พระเครื่อง

วาระครบรอบ 39 ปี วันละสังขาร หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อ่านประวัติย่อ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล บูรพาจารย์รูปสำคัญ แห่ง สายพระกรรมฐาน ศิษย์ หลวงปู่มั่น ในวาระครบรอบ วันละสังขาร 39 ปี

วันนี้วันที่30 ตุลาคม 2565 เป็นวันครบรอบ 39 ปี การละสังขาร พระราชวุฒาจารย์ หรือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล อดีตเจ้าอาวาสบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นหนึ่งในศิษย์รูปสำคัญ ในสายกัมมัฏฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านมีอุปนิสัยเยือกเย็น เป็นพระพูดน้อย รักสงบ จิตใจฝักใฝ่ในความวิเวก เมื่อบวชแล้วท่านและเพื่อนสหธรรมิกคือหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม ได้ออกธุดงค์ติดตามขอฟังโอวาทธรรม จากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ยังสถานที่ต่าง ๆ เมื่อได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียว

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

จากหลวงปู่มั่น ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง จึงได้เลิกศึกษาพระปริยัติแล้วออกธุดงค์ตามท่านพระอาจารย์มั่น ไปยังที่ต่าง ๆ หลายแห่ง จึงนับได้ว่าหลวงปู่เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นในสมัยแรก ท่านได้ปรารภความเพียร อย่างอุกฤษฏ์แรงกล้าจนแสงแห่งพระธรรมบังเกิดขึ้น 


หลวงปู่มั่น ได้กล่าวยกย่องว่า “ถูกต้องดีแล้ว เอาตัวรอดได้แล้ว นับว่าไม่ถอยหลังอีกแล้ว ขอให้ดำเนินตามปฏิปทานี้ต่อไป” และยังได้กล่าวสรรเสริญให้ปรากฏต่อศิษย์ทั้งหลายว่า “ท่านดูลย์ นี้เป็นผู้มีความสามารถอย่างยิ่ง สามารถมีสานุศิษย์และผู้ติดตามมาประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก” 

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

สำหรับประวัติของ หลวงปู่ดูลย์ นั้น  ท่านถือกำเนิด ตรงกับวันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2431 แรม 2 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ณ บ้านปราสาท ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ชีวิตของหลวงปู่ดุลย์ เมื่อแรกรุ่นเจริญวัยนั้น ก็ถูกำหนดให้อยู่ในเกฏเกณฑ์ของสังคมสมัยนั้นแม้ท่านจะเป็นลูกคนที่สอง แต่ก็เป็นบุตรชายคนโต ดังนั้นท่านจึงต้องมีภารกิจมากกว่าเป็นธรรมดา โดยต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน งานในบ้าน เช่น ตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหาร และเลี้ยงดูน้อง ๆ ซึ่งมีหลายคน งานนอกบ้าน เช่น ช่วยแบ่งเบาภระของบิดาในการดูแลบำรุงเรือกสวนไร่นาแล้วเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เป็นต้น
 

อุปนิสัยของท่าน ต่างจกต่างคนในวัยเดียวกัน คือ หลวงปู่ดูลย์ ในขณะนั้น ท่านมีความปราถนาอยากออกบวช จึงพยายามขออนุญาตจากบิดามารดา และท่านผู้มีพระคุณที่มีเมตตาชุบเลี้ยง แต่ก็ถูกท่านเหล่านั้นคัดค้านเรื่อยมา โดยเฉพาะฝ่ายบิดามารดา ไม่อยากให้บวช เนื่องจากขาดกำลังทางบ้าน ไม่มีใครช่วยเป็นกำลังสำคัญในครอบครัว ทั้งท่านก็เป็นบุตรชายคนโตด้วย

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

แต่ในที่สุด บิดามารดา ก็ไม่อาจขัดขวางความตั้งใจจริงของท่านได้ ต้องอนุญาตให้บวชได้ตามความปรารถนาที่แน่วแน่ไม่คลอนแคลนของท่าน พร้อมกับมีเสียงสำทับจากบิดาว่าเมื่อบวชแล้วต้องไม่สึก หรืออย่างน้อยต้องอยู่จนได้เป็นเจ้าอาวาส ทั้งนี้เนื่องจากปู่ของท่านเคยบวชและได้เป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว 
เมื่อได้รับอนุญาตจากบิดามารดาเรียบร้อยแล้วอย่างนี้ ท่านจึงได้ละฆราวาสวิสัย ย่างเข้าสู่ความเป็นสมณะ ท่านอุปสมบท ตรงกับปี พ.ศ.2453 ณ วัดจุมพลสุทธาวาส จ.สุรินทร์ ในกาลต่อมา

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

นับว่าเป็นโชคของท่านก็ว่าได้ ท่านมีโอกาสได้คุ้นเคยกับ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านรับราชการครู ทั้งที่ยังเป็นพระสงฆ์อยู่ในขณะนั้นที่วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านอาจารย์สิงห์ได้ชอบอัธยาศัยไมตรีของหลวงปู่ดูลย์ และเห็นปฏิปทาในการศึกษาเล่าเรียน พร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติกิจในพระศาสนาของท่าน ว่าเป็นไปด้วยความตั้งใจจริง ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้ช่วยเหลือท่านในการขอญัตติ จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ
ท่านญัตติเป็นพระธรรมยุต เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2461 ณ วัดสุทัศนาราม จ.อุบลราชธานี โดยมีพระมหารัตน์ รัฏฐปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ 
 

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
จากการที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและพิจารณาข้อธรรมะเหล่านั้นจนแตกฉานช่ำชองพอสมควรแล้ว ก็เห็นว่า การเรียนปริยัติธรรมอย่างเดียวนั้น เป็นแต่เพียงการจำหัวข้อธรรมะได้เท่านั้น ส่วนการปฏิบัติให้ได้ผลและได้รู้รสพระธรรมอย่างซาบซึ้งนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จึงบังเกิดความเบื่อหน่าย และท้อถอยในการเรียนพระปริยัติธรรมและมีความสนใจโน้มเอียงไปในทางปฏิบัติธรรม ทางธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างแน่วแน่

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ในพรรษานั้นเองท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พระปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายอารัญญวาสี ได้เดินทางกลับจากธุดงค์กัมมัฏฐาน มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี ข่าวที่พระอาจารย์มั่นมาจำพรรษา ที่วัดบูรพานั้นเลื่องลือไปทุกทิศทาง ทำให้ภิกษุสามเณร บรรดาศิษย์ และประชาชนแตกตื่นฟื้นตัวพากันไปฟังพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นหลวงปู่ดูลย์กับอาจารย์สิงห์ 2 สหาย พากันไปฟังธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นกันเป็นประจำ ไม่ขาดแม้สักครั้งเดียว นอกจากได้ฟังธรรมะแปลกๆ ที่สมบูรณ์ด้วยอรรถพยัญชนะ มีความหมายลึกซึ้งและรัดกุมกว้างขวาง ยังได้มีโอกาสเฝ้าสังเกตปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ที่งดงามน่าเลื่อมใสทุดอิริยาบถอีกด้วย ทำให้เกิดความซาบซึ้งถึงใจคำพูดแต่ละคำมีวินัยแปลกดี ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน จึงเพิ่มความสนใจใคร่ประพฤติปฏิบัติทางธุดงค์กัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้นทุกที

ดังนั้นท่านจึงออกธุดงค์อย่างเข้มข้น และฝึกอย่างเข้มแข็งจน ในที่สุดท่านสามารถเห็นแสงแห่งพระธรรมก็บังเกิดขึ้น ปรากฏแก่จิตของท่าน รู้ชัดว่าอะไรคือจิต อะไรคือกิเลส จิตปรุงกิเลสหรือกิเลสปรุงจิต และเข้าใจสภาพเดิมของจิตที่แท้จริงได้จนรู้กิเลสส่วนไหนละได้แล้ว ส่วนไหนยังละไม่ได้ หลวงปู่ดุลย์ เป็นผู้มีอุปนิสัยเยือกเย็น พูดน้อย สงบ อยู่เป็นนิตย์ มีวรรณผ่องใส ท่านรักความสงบจิตใจใฝ่ในความวิเวกมาก จะเห็นได้ว่าท่านชอบสวดมนต์บท "อรญฺเญ รุกขมูเลวา สุญฺญาคาเรวา ภิกฺขโว ... " มาก


หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2526 ณ วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ สิริอายุ 95 ปี 26 วัน พรรษา 65

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ