
จาก...นักมวยสู่ 'เซียนพระ'นายกอบต.พจน์ เมืองนนท์ ศิษย์เอกคนเก่งของ 'ป๋ายัพ'
เซียนพระ ชื่อดังในทุกวันนี้ ล้วนมีพื้นเพเดิมแตกต่างกันไปอย่างหลากหลาย บางคนเคยมีอาชีพเป็น นักมวย มาก่อนก็มี อย่างเช่น พยัพ คำพันธุ์ และ พจน์ เมืองนนท์ ฯลฯ
กล่าวสำหรับ พจน์ เมืองนนท์ เจ้าของชื่อจริง สุพจน์ ผมทอง เป็นผู้มีประวัติการต่อสู้มาแล้วอย่างโชกโชน ทั้งบนสังเวียนมวย และชีวิตจริง
พจน์ เมืองนนท์ เป็นชาวอ่างทองโดยกำเนิด แต่มาเติบโตที่ จ.นนทบุรี กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่เล็ก จึงต้องอาศัยข้าวก้นบาตร รับใช้พระที่วัดในหมู่บ้าน ชีวิตจึงต้องอาศัยความกล้าแกร่งของตัวเองเป็นหลัก เริ่มจากการเข้าค่ายมวย ขณะอายุยังน้อยนิด เพื่อให้อยู่ในความอุปการะของเจ้าของค่ายมวย จะได้มีเงินใช้ และได้เรียนหนังสือ จนมีโอกาสเรียนจบสายอาชีวะระดับ ปวส. ที่ จ.นนทบุรี
สถิติการชกมวยมีมากกว่า ๑๐๐ ครั้ง เริ่มจากค่าตัว ๗๐ บาท จนได้เป็นแชมป์ยอดมวยเล็ก หนักตัว ๓๖ กก. ขณะมีอายุ ๑๔ ปีเท่านั้น สังกัดค่าย "พรทวี" ของ "ป๋าเชิด" บุญศักดิ์ เอี่ยมเอิบ หรือ เชิดศักดิ์ ศรีเมืองนนท์ และน้องชาย วิชาญน้อย พรทวี เป็นผู้ดูแล และให้ความอุปการะ
ชีวิตนักมวย กิจวัตรประจำวัน คือ การซ้อมมวย และออกกำลังกายอื่นๆ เช่น วิ่ง วันละหลายกิโล ขากลับจากการวิ่งต้องเดินผ่านสนามพระตลาดนนทบุรี ก็เลยแวะดูพระตามแผงต่างๆ ซึ่งมีเยอะมาก ดูไปอย่างนั้นแหละ เพราะยังไม่ค่อยรู้เรื่องพระดีนัก แต่มีความสนใจจริงๆ คิดว่า ถ้าหากมีเงินก็จะหาซื้อพระไว้บ้าง ช่วงนั้นแวะดูพระบ่อยมาก จนพอจะจำชื่อพระได้บ้าง แต่จะเป็นพระแท้หรือพระปลอม ยังไม่รู้
ขณะเดียวกัน ในสนามพระมักจะมีการเล่าเรื่องอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของพระแต่องค์ ฟังแล้วสนุกดี อีกทั้งยังรู้ว่า พระเกจิอาจารย์เก่งๆ ใน จ.นนทบุรี มีมากมาย และพระของท่านก็ขายได้ด้วย
ครั้งหนึ่ง มีเพื่อนมาชวนไปชกมวยที่ จ.บุรีรัมย์ ในเทศกาลงานประจำปี พอกลับมาเข้าค่ายที่เมืองนนท์ ถูกป๋าเชิดลงโทษ เพราะทำผิดกฎระเบียบกติกาของค่าย ที่ห้ามนักมวยไปขึ้นเวทีชกมวยกันเอง โดยหัวหน้าค่ายไม่ได้อนุญาต
"ช่วงนั้นผมถูกทำโทษอยู่ระยะหนึ่ง หัวหน้าไม่ส่งไปชกที่ไหน แต่ต้องซ้อมมวยทุกวัน เรียกว่าซ้อมรอรายการชก จึงมีเวลาว่างมากขึ้น แต่ไม่มีเงิน ผมก็ไปดูเขาเล่นพระ เห็นเขาซื้อขายพระได้เงินกันง่ายๆ จึงไปขอพระจากเพื่อนในค่ายมวยบ้าง ที่โรงเรียนบ้าง แล้วเอาลองมาขายดู ปรากฏว่าขายได้ ทำให้มีเงินใช้ และรู้สึกติดใจ คิดว่าหากหาพระมาขายได้บ่อยๆ ก็คงจะดี เพราะทำให้มีเงินใช้จ่ายมากขึ้น และที่สนามพระนี่เองที่ผมได้พบกับ ป๋าพยัพ คำพันธุ์ ซึ่งเป็นชาวอ่างทองเหมือนผม ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ ที่มีผู้ใหญ่เป็นคนบ้านเดียวกัน จึงเริ่มมีความคุ้นเคยกัน การจะขอความรู้ในการดูพระศึกษาพระคงจะง่ายขึ้น ซึ่งป๋ายัพก็เมตตาแนะนำให้ทุกอย่าง นับได้ว่า ป๋ายัพเป็นอาจารย์คนแรกของผมในการสอนให้ผมดูพระเป็น นอกจากนี้ยังได้พบกับป๋าต้อย เมืองนนท์ และช้าง เมืองชล ซึ่งล้วนเป็นเซียนพระผู้มีชั่วโมงมาแล้วนานปี มีคนรู้จักกันอย่างกว้าง ก็มานั่งอยู่ในสนามพระแห่งนี้ด้วย ทั้ง ๒ ได้เมตตาแนะนำเรื่องพระให้ผมเช่นกัน" พจน์ เมืองนนท์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันเหชีวิตจากสนามมวย มาสู่สนามพระ
ต่อมา เมื่อพ้นโทษที่หัวหน้าได้คาดไว้ พจน์ก็ได้ขึ้นชกมวยอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ชกเวทีมวยสำโรง และตามต่างจังหวัด ยังไม่ได้ให้ชกที่ราชดำเนิน หรือลุมพินี แต่อย่างใด
และก่อนจะอำลาสังเวียนมวยอาชีพ พจน์ได้ขึ้นชกมวยสากล ในการแข่งขันกีฬาเขตอยู่ระยะหนึ่ง จึงแขวนนวมตั้งแต่นั้น โดยหันมาซื้อขายพระเป็นหลัก
คราวนี้ไปเข้าชมรมพระที่ซอยเรวดี วันหนึ่งได้เอาเหรียญหลวงพ่อช่วง วัดบางแพรกใต้ ไปให้ป๋ายัพดู ปรากฏว่าเป็นเหรียญแท้ ขายได้เงินมาจำนวนหนึ่ง ป๋ายัพแนะนำว่า ถ้าหากเป็นเหรียญพระเกจิอาจารย์ พยายามหาเหรียญที่สร้างในช่วงปี ๒๔๐๐ กว่าๆ จะได้ราคาดีกว่าเหรียญที่ออกในยุคหลังๆ ที่เป็นเหรียญออกใหม่ไม่กี่ปี และเน้นด้วยว่า ให้หาพระกริ่ง รูปหล่อ พระปิดตา เพราะขายได้กำไรดี มีคนต้องการ ถ้าได้พระมาแล้ว เอาไปขายให้ป๋าได้เลย
พจน์ เล่าว่า "ช่วงนั้นผมอายุประมาณ ๑๘ ปี เมื่อป๋ายัพให้การสนับสนุนก็มีกำลังใจมากขึ้น จึงออกตระเวนหาพระตามที่ต่างๆ พร้อมกับตั้งตู้พระที่ตลาดนนท์ สมัยนั้นพระสมเด็จวัดเฉลิมพระเกียรติ และเหรียญหลวงพ่อช่วง ยังไม่มีของเก๊ ซื้อได้อย่างสบายใจ พอได้พระอะไรมาก็เอาไปขายป๋ายัพ บางครั้งก็เอาไปขายคนอื่นก็มี จากการได้เห็นพระบ่อยๆ และมีผู้ใหญ่สอนการดูพระให้ ทำให้มีความมั่นใจในการซื้อพระมากขึ้น บางครั้งก็ต้องเสี่ยงซื้อ หากต้องการของแท้ ขายได้ก็มีกำไร เมืองนนท์มีพระเยอะมาก ทำให้สนุกในการซื้อขายพระ เพราะมีกำไรงาม นอกจากนี้ยังได้รู้จักกับเซียนพระรุ่นใหญ่ และเซียนพระรุ่นใหม่ ทำให้คุ้นเคยกันมาก มีอะไรก็แลกเปลี่ยนความรู้กัน แนะนำกันถึงพระสำนักต่างๆ ผมซื้อขายพระอยู่ ๔-๕ ปี ต่อมาได้ขึ้นไปเปิดร้านที่ห้างไนท์เวลล์ ตลาดนนท์ และที่ห้างเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน โดยป๋ายัพชวนมา และเมื่อห้างถูกไฟไหม้ จึงได้ย้ายมาอยู่ห้างบางลำภู งามวงศ์วาน ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเจ้าของผู้บริหาร มาเป็นห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน ในทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังได้เดินสายซื้อขายพระกันอย่างจริงจัง พอถึงวันจันทร์ก็ไปตลาดราชวัตร ที่นี่มีพระเยอะมาก ทั้งดีและเก๊ ต้องอาศัยดวงช่วย หากได้พระแท้ ขายไปก็มีกำไร พอถึงวันพุธไปซื้อขายพระกันที่ตลาดสะพานใหม่ ดอนเมือง วันพฤหัสบดี ที่บางบัว บางวันไปเล่นกับป๋อง สุพรรณ ที่ร้านตุ้ม ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี และที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง การตระเวนหาพระตามที่ต่างๆ ทำให้เราเรียนรู้ดูของจริงได้มากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้นด้วย"
"การเล่นพระ ผมถือว่าโชคดีที่ได้อาจารย์ดี คือ ป๋ายัพ ซึ่งได้ถ่ายทอดวิชาการให้ผมเยอะมาก เป็นคนปั้นผมอย่างแท้จริง ทุกอย่างที่ป๋าสอน ผมจะจดจำได้หมด อาศัยที่ผมเป็นคนใจสู้ พระเก๊ไม่กลัว กล้าซื้อ โดนเป็นโดน โดนมาแล้วผมจะไม่ทำคนอื่นต่อ แต่เอาไว้จดจำเป็นบทเรียน ไม่ให้โดนอีก หลักการดูพระของผม ผมจะดูให้เล็กกว่าเขา คือจุดตำหนิต่างๆ ขององค์พระ จะต้องดูให้ละเอียดกว่าที่คนอื่นๆ เขาดูกัน ไม่ว่าจะเป็นพระอะไร ไม่ว่าจะเป็นพระดินชินผง ถ้าเป็นพระเนื้อชินเงิน จุดตายคือจะต้องมีรอยระเบิด ถ้าเป็นพระเนื้อชินตะกั่ว จะต้องมีคราบผิวปรอท ส่วนพระเนื้อสนิมแดง จะต้องมีไขขึ้น พระทุกอย่างต้องจำพิมพ์ให้ได้ก่อน แล้วถึงจะดูเนื้อพระ โดยต้องแยกรายละเอียดอื่นๆ ต้องศึกษาให้ได้พระทุกเนื้อทุกพิมพ์ ผมเล่นพระเป็นทุกหน้า ถ้าเล่นเป็นหน้าเดียวมันแคบ เอาตัวไม่รอด ต้องดูให้ได้พระทุกประเภท ใหม่เก่าเอาหมด อะไรที่ขายได้เล่นหมด แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย และศีลธรรมอันดีงาม" พจน์ กล่าวถึงแนวทางการซื้อขายพระที่ทำอยู่
พจน์ บอกอีกว่า "เคยซื้อพระฟลุกมาหลายองค์ อาทิ พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ปากเกร็ด ซื้อมา ๑.๖ แสนบาท ขายไป ๓ ล้านบาท เคยซื้อพระสมเด็จ วัดระฆัง ๑ พันบาท ขายไป ๑.๕ ล้านบาท ช่วงปี ๒๕๔๐ ยุคฟองสบู่แตก เศรษฐกิจไม่ดี มีคนเปิดท้ายขายของกันมากมาย รวมทั้งพระเครื่องก็มีคนเอามาขายกันเยอะมาก ทำให้ผมได้พระดีๆ อยู่เป็นประจำ ซื้อมาขายไป ได้กำไรดีมาก โดยเฉพาะพระปิดตา พระเกจิอาจารย์ยุคเก่า พระกริ่ง พระหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ผมหาพระแพงๆ ขายส่งเซียนใหญ่อยู่เสมอๆ ทำให้มีรายได้เดือนละหลายล้านบาท ทุกวันนี้ ผมดูพระได้โดยไม่ต้องอาศัยสายตาคนอื่น เดี่ยวตลอด ไม่เคยเรียกให้ใครมาช่วยดูให้ โดนก็โดนเอง แต่ส่วนมาก ผมพลาดผิดยาก เพราะผ่านประสบการณ์มาแล้วทุกรูปแบบ วันเวลาสอนให้เรามีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น ไม่ประมาท ไม่โลภ โอกาสจะโดน (ของเก๊) จึงมีน้อยมาก จนทุกวันนี้ ผมมีทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว"
จากชีวิตการต่อสู้มาแล้วอย่างโชกโชน พจน์ เมืองนนท์ สรุปเลยว่า ธุรกิจซื้อขายพระ เป็นอาชีพที่ทำได้อย่างง่ายๆ และสบายๆ ไม่มีเกษียณ ไม่มีเจ้านาย เป็นอาชีพน่าทำที่สุด เพราะได้เงินง่าย กำไรดี รวยเร็ว ฐานะมั่นคง แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องดูพระได้แม่นยำด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ด้วยเหตุนี้ พจน์ จึงได้สอนให้ลูกชาย ด.ช.สหพจ ผมทอง หรือ เอ็ม เมืองนนท์ หัดดูพระตั้งแต่อายุ ๙ ปี จนทุกวันนี้อายุ ๑๔ ปี สามารถดูพระได้ในระดับหนึ่ง หลักการสอนคือ จ้างให้ลูกชายเดินตามเวลาไปซื้อขายพระ วันละ ๒๐๐ บาท หากเป็นงานประกวดพระวันละ ๓๐๐ บาท หากไปพบเห็นพระที่ไหนเป็นพระแท้ น่าซื้อ ก็จะหุ้นกันซื้อ แล้วให้ลูกชายเก็บเอาไว้ศึกษาหาความรู้จากองค์พระทุกซอกมุม เมื่อจดจำได้หมดแล้วก็ให้เขาถือพระไปขาย พอขายได้ มีกำไรก็เอามาแบ่งกัน ทำให้ลูกชายเห็นว่า อาชีพนี้ได้เงินง่าย กำไรดี จึงมีความมุ่งมั่นที่จะเป็น เซียนพระ ให้ได้ในเร็ววัน
นอกจากเป็นเซียนพระเงินล้านแล้ว พจน์ เมืองนนท์ ยังมีบทบาททางการเมืองท้องถิ่นอีกด้วย โดยได้รับการเลือกตั้งเป็น นายก อบต.องครักษ์ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง มาแล้ว ๓ สมัย ๑๒ ปี เป็นขวัญใจของชาวบ้านอ่างทองมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มจ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้น จะได้รับเบี้ยยังชีพคนละ ๑ พันบาท ทำมาแล้ว ๘ ปี ก่อนที่รัฐบาลจะทำเสียอีก นับเป็น อบต.แห่งแรกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอันดับหนึ่ง ในด้านคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน
"ผมเป็นลูกชาวบ้านที่มีฐานะยากจน โดนดูถูกอยู่เสมอ คนจนไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี ผมจึงตั้งปณิธานไว้ว่า สักวันหนึ่งผมจะต้องรวย ไม่อยากยากจนต่อไปอีก จะต้องทำให้ได้ เพื่อให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ให้คนอื่นมาดูถูกเราได้อีก ผมได้เห็นแนวทางของผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือมาก่อน อย่างเช่น ท่านนายกแก้ว สิงห์บุรี และป๋ายัพ ที่เคยเป็น ส.ท.เมืองนนท์ และรองประธานสภา อบจ.นนทบุรี มาก่อน ผมจึงอยากเป็นบ้าง จึงลงรับการเลือกตั้งที่บ้านเกิดตัวเอง ก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนายก อบต.มาแล้ว ๓ สมัย จนถึงทุกวันนี้" พจน์ กล่าวด้วยความภูมิใจ
นอกจากนี้ พจน์ เมืองนนท์ ยังเป็นกรรมการบริหารสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยได้รับความไว้วางใจจาก พยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคม มาโดยตลอด ในฐานะศิษย์คนเก่งของท่าน ที่ได้ปลุกปั้นตัวของพจน์จากก้อนดิน กลายเป็นเพชร อย่างน่ามหัศจรรย์
คำสอนหนึ่งป๋ายัพสอนพจน์อยู่เสมอก็คือ "ดูพระง่าย แต่ดูคนยาก เพราะตำหนิของพระเป็นของตายตัว ไม่มีแปรเปลี่ยน แต่นิสัยคนเปลี่ยนได้ทุกวัน เพราะคนมีเลือดมีเนื้อมีจิตวิญญาณที่เปลี่ยนได้เสมอ" เป็นคำสอนที่ พจน์ เมืองนนท์ จดจำจนถึงทุกวันนี้
พจน์ เมืองนนท์ มีร้านพระอยู่ใน ชมรมพระเครื่องมรดกไทย ชั้น ๓ ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน โทร.๐๘-๗๙๙๙-๐๙๙๖
0 ตาล ตันหยง 0