พระเครื่อง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ นวม พุทธสโร กับ พระครื่องศักดิสิทธิ์ ที่เป็นที่นิยม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อ่านประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ นวม พุทธสโร วัดอนงคาราม กับ วัตถุมงคล พระแก้วมรกต - พระใบมะขาม ยอดนิยมของนักสะสม

สมเด็จพระพุฒาจารย์( นวม พุทฺธสโร ) ป.ธ 4 อดีตเจ้าอาวาสวัดอนงคารามวรวิหาร แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานครฯ ท่านเป็นพระมหาเถราจารย์ผู้ใหญ่ในสังกัดมหานิกาย ผู้ทรงคุณธรรมวิเศษ เจนจบในอักขระพระบาลี ชำนาญสามารถในวิปัสนากรรมฐาน ทรงสมาธิภาวนาชั้นสูง และยังเป็นเพื่อนสหธรรมมิกคุ้นเคยกับ สมเด็จสังฆราช แพ และหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

สมเด็จพระพุฒาจารย์ นวม พุทธสโร

สำหรับชีวประวัติของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ นวม พุทธสโร นั้น  ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2407 ที่ตำบลวังแม่ลูกอ่อน อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นบุตรหมื่นนรา (อินทร์) นางใย มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 6 ในเบื้องต้นได้ศึกษาหนังสือไทยที่วัดโคกเข็ม จังหวัดชัยนาท เมื่ออายุ 12 ปี ไปอยู่วัดอนงคาราม ธนบุรี กับพระใบฎีกาโป๋ พี่ชาย พออายุได้ 13 ปี ท่านบรรพชาเป็นสามเณร เรียนพระปริยัติธรรมคัมภีร์มูลกัจจายน์และพระธรรมบทจากนั้นท่านก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุและได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ดังนี้ 
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2449 เป็นพระธรรมธราจารย์ (พระราชาคณะชั้นสามัญ) วันที่ 30 ธันวาคม 2463 เป็นพระราชมงคลมุนี (พระราชาคณะชั้นราช) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2472 เป็นพระโพธิวงศาจารย์ (พระราชาคณะชั้นธรรม) วันที่ 1 มีนาคม 2484 เป็นพระมหาโพธิวงศาจารย์ (พระราชาคณะเทียบชั้นเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสี) วันที่ 19 ธันวาคม 2488 เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สมเด็จพระราชาคณะ)
 

ท่านถึงแก่มรณภาพในวันที่ 28 กันยายน ปีพ.ศ.2499 สิริอายุได้ 92 ปี พรรษา 72
ขณะอยู่ในเพศบรรพชิตท่านมีผลงานมากมาย อาทิ ปรับปรุงกิจการและระเบียบของวัดให้เจริญก้าวหน้าขึ้น จนปรากฏว่า วัดอนงคารามเป็นวัดที่เจริญขึ้นทุกๆ ด้าน ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยวิธีแสดงธรรมทุกวันธรรมสวนะ อบรมภิกษุสามเณรในปกครอง จัดระเบียบไหว้พระสวดมนต์ และอบรมจริยธรรมตามโรงเรียนต่างๆ ในความอุปการะของท่าน ตลอดทั้งอบรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกาในวัดให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมและวัฒนธรรม สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ ปูชนียสถานและถาวรวัตถุต่างๆ ในบริเวณพระพุทธบาทสระบุรี 


กล่าวสำหรับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ 6 แห่งวัดอนงคาราม กรุงเทพฯ เป็นพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง มีจริยาวัตรงดงาม วาจาไพเราะ ท่านจะพูด "ดีจ้ะ" หรือ "จ้ะ" ลงท้ายแทบทุกคำ มีวิชาหุงน้ำมันมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง "เหรียญรุ่นแรก" เป็นที่เล่นหากันในวงการ แต่มีจำนวนน้อยมาก แทบจะไม่พบเห็นเลย

สมเด็จพระพุฒาจารย์ นวม พุทธสโร
ท่านเป็นยอดพระเกจิอาจารย์เมืองกรุง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก จะเห็นได้ว่าท่านมีความสนิทสนมกับสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพ วราราม กรุงเทพ มหานครเป็นอย่างมาก รวมทั้ง (หลวงปู่ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท จากหลักฐานสำคัญหลายๆ ครั้ง จะเห็นได้ว่าเวลาสมเด็จพระสังฆราช (แพ) จะสร้างพระกริ่งและชัยวัฒน์ มักจะนิมนต์ "สมเด็จนวม" มาร่วมนั่งปลุกเสกประจำทิศเสมอๆ ส่วนความสัมพันธ์กับ หลวงปู่ศุข นั้นลึกซึ้งยิ่งเพราะท่านทั้งสองเป็นชาวชัยนาทด้วยกันเวลา หลวงปู่ศุข มากรุงเทพมหานครมักจะมาพำนักกับสมเด็จนวมเสมอๆและร่วมปลุกเสกพระเครื่องกันเสมอดังจะเห็นได้จากรูปถ่ายการปลุกเสกร่วมของพระเกจิ อาจารย์สองท่านนี้หลายๆ ครั้ง
 

ส่วนประวัติของ "วัดอนงคารามวรมหาวิหาร" นั้น มีชื่อเดิมคือ "วัดน้อยขำแถม" เป็นชื่อท่านผู้หญิงน้อย ซึ่งเป็นภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย เป็นผู้สร้างขึ้นคู่กันกับวัดพิชัยญาติแล้วถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 3 ส่วนคำว่าขำแถมนั้นมีเพิ่มเติมมาจากนามเดิมของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ) ซึ่งเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 วัดนี้ก็ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า
"วัดอนงคาราม" อย่างในปัจจุบัน


พระอุโบสถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้า ใบระกาลงรักประดับกระจก หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างก็มีลวดลายลงรักปิดทองสวยงาม มีพระพุทธรูปสำคัญอย่างพระพุทธจุลนาคซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย เป็นพระประธานในพระวิหาร และมีพระพุทธรูปพระสาวกหล่อด้วยโลหะปิดทองยืนอยู่ด้านซ้ายขวา อีกทั้งด้านหน้าพระประธานยังมีพระพุทธมังคโลซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิตั้งอยู่ด้านหน้าอีกด้วย


และใกล้ๆ กับพระวิหารนั้นก็ยังมีพระมณฑปซึ่งสร้างขนาบกับพระวิหาร หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธ รูปไสยาสน์ที่จำลองมาจากวัดราชาธิวาส และหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองเอาไว้

 

เหรียญพระแก้วมรกต สมเด็จนวม
ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ท่านได้นิมิตไปว่า "มีพระอินทร์ได้เอาพระแก้วมรกตมาถวายท่านแล้ววันรุ่งขึ้นก็มีคนนำพระแก้วมรกตมาฝากให้ท่านเก็บรักษาไว้ท่านก็เลยนำเอารูปลักษณ์มาสร้างเป็น "เหรียญพระแก้วมรกต" และ "พระใบมะขาม"
"เหรียญพระแก้วมรกต" และ "พระใบมะขาม" นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ได้รวบรวมเนื้อเงินโบราณ จากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เงินพดด้วงสมัยกรุงศรีอยุธยา เครื่องใช้ในราชพิธีต่างๆ แผ่นยันต์ แผ่นจาร โลหะธาตุที่เป็นมงคล ตะกรุดเก่า พระบูชา ทุกสมัยที่ชำรุดเสียหาย นำมาหล่อหลอมแล้วรีดจารอักขระหลายครั้ง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ นวม พุทธสโร กับ พระครื่องศักดิสิทธิ์ ที่เป็นที่นิยม
จากนั้นนำมาสร้างเป็น "เหรียญพระแก้วมรกต" และ "เหรียญ ใบมะขาม" มีอานุภาพพุทธคุณเข้มขลัง บูชาพกพาอาราธนาติดตัว สมความปรารถนาเหมือนมีแก้วสารพัดนึกอยู่ติดตัวตลอดเวลา ว่ากันว่าพุทธ คุณครอบจักรวาลแคล้วคลาดปลอดภัย ป้องกันภูตผีปีศาจ ป้องกันคุณไสย ป้องกันลมเพลมพัด ป้องกันเสนียดจัญไร เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยอันตรายต่างๆ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม


ถึงคราวคับขันให้นำเหรียญพระแก้ว มรกต หรือเหรียญใบมะขาม ใส่ในน้ำจุดธูปเทียน ดอกไม้ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เหล่าทวยเทพเทวดา ทุกชั้น ทุกวิมาน ทุกสถานที่ อธิษฐานในสิ่งที่ท่านปรารถนาทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์อาบดื่มกิน ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ท่านมีอายุยืนยาวนาน


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังร่วมปลุกเสก พระชัยวัฒน์เนื้อกะไหล่ทอง วัดสุทัศนเทพวราราม ร่วมปลุกเสก ปรกใบมะขามหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ซึ่งปัจจุบันสนนราคาบูชาเล่นหาองค์ละเลข 8 หลัก มากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพความสวย ความคม สภาพเดิมๆ
"วัตถุมงคลของท่านได้แก่ พระนาคปรก พระประจำวัน และเหรียญ"
เหรียญรุ่นแรก สร้างปี 2472 ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระโพธิวงศาจารย์ โดยสมาคมศิษย์อนงคาราม สร้างถวาย เหรียญนางฟ้าโปรยดอกไม้ สร้างปี 2486 เป็นเหรียญเนื้อเงิน มีทั้งประเภทหลังธรรมดา และหลังเข็มกลัด ด้านหน้ามีทั้งประเภทกะไหล่ทอง และลงยา มี 2 สีด้วยกัน คือ สีฟ้า และสีแดงเลือดหมู
เหรียญพระพุทธบาท ปี 2495 เมื่อปั๊มแล้วจึงนำมาฉลุ มีทั้งเนื้อเงินลงยา เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง  เหรียญรูปไข่ รูปเหมือนหน้าตรงครึ่งองค์ ด้านล่างใต้รูปเหมือนระบุสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์ ระบุ พ.ศ.2497 และ 2500 เป็น 2 บล็อก ๆแรก พ.ศ.2497 ทันท่านปลุกเสก ส่วนบล็อคหลัง ระบุ พ.ศ. 2500
เป็นเหรียญแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ รุ่นสุดท้ายจะเป็นพระพุทธชินราชเนื้อผง ซึ่งมีทั้งรุ่นที่ท่านปลุกเสก และไม่ได้ปลุกเสก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ