พระเครื่อง

เที่ยววัด เมืองพิษณุโลก วัดนางพญา ต้นกำเนิด " พระนางพญา " พระเครื่องราคาสูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก ต้นกำเนิด พระนางพญา หนึ่งใน เบญจภาคี ที่โด่งดัง " วัดนางพญา " อารามโบราณ เชื่อว่า พระเมเหสี พระมหาธรรมราชา ทรงสร้าง

พิษณุโลก เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ ในอดีต รวมทั้ง มีพระกรุ ที่เป็นที่นิยม ชื่นชอบ ของ นักสะสม นิยมพระเครื่อง ที่โดดเด่น และ เป็น หนึ่งในพระเครื่อง ชุด เบญจภาคี นั่นคือ พระนางพญา 

วัดที่มีการค้นพบ พระกรุ นั่น คือ วัดนางพญา สำหรับวัดแห่งนี้นั่น เชื่อกันตามข้อมูลต่าง ๆ ว่า พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมเหสีของ พระมหาธรรมราชา และทรงเป็นพระราชมารดาของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงสร้างพระนางพญาขึ้นในคราวบูรณปฏิสังขรณ์ วัดราชบูรณะ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2090 – 2100 ขณะนั้น พิษณุโลก เป็นเมืองลูกหลวง และพระองค์ดำรงพระอิสริยยศเป็นแม่เมืองสองแคว และ พระมหาธรรมราชา ทรงพระอิสริยยศ พระอุปราช ของ กรุงศรีอยุธยา 

วัดนางพญา พิษณุโลก
พื้นที่ติดกับ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือคนพื้นที่มักเรียกมาแต่เก่าก่อนว่า วัดใหญ่ โดยมีถนนจ่าการบุญ คั่นกลาง นอกจากนั้นอยู่ติดกับ วัดราชบูรณะ แต่ปัจจุบันถนนสายมิตรภาพตัดผ่าน ทำให้ วัดนางพญา กับ วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่คนละฝั่งถนน วัดนางพญา ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในวันที่ 27 กันยายน 2479 เฉพาะวิหาร ปัจจุบันเป็นอุโบสถ และ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบ 2 องค์ สำหรับประวัติ วัดนางพญา สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อ 13 พฤษภาคม ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) ความว่า “ออกจากศาลาการเปรียญไปวัดนางพญาดูระฆังใหญ่ปากกว้างประมาณ 2 ศอก เป็นระฆังญวนทำด้วยเหล็ก แล้วไปดูวิหาร เล็กกว่า วัดราชบูรณะหน่อยหนึ่ง”

วัดนางพญา พิษณุโลก

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินยังวัดนางพญาเมื่อ 16 ตุลาคม ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444) เมื่อเสร็จการจุดเทียนชัยแล้ว ไปดู วัดนางพญา ซึ่งอยู่ติดต่อกับ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร ด้านหลังพระอุโบสถ มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ใหญ่ มีขนาดฐานกว้าง 9.10+9.10 เมตร สูง 11.60 เมตร ยังปรากฏชั้นฐานแข้งสิงห์อยู่สองชั้น 

สภาพค่อนข้าง ชำรุดทรุดโทรม ลักษณะศิลปะอยุธยาตอนปลายต่อรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเล็ก มีขนาดฐานกว้าง 3.70+3.70 เมตร สูง 7.95 เมตร ยังปรากฏฐานแข้งสิงห์รองรับองค์ระฆังอยู่และบัวกลุ่มด้านบนยอดเหนือชั้นบังลังก์ขึ้น สภาพคอนข้างชำรุดแตกหักไม่ต่างกัน วัดนางพญาแห่งเดิมทีไม่มีพระอุโบสถ จะมีเพียงแต่พระวิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบทรงโรง มี 6 ห้องสถาปัตยกรรมศิลปะสมัยสุโขทัย มีพระพุทธรูปประธานเป็นปูนปั้น ศิลปะสุโขทัย ฝาผนังด้านหลัง เขียนภาพไตรภูมิ ส่วนฝาผนังด้านหน้าเขียนภาพพระพุทธประวัติ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2515

วัดนางพญา พิษณุโลก

พระครูบวร ชินรัตน์ (ม้วน) เจ้าอาวาสวัดนางพญาได้บูรณะแปลงพระวิหารหลังนี้ให้เป็นพระอุโบสถ โดยการก่อสร้างขึ้นใหม่หมดทั้งหลัง กว้าง 10.50 เมตร ยาว 20 เมตร ทำให้ไม่สามารถที่จะศึกษาสภาพของพระวิหารโบราณหลังเดิมได้เลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระฤกษ์การสร้างอุโบสถ ณ วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ.2521 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2506 ส่วนการขุดพบในกรุครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2444  พระพิมพ์นางพญา ถูกบรรจุไว้บนหอระฆังของเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด ต่อมาเมื่อเจดีย์หักพังลงมา พระนางพญา จึงตกลงมาปะปนกับซากเจดีย์ และกระจายทั่วไปในบริเวณวัด

พระนางพญา

ซึ่งเป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเมือง พิษณุโลก เพื่อทอดพระเนตรการหล่อ พระพุทธชินราช จำลอง และศาลาเล็กที่สร้างไว้เพื่อรับเสด็จ การพบกรุ พระนางพญา ดังกล่าว ได้มีการนำทูลเกล้าฯ ถวาย ส่วนหนึ่งนำกลับไปที่กรุงเทพ แต่ยังเหลืออยู่ที่วัดอีกจำนวนมาก และใน พ.ศ. 2497 มีการพบ กรุวัดนางพญาตรงซากปรักหักพังหน้ากุฏิสมภารถนอม เจ้าอาวาส ขณะขุดหลุมเสามี พระพิมพ์นางพญา จำนวนมาก

ต่อมา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2485 ชาวบ้านได้หนีภัยสงคราม เข้าไปหลบอยู่ในดงกล้วย และได้ ทำการขุดหลุมหลบภัย จึงพบพระนางพญากระจายตัวจมอยู่ใต้พื้นดิน และการพบกรุพระนางพญาครั้งสุดท้ายพบที่ วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก อีกครั้ง เมื่อมีการทำท่อระบายน้ำ ในบริเวณวัดประมาณปี พ.ศ.2532 

พระนางพญา

ลักษณะของพระนางพญา พระส่วนใหญ่จะมีเนื้อหยาบ ที่ละเอียดอ่อนจะมีน้อยกว่ามาก มีทั้งหมด 7 พิมพ์ด้วยกัน คือ 1. พิมพ์เข่าโค้ง ถือเป็นพิมพ์ใหญ่พิมพ์หนึ่ง 2. พิมพ์เข่าตรง ถือเป็นพิมพ์ใหญ่ โดยเฉพาะพิมพ์เข่าตรง แยกออกเป็น 2 พิมพ์ด้วยกัน คือ พิมพ์เข่าตรง “ธรรมดา” กับพิมพ์เข่าตรง “มือตกเข่า” แต่ทั้งสองพิมพ์ถือว่าอยู่ในความนิยมเหมือนกันทั้งคู่ 3. พิมพ์อกนูนใหญ่ ถือเป็นพิมพ์ใหญ่ 4. พิมพ์สังฆาฏิ ถือเป็นพิมพ์กลาง 5. พิมพ์อกแฟบ (หรือพิมพ์เทวดา) ถือเป็นพิมพ์เล็ก 6. พิมพ์อกนูนเล็ก ถือเป็นพิมพ์เล็ก 7.พิมพ์พิเศษ เช่น พิมพ์เข่าบ่วง หรือพิมพ์ใหญ่พิเศษ พระนางพญา ลักษณะของเนื้อจะเหมือนกันหมด ผิดกันแต่พิมพ์ทรงเท่านั้น ส่วนทางด้านพุทธคุณนั้น ยอดเยี่ยมทางด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเป็นเลิศ สมกับเป็นหนึ่งในห้าชุดของชุดเบญจภาคีนั้นเอง 

 


เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline