พระเครื่อง

ชั่วโมงเซียน-เหรียญพ่อท่านซังวัดวัวหลุงอมตะเหรียญตายยอดนิยมจาก..."รุ่น๑ ถึง รุ่น ๙"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหรียญตาย หมายถึง เหรียญพระเกจิอาจารย์ที่ลูกศิษย์สร้างขึ้น หลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในคุณงามความดีของท่าน หรือสร้างไว้เป็นที่เคารพ สักการะ เป็นต้น ปกติเหรียญตายจะไม่ค่อยน่าสนใจ เพราะครูบาอาจารย์เจ้าของเหรียญได้จากไปแล้ว ค่านิยมที่แท้

วัตถุมงคลที่แจกในงานศพ ยอดนิยมอันดับต้นๆ ต้องยกให้เหรียญพระครูอรรถธรรมรส หรือ "พ่อท่านซัง" อดีตเจ้าอาวาสวัดวัวหลุง และอดีตเจ้าคณะแขวง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ในวงการพระเครื่อง ได้จัดให้เหรียญพ่อท่านซังเป็นหนึ่งในเหรียญเบญจภาคีที่แพงที่สุดของเมืองนคร เหรียญหลวงพ่อซังเป็นเหรียญตายยอดนิยมที่มีราคาแพงที่สุด

เหรียญพ่อท่านซัง เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ โดยท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๗๘ คณะศิษย์เก็บศพของท่านไว้เป็นเวลาปีเศษ จึงขอพระราชทานเพลิงศพ ถึงแม้เหรียญนี้จะสร้างออกมาตอนที่ท่านมรณภาพไปแล้วก็ตาม แต่ก็ได้ผ่านการปลุกเสกจากพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อ และเกจิดังชั้นนำของจ.นครศรีธรรมราช ทำให้มีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์มาก โดยเฉพาะด้านอยู่ยงคงกระพัน

ความพิเศษของเหรียญหลวงพ่อซังรุ่นแรก คือ พระเกจิอาจารย์ทั่วๆ ไป เหรียญรุ่นแรกจะสร้างเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่และสร้างขณะที่ท่านยังไม่มีชื่อเสียง แต่เหรียญรุ่นแรกของพ่อท่านซังเป็นเหรียญที่สร้างหลังจากพ่อท่านซังมรณภาพแล้วถึง ๒ ปี จุดประสงค์ในการสร้างเหรียญในครั้งนั้นบรรดาลูกศิษย์ที่นับถือในตัวหลวงพ่อซัง ต้องการเหรียญรูปเหมือนท่านเป็นที่ระลึกคณะกรรมการจึงประชุมกัน นิมนต์พระครูธรรมธร วัดโพธิ์ ท่าเตียนกรุงเทพฯ มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ (ท่านเป็นศิษย์พ่อท่านซัง บวชเณรให้พร้อมทั้งสนับสนุนให้ได้เรียน) ฝ่าคฤหัสถ์ให้ท่านขุน นายอำเภอร่อนพิบูลย์เป็นประธาน ตกลงพร้อมใจกันจัดสร้างเหรียญขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พ.ศ. ๒๔๘๐

ในการจัดสร้างเหรียญครังนั้นท่านพระครูธรรมธร ได้รับภาระหาช่างแกะบล็อกตามรูปถ่าย พร้อมทั้งยันต์ด้านหลังเหรียญ ซึ่งหลวงพ่อซัง ใช้เขียนผ้ายันต์ ลงตะกรุดพิศมร และใช้ทำน้ำมนต์เป็นประจำ ยันต์และพระคาถาสี่ตัวด้านหลังเหรียญนั้นถอดมาจากพระธรรมในพระไตรปิฎกสามารถนำมาใช้ได้ตามปรารถนา หลังจากช่างปั๊มเหรียญเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงอุดมฤกษ์มงคลมิ่งแล้ว ท่านพระครูธรรมธรได้จัดพิธีพุทธาภิเษกเหรียญหลวงพ่อซัง ในพระอุโบสถ วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ นิมนต์พระเถระต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นมาร่วมพิธีแผ่กระแสจิต พร้อมทั้งอัญเชิญดวงวิญญาณหลวงพ่อซังมาร่วมพิธีด้วย โดยจัดอาสนะใว้ให้ท่าน

หลังจากเสร็จพิธีเรียบร้อย ท่านพระครูได้นำเหรียญกลับมายังวัดวัวหลุง ขณะเดียวกัน คณะกรรมการได้จัดงานพิธีพุทธาภิเษกซ้ำอีกครั้งที่วัด โดยได้นิมนต์พระครูกาชาด วัดใหญ่นครศรีธรรมราช ที่เป็นที่สนิทสนมกับพ่อท่านซัง เคยไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนความรู้กันเสมอ พร้อมทั้งพระครูกาแก้ว วัดหน้าพระธาตุ และพระเถรานุเถระไม่ปรากฏนามร่วมพิธีพุทธาภิเษกอย่างพร้อมเพรียงเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์

เมื่อถึงวันพระราชทานเพลิงศพพ่อท่านซัง คณะกรรมการวัดได้นำเหรียญรุ่นนี้วางไว้ตรงหน้าสรีระของพ่อท่าน ใครจะหยิบไปอย่างไรก็ได้ ทำบุญหรือไม่ก็ตามใจ ปรากฏว่าประชาชนผู้ไปร่วมพิธีในวันนั้น ต่างแย่งชิงเหรียญกันจนหมด และไม่พอแจกจ่ายแก่บรรดาข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนที่มาร่วมงานจนเต็มวัดไปหมด

เหตุผลหนึ่งที่ประชาชนผู้ไปร่วมพิธีในวันนั้น ต่างแย่งชิงเหรียญพ่อท่านซัง เพราะท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกท่านหนึ่ง ที่เป็นที่เลื่อมใสของชาวนครศรีธรรมราช ที่สำคัญคือ ท่านที่ได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคมที่สำนักเขาอ้อ จ.พัทลุง ใครที่ได้ครอบครองเหรียญรุ่นแรกต่างพากันหวงแหน และมีแต่ผู้ต้องการอภินิหารของเหรียญพ่อท่านซัง ในหมู่นักเลงหัวไม้อันธพาลนั้นโดยเฉพาะในเขตร่อนพิบูลย์ใช้แต่เหรียญพ่อท่านซัง แคล้วคลาดปลอดภัยดี บางคนถึงกับพูดว่าปืนลูกซองนั้นโก่งลานให้ยิงเลย ทหาร ตำรวจ และอสม.จะนิยมพกเหรียญของท่านเป็นจำนวนมาก

ซัง ศักดาวุธ เป็นชื่อและสกุลเดิมของ พ่อท่านซัง เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๓๙๔ ณ บ้านพัง หมู่ ๒ ต.ควนพัง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช  อุปสมบท เมื่อเดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ วันพุธ พ.ศ. ๒๔๑๔ อุปสมบทที่วัดปัง บวชที่เดิมที่ท่านได้บวชเณร อุปัชฌาย์รักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านอาจารย์นาค เจ้าอาวาสวัดพัง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านอาจารย์ทองดี วัดปัง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า สุวัณโณ

เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงพ่อซัง ท่านไปศึกษาอยู่ในสำนัก อาจารย์นาค วัดพัง ศึกษาเพิ่มเติมทางด้านคาถาอาคมอยู่หนึ่งพรรษา พ่อท่านซัง จึงกราบลาอาจารย์นาค ไปอยู่กับท่านอาจารย์โฉม เจ้าอาวาสวัดวัวหลุง เพื่อศึกษาคันถะธุระและอบรมวิปัสสนาธุระ กับอาจารย์ชูอาจารย์สด วัดวัวหลุงสรุปแล้วท่านมีอาจารย์ที่เก่งกล้าทางด้านวิปัสสนา ไสยศาสตร์และพุทธศาสตร์แห่งเดียวถึงสามองค์ ท่านพยายามฝึกฝนสมาธิจิตท่องมนต์คาถา และธรรมะจนสามารถเทศนาสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติปฏิบัติเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรม

     พ.ศ. ๒๔๗๒ หลวงพ่อซัง ชราภาพมากจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้โดยสะดวก จึงโปรดเกล้าให้เป็นกิตติมศักดิ์ พ้นจากตำแหน่งราชการ รวมเวลาที่ท่านได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอยู่ ๑๓ ปี เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคชรามาตั้งแต่ต้นปี ต่อมาโรคได้กำเริบหนักจนถึงวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ เวลา ๑๐.๒๐ น. ท่านมรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี

ส่วนเหรียญรุ่นที่๒ ก็ได้รับความนิยมเช่นกันแต่น้อยกว่าเหรียญร่นแรก จากนั้นก็มีการสร้างออกมาอีกหลายรุ่น ซึ่งแต่ละรุ่นก็มีประสบการณ์ที่ขึ้นชื่อว่า "เป็นเหรียญเหนียว และคงกระพันชาตรี" ทั้งนี้ผู้สร้างในรุ่นถัดๆ มา มักยึดรูปแบบการสร้างเหมือนเหรียญรุ่นแรกทุกประการ ทั้งรูปแบบของเหรียญ และพิธีกรรมปลุกเสกที่นิยมนิมนต์เกจิอาจารย์สายเขาอ้อมาร่วมพิธี แต่ที่เพิ่มขึ้นคือมีการสร้างเหรียญเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียว ในรุ่นต่อๆ มาก็เพิ่มเนื้อที่หลากหลาย อย่างเหรียญรุ่น ๙ ก้าวหน้า ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด มีการสร้างหลายเนื้อ เช่น  เนื้อนทองแดง เนื้อเงิน เนื้อนวะโลหะหน้าทองคำ เนื้อทองคำลงยาสีแดง และเนื้ออัลปาก้า รวมทั้งรูปหล่อลอยองค์ โดยได้มนต์พระเกจิสายเขาอ้อมาปลุกเสก เช่นเดียวกับรุ่นที่ ๑ และ ๒ ทั้งนี้ เพื่อนำปัจจัยไปบูรณะศาสนสถานภายในวัดวัวหลุง พุทธศาสนิกชนร่วมบุญได้ที่ โทร.๐๘-๑๘๙๕-๒๑๔๘, ๐๘-๙๗๗๓-๔๑๒๑ และ๐๘-๖๔๘๘-๕๒๘๑ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ