พระเครื่อง

รวม พระพุทธรูป คู่บ้านขวัญเมือง 4 ภาค ไหว้ขอพรเสริมสิริมงคล ปีใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รวบรวม พระพุทธรูปมงคล คู่บ้านคู่เมือง เหมาะกับไหว้พระขอพร เสริมสิริมงคล เสริมกำลังใจ ความเป็นมงคล ทั้ง 4 ภาค ทั่วประเทศ


ใกล้ช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2566 หลายคนเตรียมเดินทางกลับบ้านตามภูมิลำเนา และบางส่วนก็จะถูกโอกาสพักผ่อนหลังทำงานหนักมาตลอดปี รวมทั้งมีส่วนหนึ่งนั้น ก็ถือเป็นวาระมงคลโอกาสดี  ทำบุญเสริมสิริมงคล เพื่อการดำเนินชีวิตที่ราบรื่น สุขสงบ มีกำลังใจ
ครั้งนี้ ขอแนะนำ ชี้แนะ กับ การไหว้พระขอพร ที่ควรจะเดินทางไปไหว้สักการะสักครั้ง เพื่อส่งเสริมความเป็นมงคลกับชีวิต โดยจะแบ่งเป็น 4 ภาค ที่น่าสนใจ

 

 

ภาคเหนือ 

พระพุทธชินราช

 


ที่เมืองพิษณุโลก นั้นแต่อดีตที่ผ่านมา เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีวัดวาอารามเก่าแก่จำนวนไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือ วัดใหญ่ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ที่ประดิษฐานพระคู่บ้านขวัญเมือง นั่นคือ พระพุทธชินราช สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับ พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือ พญาลิไท แห่งราชวงศ์พระร่วง  

 

 

 

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย ลักษณะขององค์พระมีเส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระโขนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน อยู่ในลักษณะปางมารวิชัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เลิศล้ำไปด้วยศิลปกรรม และด้านซ้ายและขวาขององค์พระมียักษ์สองตนคอยปกปักรักษาองค์พระอยู่ อีกทั้งยังมีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกอยู่ด้วย 

 

 

ภาคกลาง

พระพุทธโสธร

 


หากจะนับกันแบบจริงจัง ภาคกลางนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญ ของเมืองต่าง ๆจำนวนมาก ที่ผู้คนให้ความศรัทธา แต่ถ้าว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว เบอร์ 1 คู่บ้านคู่เมือง ถ้าไม่นับ พระแก้วมรกต แล้ว หลวงพ่อพุทธโสธร คือ พระพุทธรูปสำคัญที่ทุกคนรู้จัก 

 


สำหรับ  หลวงพ่อโสธร หรือ หลวงพ่อพระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประดิษฐานอยู่ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตามประวัตินั้นไม่ได้กล่าวว่าใครเป็นผู้สร้างหรือสร้างเมื่อใด มีแต่เพียงตำนานพระสามพี่น้อง กับ พระห้าพี่น้อง ที่เล่าสืบต่อกันมา 

 

 

เกี่ยวกับพระภิกษุสามรูป สามองค์พี่น้อง เรียนพระธรรมวินัยแตกฉาน จึงจำแลงกายเป็นพระพุทธรูปลอยลงมาตามลำแม่น้ำ องค์หนึ่งคือหลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จังหวัดสมุทรสงคราม อีกองค์หนึ่งคือ หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จังหวัดสมุทรปราการ และองค์สุดท้ายคือ หลวงพ่อโสธร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางขัดสมาธิเพชร คือมีพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา พระเนตรเนื้อเลียนแบบ พระสมัยล้านช้าง เป็นที่ทราบกันดีของผู้ที่ไปนมัสการว่าหลวงพ่อโสธรได้แสดงอภินิหารให้โชคลาภและความสำเร็จอยู่เสมอ

 

 

 

ภาคอีสาน 

หลวงพ่อพระใส

 

 

   พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ที่มีนามว่า หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดหนองคาย ประดิษฐานอยู่ที่ วัดโพธิ์ชัย ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า พระธิดาสามพี่น้องของกษัตริย์ล้านช้าง บางข้อมูลก็เชื่อว่าเป็นธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ขึ้นมา 3 องค์ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยขนานนามว่า พระสุก พระเสริม และพระใส ซึ่งมีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ

 


 ในระหว่างการอัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว เกิดเหตุพายุแรงจัดทำให้พระสุกจมลงสู่ก้นแม่น้ำโขง และในเวลาต่อมาพระเสริมจึงได้รับอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม จังหวัดกรุงเทพฯ ส่วนพระใสก็ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคายมาจนถึงทุกวันนี้ พระใสมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงลงความเห็นเกี่ยวกับพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ว่าเป็นพระพุทธรูปล้านช้างที่งดงามยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นๆ 

 

 

ภาคใต้ 

พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช

 

 

เมืองนครศรีธรรมราชนั้น ถือได้ว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญของแดนใต้ พระบรมธาตุนั้นเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์รวมใจของผู้มีจิตศรัทธา รวมทั้งยังมีพระพุทธรูปสำคัญนามว่า   พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง คู่กับพระบรมธาตุเจดีย์มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีตำนานขานเล่าว่า พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช สร้างโดย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ครั้งเสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองนครศรีธรรมราช ก่อนเสด็จฯ กลับกรุงสุโขทัย พระองค์ได้ทำสัญญาท้าสร้างพระพุทธรูปแข่งกันระหว่างสองอาณาจักร โดยให้เริ่มสร้างพร้อมกัน เสร็จพร้อมกัน และให้ชื่อเหมือนกันว่า พระศรีศากยมุนี แต่เมืองนครศรีธรรมราชสร้างได้ใหญ่โตกว่าของสุโขทัย ชาวนครศรีธรรมราช จึงถวายนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองอันงดงาม 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ