ศรัทธาสายมู

"ป่อเต็กตึ๊ง" มูลนิธิต้นแบบจิตอาสา ศูนย์รวมศรัทธา ชาวจีน ชาวไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ป่อเต็กตึ๊ง" มูลนิธิต้นแบบจิตอาสา ศูนย์รวมศรัทธา ชาวจีน-ชาวไทย ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก มายาวนานถึง 116 ปี

ชาวไทย ชาวจีน หรือท่านที่พักอาศัยในประเทศนี้ ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ป่อเต็กตึ๊ง เพราะองค์กรนี้ ทำงานจิตอาสา ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก มาร้อยกว่าปีแล้ว (116 ปี ) จนเป็นที่คุ้นเคยของประชาชน คือ มีภัยที่ไหน จะเห็น ป่อ เต็ก ตึ๊ง ที่นั่น

 

หน้าที่หลักขององค์กรตั้งแต่แรกตั้ง คือ เก็บศพอนาถา โดยใช้รถลาก เพราะรถยนตร์ไม่มี เหมือนทุกวันนี้ หน้าที่ลำดับต่อมาคือ สังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ทุกชีวิตอยู่ดี มีสุข เมื่อมีทุกข์เข้าไปแก้ไข มีภัยก็ให้การช่วยเหลือ โดยไม่เลือกชั้น วรรณะ ดังสโลแกนว่า มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต และสร้างชีวิต 

ที่ตั้งมูลนิธิ คือเลขที่ 326 ถนนเจ้าคำรพ เขตป้อมปราบฯ กทม. 10100 เจ้าหน้าที่ทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่เชื่อโทรสายด่วน 1418 ดูก็ได้

ผมเดินทางไปที่ศาลหลวงปู่ไต้ ฮง กง ซึ่งเป็นที่มาของป่อเต็กตึ๊ง เมื่อบ่ายวันที่  22 มกราคม 2566 ก่อนที่นักการเมืองระดับบิ๊ก ๆ จะมาหาเสียง ได้พบมวลมหาประชาชนแน่นศาลเจ้าเลยครับ

ศาลเจ้าไต้ ฮง กง

แต่ละคน ทั้งหญิงชาย ทั้งเฒ่า ทั้งหนุ่มสาว ถือธูป แผ่นเงิน แผ่นทอง ตั้งจิตอธิษฐานขอให้สมหวัง กับสิ่งที่ปรารถนา บางกลุ่มก็เตรียมเงินบริจาคที่มีราคาแตกต่าง คือซื้อโลงศพ 600 บาท ผ้าดิบห่อศพ 50 บาท ถ้าซื้อที่ดินฝังศพก็ 5,000 บาท ซื้อข้าวสารถุงละ 70 บาท

ศรัทธาแบบไหน ก็น้อมใจบริจาคแบบนั้น

สำหรับประวัติหลวงปู่ไต้ฮงกง นั้น ท่านเกิดและมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ้อง เป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไป เพราะมีเมตตาช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบภัยต่าง ๆ รวมทั้งได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ถนน หนทางและสะพาน

หลวงปู่ไต้ ฮง กง

การเสียสละและช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ของหลวงปู่ เป็นที่ชื่นชมของประชาชน และกลายเป็นต้นแบบสาธารณะสงเคราะห์ในไทยคือการเกิดองค์กรการกุศล ต่อมาคือ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

 

ก่อนที่จะมีมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยเก็บศพอนาถานั้น สภาพแวดล้อมใน กรุงเทพเมื่อ 100 กว่าปี คงเลอะเทอะ เช่นเมื่อเกิดโรคระบาด คนตายมาก เผาไม่ทันต้องทิ้งให้แร้งกาจิกกิน จนเกิดคำว่า อีแร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์ นั่นไง

 

เมื่อเจอสภาพอุจาดตาเช่นนี้ คนจีนที่มาพึ่งบรมโพธิสมภาร ได้ดิบได้ดี เป็นเจ้าสัว เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี จึงคิดตอบแทนคุณแผ่นดิน ด้วยการจัดตั้งสังคมสงเคราะห์ ตามรูปแบบที่หลวงปู่ ไต้ฮงกง ทำในเมืองจีน องค์กรการกุศลเอกชนจึงเกิดขึ้น ใน พ.ศ. 2453

ป่อเต็กตึ๊ง

ต่อมา พ.ศ. 2480 จึงจดทะเบียนมูลนิธิ นามว่า ฮั่ว เคี้ยว ป่อ เต็ก เซียง ตึ๊ง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ป่อเต็กตึ๊ง ดำเนินการมา 116 ปี มีบทบาทครอบคลุม หลายรูปแบบ มิใช่แค่เก็บศพอนาถาเท่านั้น แต่ทำงานส่งเสริมการศึกษา การรักษาพยาบาล ช่วยเหลือตั้งโรงทานแจกอาหารในสถานที่เกิดภัยต่าง ๆ

 

แม้กระทั่งนำข้าวต้มชามแรกไปให้คนจีนที่มาทางเรือขึ้นฝั่งแล้วได้กิน ดับความหิวให้คนจีนทั้งหลาย คนเหล่านั้นได้ดีแล้ว ไม่มีใครลืมข้าวต้มชามแรก ที่ป่อเต็กตึ๊ง จัดให้บนแผ่นดินไทย เมื่อป่อเต็กตึ๊ง ขอความช่วยเหลือจะมาทันที

 

ปัจจุบันมูลนิธินี้ เป็นองค์กรการกุศลเอกชน ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ยี่กอฮง

สำหรับประวัติ พระอนุวัตรราชนิยม (ฮง หรือ ยี่กอฮง ต้นตระกูล เตชวณิช) นั้น ท่านเป็นชาวจีนกวางตุ้ง อพยพเข้าไทยเมื่ออายุ 16 ปี ไปประกอบสัมมาชีพที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แต่งงานกับสาวล้านนา เดินทางค้าขายกรุงเทพกับเชียงใหม่ จนมีฐานะมั่งคั่ง เมื่อลงมากรุงเทพ จอดแพหน้าบ้านเจ้าคุณโชฎึกราชเศรษฐี ที่อยู่ตรงข้ามกับวัดอรุณราชวราราม

 

ต่อมาย้ายมาอยู่กรุงเทพฯถาวร โดยตั้งบ้านเรือนที่ถนนพลับพลาไชย ประกอบอาชีพในกรุงเทพมีฐานะมั่งคั่ง ได้เป็นนายอากร บ่อน เบี้ย และให้กำเนิด หวย กข.

 

งานบริการสาธารณะนั้น ท่านบริจาคที่ดินให้ส่วนราชการหลายแห่ง สร้างโรงพยาบาลเทียนฟ้า สร้างโรงเรียนเผยอิง ที่ถนนทรงวาด ที่ว่าเป็นโรงเรียนสร้างเจ้าสัว สร้างสะพานข้ามคลอง ติดกับวัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู

 

ส่วนที่ตั้งบ้านนั้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 1-2 ทางตำรวจจึงตั้งศาลเจ้าพ่อยี่กอฮง ให้คนเคารพบูชา

ศาลเจ้าพ่อ บนชั้น 4 สน.พลับพลาไชย

ก่อนวันหวยออก คนแน่นหน้าศาล เพื่อขอเลขเด็ด หวยออกคน ไม่แน่นมาก มีเฉพาะผู้โชคดีไปแก้บน จึงถือว่าเป็น สน.เดียวที่ตั้งศาลเจ้าพ่อบนดาดฟ้า

 

พระอนุวัตรราชนิยม ถึงแก่กรรม วันที่ 5 มีนาคม 2479 อายุ 85 ปี ญาตินำศพไปฝังที่เมืองจีน ที่เมืองไทยมีป้ายชื่อให้ลูกหลาน ไว้กราบไหว้ บูชาเท่านั้น

 

การที่เราบริจาคให้มูลนิธิ เท่ากับต่อยอดกิจกรรมเพื่อสังคมสงเคราะห์ สมกับสโลแกนมูลนิธิ ว่าช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต

แนะนำ

ท่านคงเคยได้ยิน หนังสือพิมพ์กำแพงมาบ้าง ทุกวันนี้คิดว่าไม่มีแล้ว เพราะเทคโนโลยีก้าวไกล ไปเป็นออนไลน์ สามารถอ่าน นสพ.จากมือถือก็ได้ แต่ นสพ.สากล ภาษาจีน ถนนเสือป่า ยังรักษาหนังสือกำแพง ไว้หาดู หาอ่านได้ฟรี

หนังสือพิมพ์กำแพง

อนึ่ง ถ้าทำบุญแล้วอยากกินอาหาร อร่อย ๆ (ตอนค่ำ ๆ) แนะนำให้ไป 5 แยกพลับพลาไชย มีก๋วยเตี๋ยว คั่วไก่ หลายเจ้าในซอยใกล้ 5 แยก มีรสชาติ ที่ขอบอกว่าเชลล์ ลืมชิมครับ

 

 

โดย ส.สุดโต (เจ้าเก่า)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ