พระเครื่อง

แนะ สถานที่ขอพร ความมั่นคง กับ พระคู่เมืองเชียงใหม่ ที่ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จัก กับ พระพุทธรูปสำคัญ ศักดิ์สิทธิ์ แห่ง เชียงใหม่ ที่ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร พระอัฏฐารส พระสำคัญ เหมาะกับคน เกิดวันจันทร์ และไหว้ขอพร เสาหลักเมือง อินทขีล เชื่อเพื่อส่งเสริมความมั่นคง

เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งจังหวัด หริอ ดินแดนสำคัญ ที่มาด้วย วัฒนธรรม ประเพณี ความงดงามทางศิลปะ และความเชื่อ นอกเหนือจาก พระธาตุดอยสุเทพ และ พระธาตุดอยคำ หลวงพ่อทันใจ ที่ผู้คนเคารพศรัทธา กราบไหว้ขอพรแล้วนั้น ในตัวเมืองเชียงใหม่ ก็ยังมีวัดสำคัญ ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 

 

 วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 ของราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ.1928-พ.ศ.1945 วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงแบบโบราณมีการบูรณะมาหลายสมัย โดยเฉพาะพระเจดีย์ที่ปัจจุบันมีขนาดความกว้าง 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเชียงใหม่ วัดเจดีย์หลวงสร้างอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางการปกครองของราชอาณาจักรล้านนา

พระเจดีย์ ใน วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

ปัจจุบันบริเวณ วัดเจดีย์หลวง กลางเมืองเชียงใหม่มีสิ่งสักการะหลากหลาย ได้แก่ เจดีย์หลวง อินทขีล ต้นยาง กุมภัณฑ์ พระฤาษี ซึ่งสะท้อนพัฒนาการคติจักรวาลได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่แวดล้อมของเมืองชีวิต วัดเจดีย์หลวงแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต พระประจำคู่บ้านคู่เมืองของไทย
 

วัดเจดีย์หลวง แห่งนี้ เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2088 ความสูงของเจดีย์ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของความสูงเดิม แต่ก็ยังคงรูปลักษณ์ที่สวยงามน่าประทับใจ ในปี พ.ศ. 2535 กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ตัวเจดีย์เสร็จสมบูรณ์ จึงได้นำเอาบันไดนาคปรก (พญานาคพ่นน้ำ) กลับมาวางไว้ตรงทางขึ้นและมีการปั้นรูปช้างอันสวยงานไว้ที่บริเวณฐานของเจดีย์ ทั้งนี้งานปั้นนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์แต่ไม่ได้ดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ


ส่วนพระพุทธรูปสำคัญของวัดแห่งนี้ คือ พระอัฏฐารส ซึ่งสร้างโดย พระนางติโลกจุฑาเทวี พระมารดาพระเจ้าติโลกราช มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ทรงทำนุบำรุงการพระศาสนา ได้บูรณะพระวิหารและหล่อพระพุทธรูปยืนที่เรียกว่า "พระอัฏฐารส" เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ พระอัฏฐารส แปลว่า พระสิบแปด หมายถึงพุทธธรรม 18 ประการ อันเป็นพระคุณสมบัติเฉพาะพระองค์ ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธรูป 18 ศอก ที่จริงแล้วองค์พระพุทธปฏิมาอัฏฐารสสูง 16 ศอก 23 ซ.ม. หรือเท่ากับ 8.23 เมตร

พระอัฏฐารส

แต่ที่ตั้งชื่อเช่นนั้นก็เพื่อเป็นอุบายธรรมสื่อนำไปสู่ความเข้าใจในพุทธคุณอันประเสริฐของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นศาสดาของมนุษย์และเทพเจ้าทั้งหลาย สร้างในสมัยล้านนา พุทธศตวรรษที่ 20 ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหาร ท่ามกลางพระพุทธสาวกซ้ายขวา เพื่อสืบอายุพระศาสนาให้รุ่งเรืองตราบ 5000 ปี ตามความนิยมที่สุโขทัยมักสร้างพระพุทธรูปใหญ่อิริยาบถ ยืน นั่ง นอน เดิน เป็นที่เคารพสักการะสืบมา

น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฏะ) ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมได้กล่าวถึงว่า

“พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ศิลปะเชียงใหม่ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลต้นแบบจากศิลปะปาละ (อินเดีย) หล่อด้วยทองสำริดสูงใหญ่ ปางห้ามญาติ มีพระพุทธลักษณะสง่างามที่สุดในอาณาจักรล้านนา โดยเฉพาะส่วนพระพักตร์มีลักษณะอ่อนโยนงดงามยิ่งนัก เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนหรือพระสิงห์ซึ่งได้วิวัฒนาการงานศิลป์มาจากปาละด้วยเช่นกัน”

หอเสาอินทขีล

นอกจาก พระอัฏฐารส แล้ว วัดเจดีย์หลวง ยังมีอีกสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ คือ เสาอินทขีล ซึ่งเป็นหลักเมืองเมื่อครั้ง พ่อขุนเม็งรายมหาราช สร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ปัจจุบันนี้อยู่ตรงหน้าวัดเจดีย์หลวง เสาอินทขิลนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทย หลักอินทขิลสร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน

หอเสาอินทขีล

ทุกปีประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมืองสักการะ เสาอินทขิล หรือเสาหลักเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมา เมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชจะสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 1839 โดยตั้งแต่แรกเริ่มนั้น เสาอินทขิลได้ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารของวัดอินทขิลสะดือเมือง หรือวัดสะดือเมือง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2343 พระเจ้ากาวิละซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้น ได้ร่วมมือกับกองทัพของพระเจ้าตากสินมหาราช ทำการขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาได้สำเร็จ

หอเสาอินทขีล
จากนั้นได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ย้ายเสาอินทขิลมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง โดยประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทย หน้าวัดตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบัน เสาอินทขิลของเมืองเชียงใหม่สร้างขึ้นด้วยพื้นฐานความเชื่อที่ว่าการสร้างเมืองในสมัยก่อน จะต้องมีเสาหลักเมืองเป็นศูนย์รวมแห่งความเชื่อความศรัทธา และจะต้องตั้งอยู่ศูนย์กลางของเมือง ที่เรียกว่า สะดือเมือง เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมือง

หอเสาอินทขีล

ว่ากันว่า เสาหลักเมืองเป็นเสาแห่งความมั่นคงตามดวงชะตา ที่จะกำหนดความเจริญและความเสื่อมของเมือง เชื่อกันว่าเสาอินทขิลเป็นเสาหลักที่สร้างความมั่นคง การอยู่ดีมีสุข ดังนั้นชาวเมืองเชียงใหม่จึงนิยมมาขอพรจากเสาอินทขิลเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและครอบครัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ