พระเครื่อง

ไหว้พระขอพร ปีใหม่ กับ 3 พระพุทธรูปสำคัญ เมืองเชียงใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แนะนำ สถานที่ ไหว้พระขอพร เสริมสิริมงคลปีใหม่ กับ 3 พระพุทธรูปสำคัญโบราณ พระพุทธสิหิงค์ พระเจ้าเก้าตื้อ และ หลวงพ่อทันใจ ของ เมืองเชียงใหม่

ในช่วงฤดูหนาว และเข้าปลายปีแบบนี้ บรรยากาศการท่องเที่ยว ย่อมคึกคัก หลายท่านเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา อีกหลายคน ก็เลือกหาที่พักผ่อน คลายความเหนื่อยล้าตลอดปีที่ทำงานหนักกันมา หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว ที่เป็นหมุดหมายของหลาย ๆ คน นั่นคือ จังหวัดเชียงใหม่ และในบรรยากาศต้อนรับปีใหม่ คนที่มีความเชื่อความศรัทธา ก็เตรียมที่จะทำบุญเสริมสิริมงคล เพื่อชีวิตที่มีสุข สงบ ตลอดปีที่กำลังใจ ครั้งนี้จึงขอแนะนำ 3 พระพุทธรูป ประจำวัดสำคัญ แห่ง เมืองเชียงใหม่ ที่ควรจะไปทำบุญ

1.พระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก หรือ วัดบุบผาราม

พระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก หรือ วัดบุบผาราม

อารามสำคัญ ของ เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่มีพระพุทธรูปสำคัญอย่าง พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสวนดอก หรือวัดบุบผาราม พระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ที่สวยงามองค์หนึ่งของล้านนา สำหรับคำว่า ตื้อ เป็นหน่วยวัดน้ำหนักโลหะของล้านนาในสมัยโบราณ ซึ่ง 1 ตื้อ เท่ากับ 1,000 กิโลกรัม บางตำรากล่าวว่า 1 ตื้อ หนักเท่ากับ 1,200 กิโลกรัม พระเจ้าเก้าตื้อ หมายถึงพระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะหนัก 9,000 กิโลกรัม หรือ 9 ตัน

ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า พระเจ้าเมืองแก้ว หรือพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช หรืออีกพระนามหนึ่งคือ พระติลกปนัดดาธิราชกษัตริย์รัชกาลที่ 14 แห่งราชวงศ์มังราย ที่ครองอาณาจักรล้านนา ได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น เพื่อเป็นประธานในวิหารพระสิงห์ โดยได้เริ่มทำการหล่อในวันพฤหัสบดี เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีชวด ฉอศก จุลศักราช 866 (พ.ศ. 2047) เมื่อหล่อได้ทำการตกแต่ง จนถึงวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 5 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช 467 (พุทธศักราช 2048) จึงสำเร็จบริบูรณ์ องค์พระมีที่ต่อ 8 แห่ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากองค์พระมีน้ำหนักมากเมื่อหล่อเสร็จไม่สามารถชะลอเข้าเมืองได้ พระองค์จึงโปรดฯ ให้สร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐาน ณ บริเวณใกล้ ๆ กับพระอารามวัดบุปผารามหรือวัดสวนดอก ครั้นถึงวันพุธเดือน 5 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช 870 (พุทธศักราช 2052) จึงได้มีการชักพระพุทธปฏิมากรองค์นี้ เข้าประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถในวัดบุบผาราม

ปัจจุบันพระพุทธเจ้าเก้าตื้อ ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัดสวนดอก ซึ่งเป็นวัดสำคัญของล้านนา เนื่องจากในประวัติศาสตร์กล่าวว่าเป็นที่ตั้งของคณะสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์ ที่พญากือนาได้ส่งราชทูตไปขอพระราชทานมาจากพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งอาณาจักรสุโขทัย โดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ได้โปรดให้พระมหาสุมนเถระ นำตั้งมั่นเผยแพร่พระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ยังอาณาจักรล้านนา ตามที่พระเจ้ากือนาทูลขอ พระมหาสุมนเถระได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาด้วยหนึ่งองค์ เมื่อพระมหาเถระเดินทางมาถึงล้านนา 

จึงได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุแด่พระเจ้ากือนา ในครั้งนั้นพระบรมสารีริกธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์ แบ่งออกเป็น 2 องค์ พระเจ้ากือนาได้มีพระราชศรัทธา โปรดให้สร้างอารามบุบผาราม เป็นที่จำพรรษาของพระมหาสุมนเถระ และสร้างพระสถูปเจดีย์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์หนึ่งนั้น ได้โปรดให้อัญเชิญขึ้นไว้บนหลังช้าง แล้วอธิษฐานเสี่ยงทายสถานที่สมควรจะประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว ครั้งนั้นช้างมงคลได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เดินขึ้นไปบนดอยสุเทพ เมื่อถึงบนยอดดอยแล้ว ช้างได้คุกเข่าลงไม่ยอมเดินต่อ พระเจ้ากือนามหาธรรมิกราชจึงมีพระราชดำรัสให้สร้างพระบรมธาตุขึ้นบนดอยสุเทพ ซึ่งปัจจุบันคือ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

2.พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร 

พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร 

อีกหนึ่งวัดในโซนกลางเมืองเชียงใหม่ คือ วัดพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมือง ตำนานประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้นั้น เป็นพระสิงห์สกุล ช่างเชียงแสน ศิลปะล้านนา ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเชียงราย ขณะนั้นเชียงรายกับเชียงใหม่ เกิดการรบพุ่งกันขึ้น เชียงใหม่เป็นฝ่ายชนะ พระเจ้าแสนเมืองมา หรือ พญาแสนเมือง ครองราชย์สมบัติช่วงปี พ.ศ.1931-1954  เสด็จกลับนครเมืองเชียงใหม่ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มายังเมืองเชียงใหม่โดยล่องเรือมาตามลำน้ำปิง


เรืออัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาเทียบท่าฝั่งนครเชียงใหม่ ที่ท่าวังสิงห์คำ ขณะเชิญขึ้นประดิษฐานบนบุษบกปรากฎรัศมีจากองค์พระเรืองรองเป็นลำไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไกลถึง 2,000 วา ต่อมาจึงได้มีการสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั่นได้ชื่อตามเหตุอัศจรรย์ในครั้งนั้นว่า “วัดฟ้าฮ่าม” ซึ่งหมายถึงฟ้าอร่ามนั่นเอง
แต่เดิมนั้นพระเจ้าแสนเมืองตั้งพระทัยจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานยังวัดบุปฝาราม (วัดสวนดอก) ซึ่งตั้งอยู่นอกเวียงออกไปทางทิศตะวัน ตก แต่เมื่อชักลากบุษบกไปถึงวัดลีเชียงพระก็มีอันติดขัดไม่อาจลากต่อไปได้ พระเจ้าแสนเมืองมาถือเป็นศุภมิตรจึงโปรดให้สร้างมณฑปขึ้นวัดลีเชียงและ ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ ณ วัดนั้น ต่อมาชาวบ้านต่างพร้อมใจกันนิยมเรียกวัดนี้ว่า “วัดพระสิงห์” ตามนามขององค์พระสิงห์นั้นเอง


3.หลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ 

หลวงพ่อทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ 
เรียกได้ว่า หากกล่าวถึงเชียงใหม่ วัดแรกที่หลายๆคนไป ไม่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ก็จะเป็นวัดพระธาตุดอยคำ เพราะด้วยความเชื่อของสายมู ที่มักจะมาบนบานสานกล่าวตามความเชื่อที่บอกกัน ทั้งปากต่อปาก และตามโซเชียลมีเดีย 
สำหรับพระพุทธรูปที่เรียกว่า หลวงพ่อทันใจ นั้น  เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีอายุเก่าแก่กว่า 1,400 ปี มีความเชื่อกันมาแต่โบราณแล้วว่า สามารถบันดาลให้ผู้ที่ไปขอพร จะมีโชคลาภ เงินทอง  ตามตำนานเล่าขานว่าองค์หลวงพ่อทันใจนี้ ท่านมีญาณวิเศษเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ แม้กระทั่งเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต หากไปอธิษฐานขอพรจากหลวงพ่อทันใจแล้ว หลังจากกลับมาจะหายขาดทันที นอกจากนี้ ผู้คนที่ขอพรด้านโชคลาภต่าง ๆ แล้วโดยเฉพาะการเสี่ยงดวงจากสลากกินแบ่งรัฐบาล  หลายคนก็มีโชคลาภเกิดขึ้นทันที ทันใจ และอีกตำนานความศักดิ์สิทธิ์ที่เลื่องลือกันมากคืออธิษฐานเรื่องลูก  หลายคู่ที่ไปบนบานขอเรื่องลูก ภายใน 3 เดือนจะสมหวังทันใจแทบทุกราย  และยังมีอีกหลายต่อหลายครั้งที่มีผู้คนเดินทางจากทั่วสารทิศเพื่อมาขอพร ขอโชคลาภ เงินทอง กราบไหว้อธิษฐานแล้วได้ผลทันตาเห็นผลทันใจ  ขอพรเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน พรที่ขอก็จะสัมฤทธิ์ผลดังปาฏิหาริย์ ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะเดินทางกลับมา เพื่อถวายดอกมะลิมาแก้บน และเคล็ดลับสิ่งสำคัญในการอธิษฐานขอพร คือ ขอได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นท่านถึงจะให้พรได้สมใจหวัง

วิธีบนขอพรจาก หลวงพ่อทันใจ เมื่อการอธิษฐาน ขอพรประสบผลสำเร็จแล้ว จะต้องใช้ดอกมะลิสด 50 พวงขึ้นไป นำมากราบไหว้ถวายเพื่อแก้บนหลวงพ่อ ซึ่งแต่ละวันจะมีคนนำดอกมะลิมากราบไหว้ไม่น้อยกว่าหลายร้อยหลายพันพวงเลยทีเดียว
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ