ศรัทธาสายมู

รู้จักประวัติ 'หลวงพ่อแถม วัดช้างแทงกระจาด' เกจิอาจารย์แห่งเพชรบุรี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จักพระเกจิอาจารย์สายวิชาอยู่ยงคงกระพัน 'หลวงพ่อแถม วัดช้างแทงกระจาด' เพชรบุรี ศิษย์พุทธาคมหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง ที่นายกอบต.ต้นมะม่วง ศรัทธายิ่ง หลังรอดตายเหตุกราดยิง 3 ราย

จากข่าวคราวการเปิดใจ เหตุการณ์ ร.ต.ต.กนกศักดิ์ มุทธากาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้นมะม่วง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ที่รอดตายจากเหตุการณ์ชายคลั่งกราดยิงเมื่อ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยนายกอบต.ต้นมะม่วง เชื่อมั่นว่าที่รอดความตายมาได้ เพราะบารมีหลวงพ่อแถม วัดช้างแทงกระจาด เกจิอาจารย์รูปสำคัญที่ผู้คนให้ความเคารพศรัทธา 

หลวงพ่อแถม วัดช้างแทงกระจาดกับ นายกอบต.ต้นมะม่วง
หลวงพ่อแถม แห่งวัดช้างแทงกระจาดนั้น เป็นพระเกจิอาจารย์ ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคม พุทธาคม ในสายของ หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เถราจารย์รูปสำคัญ ครูอาจารย์ในยุคอดีต  วิชาอาคมที่เป็นที่เลื่องลือของหลวงพ่อแถม ท่านเด่นในด้านอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะ ตะกรุด ของท่านนั้นถือว่าเป็นมหาอำนาจในทางอยู่ยง

พระครูมนูญสีลสังวร หรือ หลวงพ่อแถม สีลสังวโร

สำหรับประวัติของ หลวงพ่อแถม นามเดิม ถาวร นามสกุล หนูสิงห์ เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 26 มิ.ย. 2485 บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 7 ต.ห้วยทรายเหนือ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีพี่น้อง 5 คน ท่านเป็นลูกคนที่ 3 ของครอบครัว นายถม-นางมอม หนูสิงห์

เมื่ออายุ 14 ปี เด็กชายถาวร ได้บรรพชาเป็นสามเณร วันที่ 16 เม.ย. 2499 ที่วัดหนองกระทุ่ม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี มี พระครูขันตยารักษ์ หรือ หลวงพ่อป่อง เจ้าอาวาสวัดหนองกระทุ่ม เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบรรพชาแล้วได้ศึกษาหนังสือขอมจาก โยมตาพรหม ของท่านและ หลวงพ่อป่อง จนมีความชำนาญสามารถอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ได้ 3 พรรษา

พระครูมนูญสีลสังวร หรือ หลวงพ่อแถม สีลสังวโร

ได้ลาสิกขาออกมาช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพจนกระทั่งอายุ 22 ปี เกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงหันหน้าเข้าวัด อุปสมบทที่วัดช้างแทงกระจาด ต.สามพระยา อ.ชะอำ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2507 มีพระครูวชิรรังสี หรือหลวงพ่อจันทร์ ธัมมสโร วัดมฤคทายวัน อ.ชะอำ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “สีลสังวโร” ภายหลังอุปสมบท ท่านตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง หมั่นพิจารณาคำสอนของครูบาอาจารย์อย่างถ่องแท้ ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะอุทิศกายถวายชีวิตอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาตลอดไป ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดช้างแทงกระจาด สำหรับหลวงพ่อจันทร์ วัดมฤคทายวัน พระอุปัชฌาย์ของท่าน เป็นศิษย์เอกของ หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ต.บางเก่า อ.ชะอำ และหลวงพ่อทองศุขได้ส่งหลวงพ่อจันทร์ มาสร้างอุโบสถวัดช้างแทงกระจาดด้วย

พระครูมนูญสีลสังวร หรือ หลวงพ่อแถม สีลสังวโร
ยามมีเวลาว่างจากงาน ศาสนกิจ หลวงพ่อแถม ได้ไปกราบหลวงพ่อจันทร์ เป็นพระอาจารย์ขอเรียนวิชา ซึ่งหลวงพ่อจันทร์ก็สอนให้ด้วยความเมตตาแบบไม่ปิดบังเมื่อมีทั้งภูมิรู้-ภูมิธรรม อีกทั้งได้สืบทอดสรรพวิชาจากพระเกจิผู้ทรงวิทยาคุณ หลวงพ่อแถมได้นำมาสงเคราะห์ปัดเป่ารักษาชาวบ้านในชุมชนรอบวัดช้างแทงกระจาด ให้อยู่เย็นเป็นสุข 

แต่ท่านก็ไม่ทิ้งการพัฒนาวัดช้างแทงกระจาด ด้วยท่านมีฝีมือในการก่อสร้างกุฏิ วิหารและศาลาการเปรียญ จึงเสร็จสมบูรณ์ หลวงพ่อแถมได้ไปสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่ง คือ วัด ทุ่งญวน และวัดนี้เป็นวัดที่ท่านเคยไปจำพรรษา ต่อมาพ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ในราชทินนาม พระครู มนูญสีลสังวร

พระครูมนูญสีลสังวร หรือ หลวงพ่อแถม สีลสังวโร
หลวงพ่อแถมเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอันเป็นที่เคารพบูชาของชาวพุทธศาสนิกชนอีกรูปหนึ่งของเมืองเพชร เป็นพระที่ผู้ใดได้เข้ากราบไหว้จะพบว่าท่านเป็นพระที่เรียบง่าย ใจดี พูดจาไพเราะ ใจเย็น ยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน เปี่ยมไปด้วยเมตตา ต้อนรับทุกคนด้วยความเสมอภาค พูดคุยกับญาติโยมอย่างเป็นกันเอง กล่าวได้ว่านามของ หลวงพ่อแถม วัดช้างแทงกระจาด เป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ งานพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่นดังแทบทุกรุ่นต้องมีชื่อของท่านเข้าร่วมพิธีด้วยแทบทุกงาน จนได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้า

พระครูมนูญสีลสังวร หรือ หลวงพ่อแถม สีลสังวโร

logoline