พระเครื่อง

เยือนย่านจอมทอง ไหว้พระขอพร ที่ วัดราชโอรสาราม พระอารามประจำ รัชกาลที่ 3

เยือนย่านจอมทอง ไหว้พระขอพร ที่ วัดราชโอรสาราม พระอารามประจำ รัชกาลที่ 3

15 ธ.ค. 2565

ไหว้พระขอพร พระอารามหลวง ประจำรัชกาลที่ 3 ย่าน จอมทอง วัดราชโอรสาราม ชมความงามศิลปะผสมผสาน ไทย และ จีน เหมาะไหว้พระประจำวันเกิดคนวันพฤหัสบดี และ วันอังคาร

ในกรุงเทพฯนั้นมีวัดจำนวนไม่น้อย ที่น่าสนใจ และเหมาะแก่การไปไหว้พระทำบุญ และเชื่อเหลือเกินว่า หลายคน มีความต้องการที่วัดที่สงบ เงียบ บรรยากาศเหมาะควร กับ การทำบุญ และใช้เวลาในการพิจารณา ทบทวนสิ่งต่าง ๆ ซึ่งวัดโซนฝั่งธนบุรีนั้น มีจำนวนไม่น้อย ที่มีความสงบ ครั้งนี้ ขอชวนไปเยือน ยัง วัดราชโอรสาราม หรือ วัดราชโอรส พระอารามประจำรัชกาลที่ 3 

วัดราชโอรสาราม

วัดราชโอรสาราม หรือ วัดราชโอรส ตั้งอยู่ริมคลองสนามไชย ฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) และติดคลองบางหว้า   สำหรับวัดราชโอรสแห่งนี้ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 แต่เดิมนั้น อารามแห่งนี้ เป็นวัดโบราณมีมาก่อนสร้างกรุงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมเรียกว่า "วัดจอมทอง" บ้าง "วัดเจ้าทอง" บ้าง หรือ "วัดกองทอง" บ้าง

วัดราชโอรสาราม
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปี พ.ศ.2363 มีข่าวราชการศึก รายงานเข้ามากรุงเทพฯว่า พม่าตระเตรียมกำลังจะยกเข้ามาตีประเทศสยาม รัชกาลที่ 2 จึงโปรดให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ทรงเป็นแม่ทัพคุมพลไปขัดตาทัพพม่าทางเจดีย์ 3 องค์ จังหวัดกาญจนบุรี  ขณะที่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ กรีฑาทัพและได้เสด็จประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองนี้  ทรงทำพิธีเบิกโขลนทวาร ตามลักษณะพิชัยสงคราม และได้ทรงอธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ 

รัชกาลที่3
 

เมื่อทรงยกทัพถึงชายแดนด่านพระเจดีย์ 3 องค์ ไม่พบว่ามีข้าศึกยกล่วงล้ำขอบขันธสีมา พม่าไม่ได้ยกทัพมาตามที่เล่าลือกันและเมื่อพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเลิกทัพเสด็จกลับพระนครแล้ว จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด และถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชโอรส" 

วัดราชโอรสาราม

พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงมีความโปรดปรานในศิลปะแบบจีน  จึงทรงพระราชดำริเปลี่ยนแปลงแบบอย่างศิลปกรรมตามความพระราชหฤทัย  ดังนั้น วัดราชโอรสจึงตกแต่งด้วยศิลปะจีนเป็นส่วนมาก นับเป็นวัดแรกที่เป็นวัดที่คิดสร้างออกนอกแบบอย่างวัดศิลปกรรมไทย  พระองค์ทรงสร้างได้ทรงกำกับการออกแบบส่วนต่างๆของการปฏิสังขรณ์อารามนี้ด้วยศิลปะผสมผสานไทยและจีน เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ กุฏิพระสงฆ์เป็นอาคารตึกแทนเรือนไม้แบบของเดิม บานประตูหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ประดับด้วยเสี้ยวกางแทนลายเทพนม หรือลายไทยแบบของเดิม หน้าบันพระอุโบสถ และพระวิหารประดับพระเบื้องเคลือบสี 

วัดราชโอรสาราม
พระอุโบสถ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมผสมระหว่างไทย และจีน หลังคาเป็นแบบจีนแต่มุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ สวยงาม แต่งเป็นรูปแจกันดอกเบญจมาศ มีรูปสัตว์มงคลตามคติของจีน คือ มังกร หงส์ และนกยูง ตอนล่างเป็นภาพทิวทัศน์มีบ้านเรือน สัตว์เลี้ยงภูเขา ต้นไม้ ตามขอบหลังคาประดับกระเบื้องสี และถ้วยชามโดยรอบ
 

ซุ้มประตูหน้าต่างประดับปูนปั้นประดิษฐ์เป็นลวดลายดอกเบญจมาศ บานประตูด้านนอกประดับมุกลายมังกรดั้นเมฆ ฝีมือละเอียดประณีต ด้านในเขียนรูปทวารบาลแบบจีน ผนังด้านในพระอุโบสถเขียนเป็นลายเครื่องบูชาแบบจีน บางช่วงมีความหมายในการให้พร ฮก ลก ซิ่ว ตามคติของจีน บนเพดานเขียนดอกเบญจมาศ ทองบนพื้นสีแดง

วัดราชโอรสาราม
พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีนามว่า พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร หน้าตักกว้างประมาณ 1 วา 2 ศอก หรือประมาณ 3.10 เมตร สูงประมาณ 2 วา 1 ศอก หรือ ประมาณ 4.50 เมตร   ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรังคาร ของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธรูป พร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาล และศิลาจารึกดวงชันษา
ต่อมา ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือ ฉัตร 9 ชั้น ในปี  2504 

วัดราชโอรสาราม

พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถในเขตกำแพงแก้วเช่นเดียวกัน แต่พระวิหารมีกำแพงแก้วล้อมรอบโดยเฉพาะอีกชั้นหนึ่ง เป็นพระวิหารขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปูนปั้นขนาดยาว 20 เมตร ที่บานประตู และบานหน้าต่างด้านนอกประดับด้วยลายปูนปั้นที่เรียกว่า กระแหนะ เป็นรูปเลี้ยวกางแบบไทย ยืนอยู่บนประแจจีน ประดับด้วยแจกันดอกเบญจมาศและพานผลไม้ เช่น ทับทิม ส้มมือ ลิ้นจี่ มังคุด และน้อยหน่า เป็นต้น เพดานพระวิหารเขียนลายดอกเบญจมาศ นก และผีเสื้อ สีสวยงาม และหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องสีเป็นลายดอกเบญจมาศและรูปสัตว์มงคลของจีน เช่นเดียวกับหน้าบันพระอุโบสถ

วัดราชโอรสาราม
รอบลานพระวิหารมีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองประดิษฐานอยู่ 32 องค์ ที่ผนังพระระเบียงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีแผ่นหินอ่อนจารึกตำรายาและตำราหมอนวด ติดเป็นระยะๆ จำนวนทั้งสิ้น 92 แผ่น โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


ศาลาการเปรียญ อยู่ทางด้านขวาของพระอุโบสถ เป็นอาคารที่มีลักษณะผสมทางศิลปกรรม ระหว่างไทยและจีน เช่นเดียวกัน หลังคาเป็นแบบจีน ลด 2 ชั้น แต่มุงกระเบื้องแบบไทย บนหลังคาประดับรูปถะ ระหว่างมังกรกระเบื้องเคลือบสีอย่างศาลเจ้าจีน ผนังด้านนอกตอนบนเขียนรูปผลไม้ เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล ฮก ลก ซิ่ว 

พระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุล
นอกจากนี้ ภายในพระอาราม ยังมี พระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุล  ซึ่งมีการระบุไว้ว่า พระแท่นหินนี้ เป็นที่ประทับ ของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อทรงเสด็จมาทรงคุมงานและตรวจการก่อสร้าง ได้ประทับที่พระแท่นใต้ต้นพิกุลใหญ่ที่อยู่ตรงด้านหน้าทางด้านซ้ายของพระอุโบสถ

พระแท่นที่ประทับใต้ต้นพิกุล

และเล่ากันว่าเคยรับสั่งไว้ว่า "ถ้าฉันตายจะมาอยู่ที่ใต้ต้นพิกุลนี้ " อาจจะเป็นเพราะพระราชดำรัสนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จมาพระอารามนี้ จะมาทรงถวายสักการะที่พระแท่นนี้เสมอจนกลายเป็นประเพณี และเวลาเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระราชกฐินหรือเจ้านายเสด็จในการทอดกฐินพระราชทาน เจ้าหน้าที่จะตั้งเครื่องมุกไว้ทรงสักการะ ณ ต้นพิกุลนี้ทุกครั้ง