ศรัทธาสายมู

หนึ่งใน เกจิดัง ของ นนทบุรี หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกจิในตำนาน ของ เมืองนนทบุรี หลวงพ่อแฉ่ง สีลปัญโญ วัดบางพัง หนึ่งในผู้ทรงพุทธาคมรูปหนึ่งในอดีต เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลดังๆ เช่น พิธีที่วัดราชบพิธ พ.ศ.2481 พิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ

หากใครเดินทางไปไหว้สักการะขอพร ที่ศาลพระพิฆเนศ ห้วยขวาง ด้านในศาลนั้น จะมีรูปพระสงฆ์รูปหนึ่งนั้น เชื่อว่าบางคนสงสัยว่า ท่านเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไรต่อศาลแห่งนี้ เท่าที่สืบหาข้อมูลและประวัติต่างๆ รู้ว่า พระสงฆ์รูปนี้ นามว่า หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง นนทบุรี และเป็นอาจารย์ของผู้ก่อตั้งศาลพระพิฆเนศ ห้วยขวาง อาจารย์สุชาติ รัตนสุข 


สำหรับ ประวัติของ หลวงพ่อแฉ่ง ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ 2428 ตรงกับขึ้น12 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นบุตรของนาย สิน - นางขลิบ รัตนบุญสิน บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ12 ปี อุปสมบท เป็นพระภิกษุ  เมื่ออายุได้ 20 ปี บริบูรณ์

หนึ่งใน เกจิดัง ของ นนทบุรี หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง

สำหรับ วัดศรีรัตนารามหรือวัดบางพัง ตั้งอยู่เลขที่ 39 บ้านคลองบางพัง ซอยสวัสดี หมู่ที่ 2 ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สังกัดมหานิกาย เป็นวัดโบราณสร้างครั้งสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวปี พ.ศ.2305 ไม่ทราบนามผู้สร้างชัดเจน

ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดบางพัง ตามท้องที่ที่ตั้งไว้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี สาเหตุที่ชื่อวัดบางพังนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากัดเซาะพื้นดินริมตลิ่งแถบบริเวณนั้นพังมากเป็นบริเวณกว้างมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว จึงได้เรียกกันว่าตลิ่งพังแล้ว และกลายมาเป็นบางพังในที่สุด วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ในวิถีเส้นทางพุทธาคม หลวงพ่อแฉ่ง ท่านเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้มากครูบาอาจารย์ท่านเยอะ สมัยก่อนอาจารย์ใดเข้มขลังหลวงพ่อแฉ่งท่านจะไปขอเรียนวิชาด้วยแทบทั้งสิ้น   จากเหนือจรดใต้ จากตะวันออกสู่ตะวันตก แม้นวิชาในสายเขาอ้อหลวงพ่อแฉ่งยังได้เรียนรู้มา ด้วยตำราหลายอย่างของท่านตรงกับตำราเขาอ้อ เชื่อมั่นว่าต้องเคยเรียนรู้มาอย่างแน่นอน   ครูบาอาจารย์ของท่านเท่าที่ทราบมีดังนี้

หนึ่งใน เกจิดัง ของ นนทบุรี หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง

1. หลวงพ่อปาน  วัดบางเหี้ย  เรียนทางมหาอำนาจปลุกเสกเขี้ยวเสือแกะ   เรียนทำน้ำมนต์  ฯลฯ
2. หลวงพ่อทอง  วัดราชโยธา  เรียนทางกรรมฐาน  การปลุกเสกพระเครื่อง  การลงอักขระยันต์  ฯลฯ
3.หลวงพ่อศุข  วัดปากคลองมะขามเฒ่า  เรียนทางคงกระพัน  ปลุกเสกของขลัง  ผูกหุ่นพยนต์  ฯลฯ
4. หลวงพ่อปาน  วัดบางนมโค  เรียนการปลุกเสกพระ  เรียนยันต์เกราะเพชร   ยันต์เทาะ  ยันต์กันไฟ  
 5. หลวงพ่อไข่  วัดเชิงเลน  เรียนบรรจุพระบูชา  วิชามหาอุตม์  ปลุกเสกพระเครื่อง ฯลฯ
6. หลวงพ่อฉาย  วัดพนัญเชิงวรวิหาร    เรียนลงตะกรุดโภคทรัพย์  ตะกรุดสามกษัตริย์  ฯลฯ
7. หลวงพ่อวัดเขาลูกช้าง   เรียนยันต์พรหมสี่หน้า  เรียนทางเมตตา ฯลฯ
8.พระอาจารย์จอง  เรียนหุงสีผึ้ง  ฯลฯ
9.พระอาจารย์ปลอด ลพบุรี  เรียนหุงสีผึ้งเมตตา  ลงตะกรุดไม้ไผ่มหาอุตม์ ฯลฯ
10. หลวงพ่อจง  วัดหน้าต่างนอก  เรียนลงตะกรุดมหารูด  การลงยันต์ราชสีห์  ฯลฯ
11. พระพุทธวิหาร   เรียนประสานกระดูก, วิธีลงเสื้อยันต์เกราะเพชร ฯลฯ
12. พระครูขันธ์  วัดสระเกศ  เรียนวิธีลง นะ บางอย่าง  การทำน้ำมนต์  ฯลฯ

13. เจ้าคุณวัดใต้  ตลาดพลู  วิธีทำลูกอมคงกระพัน
14. ท่านเจ้ามา  วัดสามปลื้ม  วิธีบรรจุพระประจำวันเกิด  ฯลฯ
15. พระอาจารย์หยิบ  วัดทุ่ง  เรียนการลงโภคทรัพย์  ฯลฯ
16.หลวงพ่อเงิน  วัดพระปรางค์เหลือง  เรียนลงสาลิกา  วิธีลงโภคทรัพย์ ฯลฯ
17. พระอาจารย์เขมร  เรียนลงผ้าพระพุทธคุณ ฯลฯ
18. พระอาจารย์เขียว  วัดจันทร์สโมสร  เรียนทำน้ำพระพุทธมนต์คว่ำไห   วิธีทำนางกวัก  ฯลฯ
นะปัดตลอด วิชาดังกล่าวนี้ในสมัยแรก ๆ ช่วงที่ท่านยังไม่ได้สร้างพระเครื่องมากมายนัก  เป็นยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2  โดยทุก ๆ ปีหลวงพ่อแฉ่งท่านจะจัดงานไหว้ครูที่วัดบางพัง  หนุ่ม ๆ สมัยนั้นก็มีทั้งที่เชื่อถือท่านและพวกวางเฉย ด้วยเวลานั้นท่านยังหนุ่มดูภายนอกไม่น่าจะขลัง  แต่ฅนใกล้ตัวเริ่มทราบแล้วว่าท่านมีอาคม  เพราะเห็นท่านลงอาถรรพ์ที่เขื่อนข้างวัด   ด้วยสมัยก่อนพวกเรือโดยสารเมื่อผ่านวัดบางพัง   พวกเรือนี้ไม่เกรงใจมักเร่งเครื่องเรือผ่านไปอย่างเร็ว    ทำให้เกิดคลื่นซัดตลิ่งวัดพังเสียหาย  ภายหลังทราบว่าท่านลงอักขระคาถานารายณ์คลายจักร  ใส่ลงในก้อนอิฐ   แล้วใช้ให้นายกุ่ยศิษย์ชาวจีนนำไปจมไว้ที่มุมตลิ่งวัด  ปรากฏว่าเมื่อเรือลำใดผ่านมาไม่ยอมเบาเครื่อง  เรือจะดับลงทันทีจนเมื่อลอยผ่านพ้นเขตวัดบางพังไปแล้ว  เรือจึงสามารถติดเครื่องได้  เป็นเช่นนี้จนพวกฅนเรือลือบอกกันทั่ว  แต่นั้นมาพวกฅนเรือจะเบาเครื่อง  เมื่อแล่นผ่านวัดบางพัง นับแต่บัดนั้น.


ในงานไหว้ครูช่วงปีแรก ๆ หลวงพ่อแฉ่งท่านจะลงกระหม่อมให้ศิษย์  โดยใช้เหล็กจารเขียนอักขระบนกระหม่อมศิษย์  โดยให้ศิษย์นั่งบนใบตองกล้วยพนมมือ  ส่วนตัวหลวงพ่อแฉ่งท่านจะใช้เหล็กจารเขียนอักขระ  เมื่อเสกเป่าเสร็จแล้วท่านจะป้อนน้ำมันงาเสก  น้ำมันนี้หลวงพ่อแฉ่งท่านเสกจนแข็งเป็นเกล็ด  ใช้ช้อนตักป้อนให้ศิษย์กินน้ำมันงา  แล้วท่านจะทำพิธีผูกอาคมลงในตัวศิษย์

 

โดยเสกปิดทวารทั้ง 9และที่สะดืออีก 1 แห่ง เพื่อตรึงอาคมไว้ให้อยู่คู่ตัวศิษย์  เมื่อลงนะปัดตลอดและป้อนน้ำมันเสร็จแล้ว  หลวงพ่อแฉ่งสั่งให้ศิษย์ลุกขึ้น  พลางชี้ให้ดูที่ใบตอนกล้วยที่ศิษย์เคยนั่งทับ  แลเห็นเป็นตัวอักขระยันต์ นะปัดตลอดติดอยู่ที่ใบตองชัดเจนมาก  หลวงพ่อแฉ่งท่านเคยกล่าวว่า  ลงปัดตลอดสำเร็จจริงต้องเสกจนทะลุ  นี้เป็นความขลังของท่านที่ได้รับการกล่าวขวัญถึง

เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ผู้ทรงพุทธาคมรูปหนึ่งในอดีต ได้เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลดังๆ เช่น พิธีที่วัดราชบพิธ พ.ศ.2481 พิธีพุทธาภิเษกพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ในการพุทธาภิเษกพระกริ่งในเจ้าคุณศรีฯ วัดสุทัศน์ จะต้องนิมนต์พระหลวงพ่อแฉ่งร่วมปลุกเสกทุกครั้ง
 

วัตถุมงคลหลวงพ่อแฉ่ง มีมากมาย ทั้งพระเนื้อผงพิมพ์ทรงสัตว์ต่างๆ มีหลายประเภททั้งพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์สามเหรียญ เนื้อผง พระรอด ตะกรุด ผ้ายันต์ธง ทรายเสก พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ พระประจำวัน นางกวัก พระพุทธกวัก สามเหลี่ยม พระสีวลีชนิดบูชา-คล้องคอ เนื้อหามีทั้ง ดิน ผงน้ำมัน ผงพุทธคุณ แต่ที่ได้รับความนิยมมากๆ คือ ชนิดผงน้ำมัน เพราะเนื้อหาดูง่าย เนื้อจัด หนึกนุ่ม ส่องแล้วสบายตา ราคาสบายใจไม่แพงมาก

แรงจูงใจในการจัดสร้าง บรรดาศิษย์และผู้ใกล้ชิดที่ศรัทธาพร้อมใจกันขอให้หลวงพ่อสร้างอิทธิวัตถุ เพื่อเป็นของที่ระลึกและคุ้มครองป้องกันภัย ประกอบกับในระยะนั้นสงครามมีท่าทีเกิดขึ้น ผู้คนเริ่มเสาะแสวงหาวัตถุมงคลไว้คุ้มกันตัว และเพื่อตอบแทนชาวบ้านที่มาร่วมทำบุญบริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด หลวงพ่อแฉ่งได้สร้างวัตถุมงคลในปี พ.ศ.2484 แจกให้ศิษย์และชาวบ้านที่ศรัทธา

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2500 สิริอายุ 72 ปี พรรษา 52

สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฏกษัตริยาราม โปรดให้ เคลื่อนสรีระไปพระราชทานเพลิง เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2501 ที่ วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ