พระเครื่อง

วัตถุมงคลแบบฝัง รู้จัก เข็มทองคะนองฤทธิ์ และ ประวัติ หลวงปู่พิมพ์มาลัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จักอีกหนึ่งเรื่องราวทางไสยเวท ฝังเข็มทองคำ ในสายวิชา " เข็มทองคะนองฤทธิ์ " และประวัติ เจ้าตำรับ หลวงปู่พิมพ์มาลัย แห่ง วัดหุบกะหล่ำ

สำหรับคนไทยมีความเชื่อเรื่องการฝังเข็มมายาวนาน ในอดีตมีหลายสำนักที่ทำพิธีฝังเข็มให้ลูกศิษย์ จนมีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะประจักษ์ในคุณประโยชน์ของการฝังเข็ม จนมีการสืบสานตำรา และเป็นที่เชื่อถือในหมู่ลูกศิษย์  รวมถึงชาวบ้านโดยทั่วไป ตราบเท่าทุกวันนี้ ในขณะที่บางสำนักก็สูญหายไปตามกาลเวลา 

 การ ฝังเข็มทองคำ ประกอบคาถาอาคมกำกับ มีลักษณะการฝังหลักๆ 2  แบบ คือ การฝังเข็มตาย หมายถึง การฝังแล้วเข็มไม่วิ่งไปไหนมาไหน เช่น สายของอาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง, ปู่โทน ขำแพ, อาจารย์เฮง ไพรวัลย์ ฯลฯ

 อีกแบบหนึ่ง คือ ฝังเข็มทองคำ ของ อาจารย์ประคอง รุ่นเจริญ ซึ่งสืบทอดวิชามาจาก หลวงปู่พิมพ์มาลัย มาลโย วัดหุบมะกล่ำ จ.ราชบุรี เป็นการฝังเข็มประกอบคาถาอาคม โดยเข็มสามารถ วิ่ง ไปมาตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้

อ.ประคอง อธิบายถึงคุณประโยชน์ในการ ฝังเข็มทองคำ ว่า “การ ฝังเข็มทองคำ ก็เพื่อป้องกันคุณไสย โดยเข็มทองที่ได้ผ่านพิธีปลุกเสกมาแล้ว สามารถล้างอาถรรพณ์ในร่างกาย ขับไล่สิ่งอัปมงคลให้ออกไปร่างกาย รวมทั้งเวทมนต์คาถาอื่นๆ ที่มีคนอื่นทำใส่ตัว ก็จะหายไปจนหมดสิ้น หรือในเวลาที่มีเหตุเภทภัยเข้ามาใกล้ตัว พลังลึกลับจากอำนาจของเข็มทอง 


จะเปล่งรัศมีขึ้นมาคุ้มครองร่างกายทันที ขณะเดียวกัน หากเกิดเหตุร้าย ถูกยิง หรือถูกแทง เข็มก็จะวิ่งผ่านตามผิวหนัง และแผ่พลังต้านรับเอาไว้ ไม่เกิดอันตราย ทำให้ดูเหมือนว่า ร่างกายอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งมาจากพลังอำนาจที่มีอยู่ในตัวเข็มทองนั่นเอง และพลังแห่งอานุภาพนี้

หลวงปู่พิมพ์มาลัย

สำหรับประวัติ ของ หลวงปู่พิมพ์มาลัย ต้นตำรับ ฝังเข็มทองคำ ที่ได้ถ่ายทอดวิชา ให้ อ.ประคอง นั้น  พื้นเพท่านเป็นคนหนองรีโดยกำเนิด โยมบิดาชื่อว่า พา โยมมารดาชื่อ อ่วม เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรีท่านเกิดในสกุล มาลัย ประมาณ พ.ศ.2441 ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 5 คน ในวัยเยาว์ท่านดำเนินอย่างเรียบง่ายเหมือนชาวชนบททั่ว ๆไป 


 เมื่ออายุครบเกณฑ์ หลวงปู่พิมพ์มาลัย ได้เข้าเป็นทหารรับใช้ชาติในหน่วยเสนารักษ์ในจังหวัดราชบุรีและอยู่ต่อเรื่อยมา จนประมาณ6ปี ก็เกิดเบื่อหน่ายในฆารวาสวิสัย ชะรอยจะเป็นบารมีที่ท่าน สร้างสมมาในอดีตจึงมีวาสนากับผ้ากาสาวพัสตร์ นิยมในเพศบรรพชิต จึงลาออกจากทหาร มาอุปสมบทที่ วัดโตนดหลวง จังหวัดเพชรบุรี โดยมี พระอาจารย์แช่ม วัดบางนา เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่ทองศุข อินทโชโต วัดโตนดหลวง ซึ่งพระเถระรูปนี้ท่านเป็นผู้ทรงวิทยาคมที่ยิ่งยงมากท่านหนึ่ง เป็นพระกรรมวาจา เมื่ออุปสมบทแล้ว พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า มาลโย

หลวงปู่พิมพ์มาลัย ซึ่งขณะนั้นเป็นภิกษุใหม่ก็ได้ร่ำเรียนพระวินัย และปริยัติตามแนวทางแห่ง พระพุทธศาสนาอย่างคร่ำเคร่ง แล้วท่านยังได้รับความเมตตาถ่ายทอด วิชาอาคม จากหลวงปู่ทองศุข วัดโตนดหลวง ซึ่งถือว่าเป็นพระคณาจารย์ ที่มีชื่อเสียงและบารมีมากรูปหนึ่ง หลวงปู่พิมพ์มาลัย นั้น ท่านมีศักดิ์เป็นหลานสนิทของหลวงปู่ทองศุข  โดยที่โยมมารดา ของท่านเป็นพี่สาว หลวงปู่ทองศุข จึงทำให้ท่านได้รับความเมตตามากเป็นพิเศษ 

ไม่นาน หลวงปู่พิมพ์มาลัย ก็สำเร็จวิชาต่างๆทำได้เข้มขลังจนเป็นที่ไว้วางใจ ของหลวงปู่ทองศุข  นอกจากนั้นยังแสวงหา พระอาจารย์องค์อื่นๆเพื่อร่ำเรียนวิทยาคมต่อไป ในสมัยนั้นมีพระเถระรูปหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีที่ยิ่งยง ด้วยวิทยาคมที่แปลกประหลาด นั่นคือวิชา ฝังเข็มทองคะนองฤทธิ์

พระเกจิอาจารย์รูปนี้ ชื่อ พระอาจารย์สมพงษ์ วัดหนองไม้เหลือง จังหวัดเพชรบุรี ในสมัยนั้นมี ผู้มาฝากตัวเรียนวิชา ฝังเข็มทองคำ นี้ กับ พระอาจารย์สมพงษ์กันเป็นจำนวนมาก แต่หาผู้ที่สำเร็จยากมาก เพราะต้องมีมานะบากบั่นทำจริง ฝึกกันจริงๆจึงจะสำเร็จได้ คือหากทำสำเร็จแล้ว ฝังเข็มทองคำ ที่ประจุอาคมเมื่อฝังผ่านชั้นหนังจะแสดงอิทธิคุณ เหมือนมีชีวิตพลิกตัวระเบิดเนื้อด้วยอำนาจอาคม ไปตามส่วนต่างๆของร่างกายผู้ฝังได้โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ เข็มนี้ไปได้ทั่วตัวเว้น ตา กับหัวใจ ที่ลงอาคมกรึงไว้ อย่างแน่นหนา และเป็นเคล็ดสำคัญที่วิทยาคมสำนักอื่น มิอาจถอดถอนได้เลย 


อานุภาพของเข็มทอง เมื่อแสดงอิทธิฤทธิให้ประจักษ์ขนาดนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวิเศษขนาดไหน เรียกได้ว่าครอบจักรวาลเลยทีเดียว เมื่อท่านหลวงปู่พิมพ์ได้รับ การถ่ายทอดวิชามาจากพระอาจารย์สมพงษ์ แล้วท่านต้องออกธุดงค์ เพื่อหาที่สงัดบำเพ็ญจิตให้เกิดอานุภาพ จึงจะสำเร็จวิชานี้ได้เพราะวิชานี้ หากพลังจิตไม่เข้มแข็ง อย่างเอกอุสุดยอดแล้ว จะไม่สามารถทำให้เข็มที่ฝังแสดงอานุภาพได้เลยหลังจากสำเร็จ วิชาเข็มทอง ท่านหลวงปู่พิมพ์ได้ธุดงค์ เพื่อฝึกฝนจิตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในดินแดนกระเหรี่ยงถึง 17 ปี 


หลวงปู่พิมพ์มาลัย ธุดงค์เรื่อยมาจนราวพ.ศ.2502 โยมมารดาท่านป่วย ท่านจึงขึ้นจากวัดมาลัย เพื่อดูแล โยมมารดาท่านที่บ้านหนองรี ในช่วงนั้นพอดีวัดหุบมะกล่ำ กำลังทรุดโทรมอย่างหนัก ไม่ว่าโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เสนาสนะและถาวรวัตถุอื่นๆ ท่านลงมือบูรณะทุกอย่างเอง ชาวบ้านเมื่อเริ่มเห็นก็ค่อยๆ เข้ามาช่วยเหลือ คนละไม้คนละมือ วัดหุบมะกล่ำจึงค่อยๆฟื้นคืน สภาพเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ในยามที่ว่างจากการงานโดยเฉพาะ วันพระวันโกนท่านก็ไม่ทิ้งกิจ พระศาสนาได้เทศน์อบรมญาติโยม ความเคารพบูชา ศรัทธา จากชาวบ้านนับวันยิ่งเพิ่มทวี ด้วยคุณธรรมความดีของ หลวงปู่พิมพ์มาลัย เป็นที่เห็นประจักษ์ หลวงปู่พิมพ์มาลัย ดูแล วัดหุบมะกล่ำ ประมาณ 17 ปี ตลอดเวลาได้สงเคราะห์ชาวบ้าน และสานุศิษย์ด้วยธรรมะและวิทยาคมต่างๆ ที่ท่านได้ร่ำเรียนมาโดยเฉพาะวิชาเข็มทองคะนองฤทธิ์ จนเป็นที่เลื่องลือ ทำให้มีผู้หลั่งไหลมายัง วัดหุบมะกล่ำอย่างไม่ขาดสาย

หลวงปู่พิมพ์มาลัย ได้ละสังขาร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2519 สิริรวมอายุได้ 78 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ