พระเครื่อง

พระลีลาอัฏฐารส  เนื้อชินเงิน 
กรุวัดพระศรีฯ จ.สุพรรณบุรี

พระลีลาอัฏฐารส เนื้อชินเงิน กรุวัดพระศรีฯ จ.สุพรรณบุรี

19 พ.ค. 2553

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณบุรีมาแต่ครั้งโบราณ เมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ.๒๓๑๐ ทหารพม่าได้ปล้นสะดมประชาชนคนไทย พร้อมทั้งกวาดต้อนครอบครัวไทยไปเป็นเชลยยังเมืองพม่า

  ชาวสุพรรณฯ ที่รักอิสระจึงต้องหนีซอกซอนไปอาศัยอยู่ตามป่าดงพงไพร ทิ้งบ้านทิ้งวัดปล่อยให้รกร้าง ปราศจากผู้คนดูแล เมืองสุพรรณจึงรกร้างไปร่วมร้อยปี

 ต่อมาองค์พระปรางค์ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้ถูกคนร้ายลักลอบขโมยขุดกรุ นำของมีค่าออกไปมากมาย เมื่อทางราชการทราบข่าว จึงได้เปิดกรุอย่างเป็นทางการ พบพระเครื่องต่างๆ มากมาย

 ในจำนวนนี้มีพระเครื่องยอดนิยมพิมพ์หนึ่ง เป็นพระ ๒ ด้าน เช่นเดียวกับพระมเหศวร มีชื่อเรียกว่า พระลีลาอัฏฐารส เหมือนกับที่ขุดพบที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก

 พระอัฏฐารส นี้ เป็นการเรียกชื่อพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ซึ่งมีความสูง ๑๘ ศอก (อัฏฐารส แปลว่า ๑๘) คติการสร้างพระสูง ๑๘ ศอก มาจากการที่คนโบราณเชื่อว่า พระพุทธเจ้ามีพระวรกายสูงใหญ่ ๑๘ ศอก ซึ่งเป็นคติความเชื่อจากลังกา เพราะในสมัยสุโขทัย ได้มีการรับพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ความเชื่อดังกล่าวจึงแพร่หลายในศิลปะสุโขทัย

 ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในเมืองสุโขทัยและเมืองบริวาร มักสร้างพระอัฏฐารสองค์ใหญ่อยู่หลายแห่ง เช่นที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย วัดสะพานหิน นอกเมืองสุโขทัย เป็นต้น

 ส่วนที่เมืองพิษณุโลก ก็มีการสร้างพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่เช่นเดียวกัน ประดิษฐานอยู่ด้านหลังวิหารคดของพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางห้ามญาติ ที่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในคราวเดียวกับการสร้างวัด

 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก สร้างขึ้นครั้งแรกไม่ปรากฏศักราชที่แน่นอน สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๕ แห่งกรุงสุโขทัย ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐-๑๙๑๗)

 ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการพบพระเครื่องยอดนิยมบนยอดพระเศียร และใต้ฐานของพระอัฏฐารส เป็นพระลีลา จึงเป็นที่มาของชื่อพระเครื่องพิมพ์นี้ว่า พระลีลายอดอัฏฐารส ตามชื่อของพระอัฏฐารส องค์ใหญ่

 พระลีลาอัฏฐารส กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ของ จ.สุพรรณบุรี สร้างด้วยเนื้อชินเงิน เป็นพระเครื่องปางลีลา ที่มีลักษณะพิเศษไปจากพระลีลาทั่วๆ ไป เนื่องจากเป็นพระ ๒ หน้า

 ด้านหน้าเป็นพระพิมพ์ยืนปางลีลา องค์พระปฏิมาหันพระพักตร์ไปทางซ้าย พระพักตร์แบบผลมะตูม อันเป็นศิลปะที่บ่งชี้ชัดเจนของเอกลักษณ์สุโขทัย พระพักตร์ส่วนมากเลี่ยน พระเกตุรัศมีแหลม ไม่มีพระกรรณ ลำพระองค์ค่อนข้างเล็ก

 พระพาหา-พระกร (แขน) ซ้ายสั้น ทอดเฉียงออก จีวรห่มคลุมแนบเนื้อ ไม่มีรัดประคดเอว ขอบจีวรเป็นเส้นหนา พระบาทซ้ายสั้นและหนา ยืนประทับตรงด้วยพระบาทซ้าย พระบาทขวายกลอยขึ้น อยู่ในอาการเขย่ง เหมือนกำลังจะก้าวลีลาออกไปข้างหน้า

 องค์พระประทับอยู่บนฐานโค้งคล้ายขีดรัศมี พระหัตถ์ขวาทอดวางลงมาตรงๆ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นกลางพระอุระ เหนือพระเศียรปรากฏวงเส้น แสดงรัศมีพระบารมีของพระพุทธองค์ พร้อมทั้งมีซุ้มครอบองค์พระ

 ภายในซุ้มโค้งมีขีดเล็กๆ เป็นลวดลายประดับอยู่ ลักษณะพิเศษบริเวณช่วงกรอบนอก ตรงกึ่งกลางองค์พระ จะมีรอยหยักเป็นเนื้อแหลมเกิน คล้ายปลายเงี่ยงยื่นออกมาทั้ง ๒ ข้าง บางองค์ที่ขุดพบ เป็นแบบตัดเรียบ ไม่มีรอยหยักก็มี

 ด้านหลังเป็นพระ พิมพ์ซุ้มเสมาทิศ (ซุ้มจิก) เป็นพระเครื่องพิมพ์หนึ่งในแบบศิลปะสุโขทัย องค์พระประทับนั่งปางสมาธิ อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว (หรือซุ้มเสมาทิศ, ซุ้มจิก) สัญลักษณ์นี้เองที่เหมือนกับพระที่พบบนพระอัฏฐารส จ.พิษณุโลก

 พระลีลาอัฏฐารส ของเมืองสุพรรณพิมพ์นี้ มีส่วนที่ไม่เหมือนกับพระอัฏฐารส เมืองพิษณุโลก คือ ต่างกันทั้งเนื้อหา และแบบพิมพ์ทรงองค์พระ ที่เป็นคนละพิมพ์กัน

 อีกทั้งพระลีลาอัฏฐารสของเมืองพิษณุโลก เป็น พระเนื้อชินเขียว เท่านั้น แต่ของเมืองสุพรรณ เป็น พระเนื้อชินเงิน

 พระลีลาอัฏฐารส ของทั้ง ๒ เมืองนี้ มีขนาดใกล้เคียงกัน คือ กว้างประมาณ ๒.๕๐ ซม. สูงประมาณ ๕.๒๐ ซม.

 พุทธคุณ สุดยอดแบบพระมเหศวรทุกประการ สนนราคาอยู่ที่หลักหมื่นกลางขึ้นไป
 
"ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ"