
ชั่วโมงเซียน-ยันต์เหรียญหลวงปู่แขกรุ่น...เลื่อนสมณศักดิ์ที่ พระมงคลสุธี
หลวงพ่อแขก ปภาโส หรือพระมงคลสุธี เจ้าอาวาสวัดสุนทรประดิษฐ์ ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ท่านเป็นพระอาจารย์ที่ชาวพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก วัตถุมงคลของท่านที่มากด้วยประสบการณ์
แต่ละรุ่นสร้างน้อยมาก เป็นที่ต้องการของเหล่าบรรดาศิษย์และคนทั่วไปเป็นจำนวนมาก ทำให้วัตถุมงคลของท่านหายาก และใครมีต่างหวงแหนกันมาก เพราะรู้ถึงพุทธคุณดีว่าสุดยอดแค่ไหน เรื่องมหาอุด แคล้วคลาด คุ้มครอง สุดยอดไม่เป็นรองใคร ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อมีการสร้างวัตถุมงคลที่ไหน ก็มักจะมีรายชื่อหลวงปู่แขก ร่วมอธิษฐานจิตอยู่ด้วยเสมอ
ในโอกาสฉลองสมณศักดิ์ พระมงคลสุธี วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการวัด จึงจัดสร้างวัตถุมงคลเป็นที่ระลึก ในชื่อรุ่นว่า “รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์” ประกอบด้วย ๑.เหรียญเสมาเลื่อนสมณศักดิ์ รุ่นแรก ๒.รูปเหมือนลอยองค์ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ๓.พระปิดตามหาโชคลาภหลังนางกวัก ๔.เหรียญรูปไข่ครึ่งองค์ หลวงปู่แขก ปภาโส ๕.ท่านปู่ชูชก เท-หล่อรุ่นแรก ๖.ล็อกเกตเต็มองค์เลื่อนสมณศักดิ์มี ๗.ตะกรุดโภคทรัพย์ และ๘.ลูกอมพญาราหูโชคลาภพยุงดวง
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องอักขระเลขยันต์ วัตถุมงคลรุ่นนี้มีเหรียญที่น่าสนใจอยู่ ๒ เหรียญ คือ เหรียญเสมาลงยา เลื่อนสมณศักดิ์ รุ่นแรก ด้านหน้า รูปสิงห์ป้อนเหยื่อ ขนาบด้วยยันต์ นะสิงห์ นะเสือ นะมหาอำนาจ นะทรหด นะตีไม่แตก ใช้ทางมหาอำนาจ คงกระพันชาตรี ขนาบข้างซ้าย-ขวาองค์หลวงปู่ด้วยยันต์นะเงินไหลมา สูตรดั้งเดิม
อักขระขอมที่อยู่ด้านใต้ตัวเสือนั้น เป็นคาถาใช้สำหรับเสกเสือ (อ่านจากหัวเสือไปหางเสือ) ที่ว่า “ฮิม ฮัม ฮึม อะ ฮึม สุ ตัง กุ รุ สุ กุ”
คาถาบทนี้เป็นคาถาที่หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ ใช้เสกเสือ สันนิษฐานว่า ท่านน่าจะได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อแดง วันทุ่งคอก จ.สุพรรณบุรี หรือได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงพ่อหิ่ม อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพระ ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านเอง คาถาบนนี้มีพุทธคุณด้านมหาอำนาจ
ส่วนรูปสัตว์ที่อาจจะดูคล้ายมังกรจีนนั้น (ด้านซ้ายของเหรียญ) แท้ที่จริงแล้วเป็นสิงห์ ด้วยเหตุที่ว่า คาถาที่กำกับไว้ด้านล่างเป็นคาถาหัวใจราชสีห์ (อ่านจากหางสิงห์ไปหัวสิงห์) ที่ว่า “รา ชะ สิง โห สี หะ นา ทัง” ตามด้วยคาถาหัวใจธาตุ ๔ “นะ มะ พะ ทะ”
และปิดท้ายด้วย “อิ ติ” ซึ่งย่อมาจากคาถาอิติปิโสรัตนมาลา มีพุทธคุณเด่นทางคงกระพันชาตรี ในการเขียนยันต์ลงกระหม่อม (บนหัว) พระเกจิอาจารย์ทั้งยุคเก่าและปัจจุบันจะใช้มากที่สุด
โดยเฉพาะนักมวย ก่อนขึ้นเวที หัวหน้าคณะนักมวยที่มีความรู้ และผ่านการครอบครูมาแล้ว จะใช้นิ้วมือเขียนลงบนกระหม่อมก่อนขึ้นชก โดยมีความเชื่อว่า หากถูกศอกหรือหมัดฝ่ายตรงข้าม จะไม่แตก ระหว่างเขียนจะภาวนาว่า “ขะ กะ ชะ นะ”
จุดเด่นของยันต์ที่ปรากฏอยู่ด้านหน้าจะพบว่า มียันต์ นะ ๑๐๘ อยู่หลายตัว ยันต์ นะ ตัวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “นะ ทรหด” (ยันต์ที่อยู่ระหว่างปากเสือกับปากสิงห์) “นะ เสือ” (ยันต์ที่เขียนอยู่บริเวณหางเสือ) “นะ สิงห์” (ยันต์ที่เขียนอยู่บริเวณหางสิงห์)
นอกจากนี้แล้ว มี นะ อีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “นะ แรด” (เขียนไว้ด้านแขนขวาของหลวงพ่อ) การลงยันต์ ๒ ตัวนี้ เพื่อต้องการให้มีพุทธคุณโดดเด่นด้าน คงทน มีกำลังมหาศาลเหมือนแรด
ด้านหลังของเหรียญซึ่งมีประกอบด้วย รูปสิงห์-เสือป้อนเหยื่อชูพัด (พัดยศ) สื่อความหมายถึง การเฉลิมฉลองสมณศักดิ์ ประกอบด้วยยันต์ นะมหาเสน่ห์ นะทรหด นะฉัตรเพชร นะกำจัด นะมหาละลวย นะเงินไหลมา นะพระเจ้าห้าพระองค์ (นะพุทธซ้อน) ครอบจักรวาล นะคุณบิดามารดา นะเศรษฐี นะเข้าหา ยันต์ทุกอย่างใช้ในทางเมตตา แคล้วคลาด ร่ำรวย เสน่หา ทรหดอดทน และความร่วมเย็นเป็นสุข ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง และอำนาจวาสนา
ยันต์ที่เขียนอยู่บนหลังเสือ คือ “ อุ อา กะ สะ” ซึ่งเป็นคาถาหัวใจเศรษฐี ส่วนหลังสิงห์ คือ “นะ มะ พะ ทะ” (น้ำ ดิน ไฟ ลม) ซึ่งเป็นคาถาหัวใจธาตุ ๔ หรือหัวใจสิ่งมีชีวิต
อุปเท่ห์ในการเขียนยันต์ตัวนี้ จะเขียนทุกครั้งที่มีรูปภาพสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นรูปสัตว์ รูปพระเกจิอาจารย์ รวมทั้งเทพเทวดาทั้งหลาย
ส่วนยันต์ที่อยู่ระหว่างขาสิงห์ด้านหลัง คือ คาถาหัวใจอิทธิฤทธิ์ ที่ว่า “อิท ธิ ริด ธิ” ในตำราทุกสำนักคาถาหัวใจอิทธิฤทธิ์ จะใช้ว่า “อะ หัง นุ กา” การลงยันต์ตัวนี้เพื่อให้เกิดพุทธคุณด้านอำนาจและอิทธิฤทธิ์
ส่วนยันต์ที่อยู่ระหว่างขาเสือด้านหลัง คือ คาถาหัวใจโจร ที่ว่า “กัน หะ เน หะ” เพื่อให้เกิดพุทธคุณด้านคงทน และ คุ้มภัย
ยันต์หลังเหรียญหล่อ
ยันต์ด้านหลังเหรียญหล่อหลวงปู่แขกนั้น เป็นยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ ซึ่งเป็นแม่ธาตุใหญ่ ที่ว่า “นะ โม พุท ธา ยะ”
ในการจัดสร้างเหรียญ และผ้ายันต์ ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือสำนักใด จะพบว่า มีการใช้ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ มากที่สุด
นอกจากนี้แล้ว ยังพบว่า ในการเจิมบ้าน เจิมรถ รวมทั้งเจิมสิ่งของอื่นๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่สิ่งของนั้นๆ พระเกจิอาจารย์ทั้งยุคโบราณและปัจจุบัน ก็จะนิยมใช้ด้วย
ส่วนรูปแบบการเขียนยันต์นั้น ขึ้นอยู่กับการประดิดประดอยให้ยันต์มีความสวยงาม ถ้าเขียนลงบนเหรียญ หรือผ้ายันต์ จะเขียนซ้อนกัน
ในกรณีการสร้างพระสายหลวงปู่และสายเขาอ้อ การเขียนพระเจ้า ๕ พระองค์ ส่วนใหญ่จะเขียนเรียงตัว รวมทั้งยันต์อื่นๆ ก็จะเขียนเรียงตัวเช่นกัน
ส่วนเหรียญที่จัสร้างโดยพระเกจิอาจารย์ในภาคกลาง จะนิยมเขียนซ้อนกัน ทั้งนี้อาจจะมีความสับสน ระหว่างยันต์พุทซ้อน กับยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ ที่เขียนซ้อนกัน ยันต์พุทซ้อน คือ การเขียนยันต์ตัวพุทซ้อนกัน ๕ ตัว ส่วน ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ นั้นยันต์ตัวในสุดจะเป็นตัว “นะ” ส่วนตัว “ยะ” จะเขียนไว้ด้านล่างไม่ได้เขียนซ้อนอยู่ด้านใน
ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ หากเอายันต์ตัว “ยะ” มาเขียนครอบวงนอกอีกครั้งหนึ่ง จะเรียกยันต์ดังกล่าวว่า “ยันต์เจ้าอมโลก” หรือ “ยันต์ภัทรกัปล์” ทำให้ยันต์นั้นมีพุทธคุณครอบจักรวาล ซึ่งเป็นยันต์ที่หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ ใช้ลงผ้ายันต์ และตะกรุดโทน นอกจากนี้เป็นตำราของหลวงพ่อมี วัดมารวิชัย จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านจะใช้ตัว “ยะ” ซึ่งมีหางขึ้นเป็นอุณาโลม เขียนล้อมไว้ด้านนอกอีกครั้งหนึ่ง จะเรียกว่า “ยันต์นะทรงธรณี” ซึ่งปรากฏในผ้ายันต์ และในเหรียญของท่าน
อย่างไรก็ตาม การจัดสร้างวัตถุมงคล รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ของหลวงปู่แขก ปัจจัยที่ทางวัดจะนำไปบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัดที่ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา เพื่อให้สมบูรณ์ดังเดิม ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ เมษายน นี้ จะมีการเททองหล่อพระพุทธรูปประจำวัน รวม ๗ องค์ และปลุกเสกวัตถุมงคล
สำหรับผู้ที่ไปร่วมงานฉลองสมณศักดิ์ จะได้รับแจกฟรี เหรียญเม็ดแตง นั่งเต็มองค์ เนื้อทองแดง เป็นที่ระลึก พุทธศาสนิกชนร่วมบุญติดต่อสอบถามได้ที่พระอาจารย์ประสิทธิ์ พระเลขาหลวงปู่แขก โทร.๐๘-๕๓๘๐-๗๐๖ และ ๐๘-๘๑๕๒-๙๙๔๘
อ.โสภณ