สุธน กล่าวด้วยว่า "สมัยนั้นคนส่วนใหญ่จะรู้จักแต่หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก กับหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ถ้าหากเป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นใหม่ ก็รู้จักแต่หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม กับหลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม ส่วนหลวงปู่บุญกับหลวงปู่เพิ่ม รู้จักกันเฉพาะคนในท้องถิ่นเท่านั้น คนห่างไกลออกไปไม่ค่อยรู้จักกันเลย ทั้งๆ ที่หลวงปู่ทั้ง ๒ ท่านก็เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคม และพระเครื่องของท่านก็เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อย ผมจึงคิดว่า ควรจะเขียนเรื่องของท่านไปลงหนังสือพระ ให้คนในวงการพระได้รู้จักกันบ้าง จึงเขียนส่งไปลงที่นิตยสารพระเครื่องปริทรรศน์ และนิตยสารจักรวาลพระเครื่อง ปรากฏว่าได้รับกระแสตอบกลับมาดีมาก มีคนมาที่วัดมากขึ้น พร้อมกับทำบุญบูชาพระที่มีอยู่จนหมดไป ผมจึงเขียนเรื่องของหลวงปู่ทั้ง ๒ ท่านไปลงในนิตยสารพระเครื่องอื่นๆ อีก รวมทั้งได้จัดพิมพ์หนังสือประวัติและพระเครื่องหลวงปู่บุญหลวงปู่เพิ่มฉบับสมบูรณ์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก จนขายได้หมดในเวลาไม่นานนัก ต่อมาได้จัดพิมพ์ใหม่ โดยปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น จนถึงฉบับที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ โดยได้แบ่งออกเป็น ๒ เล่ม เล่มแรกเป็นเรื่องของหลวงปู่บุญ ทั้งประวัติและภาพพระเครื่องที่สวยคมชัดเป็นพิเศษ มีครบพระทุกรุ่นที่หลวงปู่บุญได้สร้างขึ้น เล่มนี้หนากว่า ๔๐๐ หน้า ส่วนเล่ม ๒ เป็นประวัติและพระเครื่องหลวงปู่เพิ่ม หนากว่า ๓๐๐ หน้า ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งเนื้อหาและภาพพระเครื่องเช่นเดียวกัน"

 และจากผลงานการเขียนที่ผ่านมา ทำให้พระหลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม องค์ละไม่กี่สิบบาทไม่กี่ร้อยบาท กลายเป็นพระหลักหมื่นหลักแสนไปจนถึงหลักล้าน...ในทุกวันนี้

 นอกจากนี้ อ.สุธน ยังได้ร่วมกับ พระครูสิริชัยคณารักษ์ (สนั่น) อดีตเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว เป็นผู้ริเริ่มในการจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม เพื่อเป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือน พระบูชา พระเครื่อง เครื่องลายคราม เครื่องอัฐบริขาร ฯลฯ ไว้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนอีกด้วย

 "สาเหตุที่ผมริเริ่มโครงการนี้ เพราะสมัยนั้นข้าวของต่างๆ ที่เป็นของเก่าสมัยหลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม ตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจาย และมักจะชำรุดสูญหายเป็นประจำ จึงคิดว่าน่าจะนำมารวมไว้ในที่เดียวกัน ให้มีการอนุรักษ์เป็นอย่างดี มีมาตรการป้องกันการสูญหายอย่างมั่นคงแข็งแรง จึงได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้น โดยได้จัดสร้างเหรียญเจ้าสัว ๒ (ย้อนยุค) เมื่อปี ๒๕๓๕ เพื่อให้ชาวบ้านทำบุญบูชา นำรายได้มาใช้จ่ายในโครงการนี้ เหรียญรุ่นนี้ใช้ชนวนเก่าๆ แผ่นทองลงอักขระของหลวงปู่บุญหลวงปู่เพิ่มมากมาย ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับความศรัทธาสนใจอย่างกว้างขวาง ทำให้เหรียญหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว ได้เงินหลายสิบล้าน นอกจากได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังได้นำเงินส่วนหนึ่งจัดตั้ง มูลนิธิพระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ-หลวงปู่เพิ่ม) และสร้างโบสถ์หลังใหม่ที่เห็นในทุกวันนี้อีก ๑ หลัง ในช่วงที่กำลังดำเนินงานจะมีผู้มาทำบุญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงอยากจะบอกว่า ท่านที่ได้ทำบุญบูชาเหรียญเจ้าสัว ๒ เมื่อปี ๒๕๓๕ ท่านได้ทำบุญครั้งเดียวแต่ได้อานิสงส์ถึง ๓ ต่อ ด้วยผลงานที่ได้พบเห็นในทุกวันนี้ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของผมเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนสร้างถาวรวัตถุเอาไว้ในพระพุทธศาสนาสืบไปชั่วกาลนาน" อ.สุธน กล่าวในตอนท้าย

 ท่านที่สนใจหนังสือประวัติและอิทธิมงคลวัตถุ หลวงปู่บุญ-หลวงปู่เพิ่ม ฉบับสมบูรณ์ จัดทำโดย อ.สุธน ศรีหิรัญ เพื่อนำรายได้มอบให้ มูลนิธิพระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ-หลวงปู่เพิ่ม) สั่งจองได้เพียงแห่งเดียวที่ สนง.นิตยสาร ลานโพธิ์ ๙๖๖/๑๐ ซอยพระรามหก (๒๑) ถนนพระรามหก เขตราชเทวี กทม.๑๐๔๐๐ โทร.๐-๒๖๑๓-๗๑๔๐-๘ หนังสือ ๑ ชุด (๒ เล่ม) บรรจุกล่องสวยหรู ราคาจองชุดละ ๓,๐๐๐ บาท (หลังจอง ๓,๕๐๐ บาท) ท่านที่สั่งจองขณะนี้ จะได้รับทันทีภาพ หลวงปู่บุญ ปางป่าเลไลยก์ ด้านหลัง ยันต์ดวงอริยพิชัยสงคราม ของหลวงปู่บุญ ขนาด ๑๙.๕x๒๖.๕ นิ้ว เฉพาะ ๑ พันท่านแรกเท่านั้น หมดเขตสั่งจอง ๓๐ มิถุนายน นี้

ตาล ตันหยง