พระเครื่อง

ศึกษาศิลปะโบราณ ภาพจิตรกรรมอุโบสถ วัดคงคาราม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เที่ยววัด ชมแหล่งศึกษาศิลปะโบราณ ภาพจิตรกรรมอุโบสถ วัดเดิมบาง วัดที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นและพระราชทานนาม

วัดเดิมบาง หรือนามพระราชทานว่า วัดคงคาราม ตั้งอยู่เลขที่ 233 หมู่ที่ 1 ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งด้านทิศตะวันออก ประวัติความเป็นมาของวัด จากหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21 กล่าวถึงวัดเดิมบาง ว่า

โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี
ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2425 แต่ไม่ปรากฏนามผู้สร้างวัด ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2451 ครั้งสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประภาสต้น คลองมะขามเฒ่า ได้เสด็จมาประทับที่หน้าวัดเดิมบาง และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดคงคาราม" วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2431 ภายในมีโบราณวัตถุสถานสำคัญ ประกอบด้วย ธรรมมาสน์สมัยรัชกาลที่6  และที่สำคัญ อุโบสถเก่าแก่คู่วัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนโบราณ มีขนาดกว้าง16  เมตร ยาว 22 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2431 ซึ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เขียนด้วยสีฝุ่นโบราณ มีการรองพื้น โดยฝีมือ นายยา ซึ่งเป็นช่างท้องถิ่น ในสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี

จิตรกรรมฝาผนังของ อุโบสถวัดเดิมบาง แต่เดิมสันนิษฐานว่าคงมีการเขียนทั้งด้านในและด้านนอกของอาคาร แต่ปัจจุบันคงเหลือเฉพาะภายในอาคารเท่านั้น โดยเขียนเต็มผนังทั้งสี่ด้าน เว้นเฉพาะช่องประตูและหน้าต่างเป็นลำดับ
ส่วนผนังด้านในของอุโบสถวัดเดิมบาง มีการเขียนจิตรกรรมเต็มผนังทั้งสี่ด้าน กล่าวเป็นภาพเรื่องราวในพระพุทธศาสนา การดำเนินเรื่องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี
ผนังตอนบน ซึ่งเป็นผนังที่อยู่เหนือระดับกรอบประตูและหน้าต่าง เขียนภาพ เทพชุมนุม ซึ่งการเขียนภาพเทพชุมนุมนั้นโดยทั่วไป จะประกอบด้วยเหล่าเทพยดา เช่น เทวดา ฤาษี นักสิทธิ์ วิทยาธร โดยเรียงลำดับจากเทพชั้นต่ำไปจนถึงชั้นสุงสุด แต่ภาพเทพชุมนุมที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังวัดเดิมบาง มีเพียงรูปแบบเดียว คือ ภาพพระพรหมนั่งพนมมือหันหน้าไปทางพระประธาน จำนวน 17 พระองค์

โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี
 

ส่วนภาพของ พระพุทธเจ้า นั้นเขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้าอิริยาบสประทับนั่งปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้ว ผนังละ 16 พระองค์ เมื่อรวมผนังทั้งสองเท่ากับ 32 พระองค์  ผนังตอนล่าง เขียนภาพเหตุการณ์ในพุทธประวัติ เล่าเรื่องราวตั้งแต่ตอน ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และ ดับขันธ์ปรินิพพาน และรวมถึงภาพจากทศชาติชาดก เป็นต้น 

โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี
ผนังด้านหน้า (ทิศตะวันออก) เขียนภาพ พุทธประวัติ ตอนมารผจญ เขียนเต็มผนัง โดยภาพ พระพุทธองค์ประทับนั่งปางมารวิชัยเหนือพระแม่ธรณี ถูกล้อมด้วยกองทัพเหล่าพญามาร ซึ่งเขียนเป็นภาพบุคคลต่างชาติต่างภาษาจำนวนมาก แม่พระธรณีบีบมวยผมทำให้น้ำท่วมใหญ่ ไหลผ่านพัดพากองทัพพญามาร แตกออกไป และนอกจากนี้ ยังมีเหล่าเทพยดานางฟ้าจากสวรรค์ต่างๆสรรเสริญ ส่วนที่มุมล่าง ติดผนังด้านขวาเขียน พุทธประวัติ ตอน ธิดาพญามารยั่วยวนพระพุทธองค์ฯ

โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี
ผนังด้านขวาของ พระประธาน (ทิศใต้) แบ่งออกเป็นห้องๆ ห้องที่ 1 พุทธประวัติ ตอน เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
ผนังด้านขวา ห้องที่ 2 พุทธประวัติ ตอน เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาลี
ผนังด้านขวา ห้องที่ 3 ส่วนบนด้านซ้ายมือ เป็นพุทธประวัติ ตอน พระอินทร์ดีดพิณสามสาย และส่วนบนขวา วนลงมาด้านล่าง เป็น 
พุทธประวัติ ตอน ทรมานพระวรกาย

โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี
ผนังด้านขวา ห้องที่ 4 มุมซ้ายล่าง พุทธประวัติ ตอน ลอยถาด และส่วนบนเป็นพุทธประวัติ ตอน นางสุชาดา น้อมถวายข้าวมธุปายาส
ผนังด้านซ้ายของพระประธาน (ทิศเหนือ) 
ห้องที่ 5 ส่วนด้านบนจากซ้ายไปขวา พุทธประวัติ ตอน พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุข และที่ด้านซ้ายล่างไปส่วนกลาง พุทธประวัติ 
ตอน ตปุสสะและภัลลิกะ ถวายสัตตูก้อนสัตตูผง
ผนังด้านซ้าย ห้องที่ 6 สันนิษฐานว่า เป็นภาพเล่าเรื่อง ตำนานการสร้าง พระเจดีย์ชเวดากอง ที่ ประเทศพม่า 
ผนังด้านซ้าย ห้องที่ 7 สันนิษฐานว่า เป็นภาพเล่าเรื่องตำนานการสร้าง พระเจดีย์ชเวดากอง เช่นกัน
 

โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี

ผนังด้าน (ทิศตะวันตก) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทางด้านซ้ายของพระประธาน ซึ่งมีพื้นที่สองในสามของผนัง เขียนภาพเล่าเรื่อง 2 เรื่อง คือ ตอนบนเป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระมาลัย ส่วนภาพตอนล่าง เขียนเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จไป ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงของพระราชบิดา และตอนพระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวัน ให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสาวก ซึ่งถือกันว่า พระเวฬุวัน เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี
ส่วนด้านขวาของพระประธาน เป็นภาพพุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์แสดงธรรมโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และตอนที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สู่โลกมนุษย์ใกล้เมืองสังกัสสะนครฯ
ลักษณะการเขียนภาพมีการร่างด้วยดินสอดำก่อน จากนั้นจึงลงสีที่ตัวภาพด้วยสีอ่อน สีนวล ทำให้ภาพดูสว่างขึ้น และลงสีคล้ำในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งมีความแตกต่าง จากภาพจิตรกรรมฝาผนังในจังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนใหญ่โดยทั่วไปจะลงสีพื้นทำฉากหลังก่อนเขียนตัวภาพ ลักษณะการจัดวางองค์ประกอบของภาพพุทธประวัติ จะดำเนินแบบสลับฟันปลา โดยใช้ภาพทิวทัศน์คั่นเรื่องราวแต่ละฉากออกจากกัน

โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี
ในด้านของฝีมือการเขียนภาพนั้น ที่วัดนี้เป็นฝีมือช่างท้องถิ่น สิ่งที่น่าสนใจและใคร่ศึกษาได้แก่ การใช้โครงสร้างสีภาพรวมแบบเอกรงค์ เป็นการแสดงออกที่ใสซื่อ บริสุทธิ์ ด้วยจิตศรัทธา ต่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าของสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่นชาวอำเภอเดิมบาง ได้อย่างชัดเจน

โบสถ์เก่า วัดเดิมบาง (คงคาราม) สุพรรณบุรี

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ