
ชั่วโมงเซียน-"พระปิดตา" พระภควัมบดี-พระภควัมปติ
เมื่อกล่าวถึงพระปิดตา หลายๆ คนคงนึกถึงพระขนาดเล็กๆ มีลักษณะเด่น คือ พระอ้วนลงพุง พระกรหรือมือปิดส่วนต่างๆ เช่นใบหน้า หู สะดือ และทวาร ซึ่งพระเกจิอาจารย์ต่างๆ ทุกยุคทุกสมัยต่างนิยมสร้างขึ้น จากคำเล่าขานต่างๆ ในอดีต
หรือความเชื่อในเรื่องคงกระพันมหาอุตม์ เมตตาค้าขาย เสริมสิริมงคลแก่ผู้บูชา จากหลักฐานและข้อมูลที่มีการศึกษาในศาสนาพุทธ จากทั่วโลกที่มีการบันทึกของพระพุทธเจ้า ต่างมีข้อมูลถึงที่มาเดียวกันว่า “พระภควัมบดี” หรือ "พระภควัมปติ" อันเป็นอีกนามหนึ่งของพระสังกัจจายน์ เป็นอัครสาวกพระองค์หนึ่งของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง ว่าแล้วขอกล่าวถึงตำนานแห่งพระภควัมบดี หรือ พระภควัมปติ ถึงความเป็นมา
พระภควัมบดี เป็นพระอรหันต์สมัยพุทธกาล มีพุทธลักษณะงดงามละม้ายคล้ายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอัครสาวกรูปหนึ่งที่เพียบพร้อมไปด้วยความเฉลียวฉลาด สามารถอธิบายธรรมได้เยี่ยมยอดกว่าพระสาวกองค์อื่นๆ
พระภควัมบดีถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์-ปุโรหิต แห่งเมืองอุเชนี เนื่องจากวรรณะงดงามดั่งทอง จึงได้รับการขนานนามว่า “กาญจน” ได้ศึกษาไตรเทพจนเจนจบ และเป็นพราหมณ์ปุโรหิตแทนบิดา ในสมัยพระเจ้าจันทร์ปัตโชติ ต่อมาได้มีโอกาสได้ฟังธรรมในสำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสและศึกษาธรรมจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์และอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุสัมปทา (พระพุทธเจ้าทำการบวชให้)
พระภควัมบดีท่านมีความเป็นเลิศทางการย่อพระธรรมคัมภีร์ให้สั้นลง และอธิบายความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจได้อย่างละเอียดแจ่มแจ้ง
นอกจากนี้ ท่านยังมีรูปร่างและผิวกายงดงามมาก จนได้ชื่อว่า "พระภควัมปติ" อันมีความหมายว่า "ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า"
ด้วยเหตุที่ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดอยู่เนืองๆ ไม่เว้นแม้เทวดายังสรรเสริญ ท่านเห็นว่าหากปล่อยไว้ต่อไปจะเป็นการไม่สมควร หรือเกิดความมัวหมองต่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น พระภควัมบดีจึงอธิษฐานจิตให้ร่างกลายเปลี่ยนเป็นอ้วน เตี้ย พุงพลุ้ย ดูน่าเกลียด จวบจนนิพพาน อันมีความหมายที่กล่าวถึง พระสังกัจจายน์ อันเป็นที่รักใคร่นิยมยินดี เต็มไปด้วยลาภสักการะสรรเสริญ จนเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าท่านทรงออกเดินทางเพื่อแสดงธรรม
ในครั้งนั้น มีพระสาวกเป็นจำนวนมาก ที่พร้อมเดินทางพร้อมกับพระพุทธองค์ ด้วยสถานที่จุดหมายที่จะเดินทางไกลนั้น ใช้เวลาหลายพรรษา และประกอบกับต้องผ่านในสถานที่อันตรายต่างๆ จนเมื่อถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีความแห้งแล้งทุรกันดาร มีบรรดาภูตผีและวิญญาณที่มองไม่เห็นอยู่มากมาย ถึงขนาดเหล่าเทพเทวดาไม่อาจผ่านบริเวณที่แห่งนั้นได้
ครั้งนั้นพระพุทธองค์ได้เรียกประชุมบรรดาพระสาวกที่ตามเสด็จในครั้งนั้น เพื่อหาทางออกของการเดินทางในครั้งนี้ ซึ่งการประชุมถูกแบ่งออกเป็น ๒ ทางเลือก คือ ๑.ใช้การเดินทางอ้อม ซึ่งจะทำให้ใช้ระยะเวลาหลายเดือน และเกิดความล่าช้ากว่ากำหนด
และ ๒.เดินทางต่อโดยใช้เส้นทางเดิม ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีอันตรายตลอดการเดินทาง และมีปัญหาในการดำรงชีวิต
แต่ในการประชุมครั้งนั้นก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้กล่าวสอบถามในการเดินทางครั้งนั้นว่า “พระภควัมบดี ได้ติดตามมาในขบวนนี้ด้วยหรือไม่”
บรรดาเหล่าพระสาวกจึงตอบกลับไปว่า ในการเดินทางครั้งนี้ พระภควัมบดี ได้เดินทางมาด้วย เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ ก็ทรงพอพระทัยยิ่งนัก และได้ตอบกลับแก่บรรดาพระสาวกที่ติดตามว่า เราจะเดินทางต่อไปและใช้เส้นทางเดิม
ในการเสด็จครั้งนั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดี ต่อมาเมื่อพระภควัมบดี ได้ทราบถึงการเหตุการณ์ขึ้นของพระพุทธองค์ในการประชุมในครั้งนั้น ท่านได้คิดถึงเหตุผลต่างๆ ว่าเพราะอะไร พระพุทธองค์ถึงถามพระภควัมบดี แล้วมีความเกี่ยวข้องถึงการเดินทางได้อย่างไร พระภควัมบดี ได้นั่งสมาธิทางใน โดยใช้มือทั้งสองปิดตา เพื่อหาสาเหตุ จนกระทั่งพบว่า
ในอดีตชาติ ท่านได้เกิดเป็นชายผู้หนึ่ง ที่มีความรู้แตกฉานในการรักษาโรคต่างๆ และเป็นผู้เสียสละในการรักษาผู้ป่วย ไม่ยึดติดเงินทอง ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ชาตินี้มีแต่ผู้รักใคร่ มีปัญญาที่เฉียบแหลม และมีผู้ที่คอยปกปักรักษาคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง
ด้วยสาเหตุที่พระภควัมบดีได้นั่งสมาธิทางใน จึงเป็นที่มาของปางเข้านิโรธสมาบัติ หรือพระปิดตา ที่เห็นในปัจจุบัน โบราณจารย์ได้จำลองลักษณะแห่งพระภควัมบดีในรูปพระเครื่อง ศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นเอกลักษณ์ไว้ ๓ ประเภท เพื่อแสดงความหมายถึงพระภควัมปติ อันเป็นผู้มีความละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเอง
- พระสังกัจจายน์ อันเป็นที่รักใคร่นิยมยินดี เต็มไปด้วยลาภสักการะสรรเสริญ
- พระปิดทวารทั้ง ๙ อันเป็นการปิดกั้นอาสวะกิเลสแห่งทวารเข้าออกทั้ง ๙ ของร่างกาย
-พระปิดตามหาอุตม์ อันเป็นการป้องกันสรรพภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง
จากที่กล่าวมาในข้างต้น พระปิดตา เข้าใจกันว่า มาจากคติการสร้างพระเครื่องของเขมร เผยแพร่เข้าสู่การสร้างพระเครื่องไทย เท่าที่ค้นพบมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ส่วนพระสังกัจจายน์นั้น มีพบเห็นได้ชัดเจนในหลายๆ ประเทศ กล่าวถึงความนิยมพระปิดตาในเมืองไทย ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว่าขวางว่า เกจิอาจารย์ผู้สร้างพระปิดตาที่ได้รับความนิยมได้แก่ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ซึ่งถือว่าหายากมากๆ
หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง เป็นหนึ่งในเรื่องประสบการณ์ หลวงปู่จีน วัดท่าลาด พุทธคุณไม่เป็นสองรองใคร หลวงปู่ไข่ วัดชิงเลน
พระปิดตาในตำนานที่หายากเช่นกัน หลวงปู่จันทน์ วัดโมลี หรือปิดตาแร่บางไผ่ หลายท่านคงทราบดี หลวงพ่อทับ วัดทอง เนื้อหามวลสารที่ไม่มีใครเหมือน มากด้วยประสบการณ์ อันยาวนาน
หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ ถึงตอนนี้หาดูแทบไม่มีให้เห็นเช่นกัน หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ท่านสร้างพระปิดตาไว้หลายรุ่น ต่างมีประสบการณ์ทุกรุ่น คล้องพระปิดตารุ่นปลดหนี้ ต่างก็ใช้หนี้สินจนหมด หรือจะเป็นรุ่นเงินล้านของท่าน ในระยะเวลาไม่นานก็ต้องมีเงินล้านในกระเป๋า
ถึงปัจจุบัน มีพระเกจิอาจารย์หลายท่านที่สร้างพระปิดตาขึ้นมาใหม่ต่างก็ทำขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงพระสาวก ผู้เป็นตัวแทนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
ป๋อง สุพรรณ