พระเครื่อง

ไขความลับ ของ ธงจระเข้ และ นางมัจฉา ในงาน "กฐิน "

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไขความลับ การบุญ กฐิน เรื่องราว เกี่ยวกับ ที่มาที่ไป ของ ธงจระเข้ และ ธงนางมัจฉา ผ่านความเป็นเครื่องหมายสำคัญในงานบุญ

หลังจากออกพรรษา เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 จะเป็นฤดูทอดกฐินของชาวพุทธ วัดที่จะรับกฐินได้ ต้องมีภิกษุจำพรรษา 5 รูป เป็นอย่างต่ำ และแต่ละวัดให้รับได้ครั้งเดียว วัดไหนรับ กฐิน แล้วจะมี ธงจระเข้ ปักหน้าวัดคู่กับ ธงนางมัจฉา เพื่อบอกว่าวัดนี้รับ กฐิน แล้ว


ข้อเขียนวันนี้จะเฉลยว่า ทำไมต้องมี ธงจระเข้ และ ธงนางมัจฉา ท.เลียงพิบูลย์ นักเขียนเรื่อง กฏแห่งกรรม ชื่อดัง เล่าไว้เมื่อ พ.ศ. 2514 ว่า ธงจระเข้ และ ธงนางมัจฉา เป็นเครื่องหมายแห่งธง กฐิน

สมัยก่อนนั้น การ ทอดกฐิน มักจะลงเรือแห่ไปตามแม่น้ำ มี ธงจระเข้ และ นางมัจฉา ปักหน้าเรือ เพราะแต่ก่อนนั้น ที่ตั้งวัดส่วนมากอยู่ริมแม่น้ำ

 

ธงกฐิน
 

 

เมื่อ ทอดกฐิน แล้ว ทางวัด จะนำ ธงกฐิน ปักหน้าวัด เพื่อให้รู้ว่าวัดนี้ รับ กฐิน แล้ว ความเป็นมาของธงจระเข้และนางมัจฉา นั้น ท่านเล่าว่า มีเศรษฐีท่านหนึ่ง  ตระหนี่ถี่เหนียวมาก ได้เงินทองมา ไม่ยอมใช้แต่ใส่ตุ่มฝั่งไว้ ริมตลิ่งหน้าบ้านยอมอยู่แบบยากจน เมื่อตายได้ไปเกิดเป็นจระเข้ เฝ้าทรัพย์ที่ฝังไว้

 

ต่อมาเกิดดินเซาะ ตลิ่งพัง ทรัพย์สินในโอ่งที่ฝังไว้จะหายไปกับน้ำ จระเข้เสียดายจึงเข้าฝันให้ลูกชายมาขุดทรัพย์เอาไป ทอดกฐิน และขอให้อุทิศบุญกุศลให้ด้วย จะได้ไปผุดไปเกิดเสียที

 

เจ้าลูกชายจึงไปขุดทรัพย์ตามความฝัน ได้แล้วไปจอง กฐิน ที่วัด เมื่อถึงเวลา จึงลงเรือแห่ กฐิน มี ธงจระเข้ หรือธง กฐิน ปักหน้าเรือ ส่วน จระเข้เจ้าของทรัพย์ ก็ว่ายนำหน้าเรือ จนถึงวัดที่จะ ทอดกฐิน แล้วหายไป นี่คือความเป็นมาของ ธงจระเข้

 

ส่วน ธงนางมัจฉา นั้น ท่านว่า เพื่อจะบอกว่ามีจระเข้ตัวเมีย ด้วย แต่หน้าตาจระเข้ตัวผู้ตัวเมียแยกกันไม่ออก จึงใช้นางมัจฉา แทนจระเข้ ตัวเมีย จึงมี ธงนางมัจฉา ด้วยประการฉะนี้

 

ธงกฐิน
 

 

 

ท.เลียงพิบูลย์ ยังเล่าว่าเป็นเรื่องหน้าเศร้า ที่บางพื้นที่  "สร้างบาปในงานบุญ" คือมีการล้มวัว ล้มควาย เอาเนื้อมาทำอาหารเลี้ยงในงานบุญ หรืองาน ทอดกฐิน ชาวบ้านว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็ไม่มีอาหารเลี้ยงคน  ท่านว่าเป็นการสร้างบาปในงานบุญ ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
 
ส่วนความเป็นมาของการ ทอดกฐิน นั้น มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ครั้งนั้นภิกษุชาวเมือง ปาฐา 30 รูปเดินทางไกลมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สาวัตถี แต่มาไม่ถึง เพราะถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน เมื่อออกพรรษา ก็รีบเดินทาง มาสาวัตถี ทั้งๆ ที่หนทางเต็มไปด้วยโคลนตม(เพราะยังไม่หมดฝน) จีวรสบง จึงเปียก เปรอะเปื้อน เมื่อพระพุทธเจ้าทอดพระเนตร จึงทรงอนุญาตให้มี ผ้ากฐิน และนางวิสาขา เป็นเจ้าภาพกฐินคนแรก


 เรื่อง กฐิน ดั้งเดิม มีความต้องการผ้าเพียงผืนเดียว จะเป็นสบง หรือจีวร ก็ได้ ให้พระสงฆ์ลงมติให้ภิกษุรูปหนึ่งที่ฉลาด รอบรู้วินัยเป็นผู้กราน กฐิน หรือ ครองกฐิน

 

แต่ปัจจุบันผ้ากฐินที่เป็นของบริสุทธิ์ ดุจล่องลอยมาจากฟากฟ้านภากาศ มีความสำคัญลดลง กลายเป็นบริวารกฐิน เช่นจตุปัจจัยมีความสำคัญมากกว่า เพราะวัดต้องการเอาปัจจัยไปบำรุงวัด หรือซ่อมแซมศาสนสมบัติ กฐิน ปัจจุบันจึงเป็น กฐินสามัคคี เพื่อระดมทุนให้ได้มากๆ

 

"กฐินตก" วัดเมืองไทยมีประมาณ 30,000 กว่าวัด ใช่ว่าทุกวัดจะมีผู้จองกฐินทั้งหมดก็หาไม่ ยกเว้นวัดหลวง ที่มีกฐินพระราชทาน ส่วนวัดราษฎร์ ของสามัญชนคนธรรมดา ไม่มีคนจองกฐินทุกวัด วัดที่ไม่ใครจองกฐิน เรียกว่ากฐินตกมีนับร้อยวัด ทั่วทุกภาคของประเทศ

 

ธงกฐิน


ยิ่งปีนี้ ประเทศชาติเพิ่งส่างไข้ จากโควิด 19  หมาดๆ ชาวบ้านหาเงินยาก ตกงานก็มาก จึงเพิ่มวัดกฐินตกมากขึ้น ชาวพุทธทีมีกำลังสำคัญจึงรวมกลุ่ม จัด ทอดกฐิน ตกค้างในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 หรือ 8 พฤศจิกายน 2565 ให้วัดต่างๆที่ไม่มี กฐิน มารับได้ ณ ที่กำหนดไว้ เช่น นายวุฒิสาร พนารี ประธานสมาคมสื่อมวลชนพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยแห่งชาติ (ส.พ.ว.ช.) ใช้ที่ว่าการอำเภอขุนหาญ จ.ศรีษะเกษ เป็นศูนย์ทอดกฐินตกค้างให้ 50 วัด จาก จ.ศรีษะเกษ จ.สุรินทร์ และ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้น (ท่านสามารถร่วมเป็นเจ้าภาพกัยคณะ ส.พ.ว.ช.ได้ ติดต่อที่ โทร.081-240-1555 และ 086-315-1355

 

เรื่องกฐิน นั้น เป็นบุญพิเศษ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต ให้ทำ ต่างจาก บุญทาน หรือสังฆกรรมอื่นๆ ที่ต้องขอก่อน จึงทรงอนุญาต ที่แปลกมากกว่าทานอื่นๆ คือผู้ให้ (เจ้าภาพกฐิน) และผู้รับ (พระสงฆ์) ได้รับอานิสงส์ทั้งคู่ ในขณะที่ทาน อื่นๆ ผู้ให้ (เจ้าภาพ) ได้รับฝ่ายเดียว ดังนั้น เมื่อได้รับซองกฐินแล้วอย่าลังเล ต้องขอบใจที่เขาหยิบยื่นบุญที่มีอานิสงส์ ชัดเจนมามอบให้

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ