พระเครื่อง

รู้จัก เครื่องราง 9 ของมงคล แต่โบราณ ตอนที่ 1

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำความรู้จัก 9 เครื่องราง มงคล ที่มี ความเชื่อ ในพุทธคุณมาแต่โบราณ ที่นักสะสม ปราถนามีไว้ในครอบครอง ทั้ง ครูบาอาจารย์ จัดสร้าง ทั้ง ของทนสิทธิ์ จากธรรมชาติ

ในโลกของนักสะสมเครื่องราง วัตถุมงคล พระเครื่องนั้น ย่อมต้อง เคยได้ยิน ได้อ่าน บทกลอน ที่นักเลงพระยุคก่อน กล่าวไว้ว่า "หมากดีที่วัดหนัง ถ้าเบี้ยขลังวัดนายโรง ไม้ครูคู่วัดอินทร์ ส่วนมีดบินวัดหนองโพธิ์ พิสมรวัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้ายวัดโตนดหลวง ราหูคู่วัดศรีษะทอง เเหวนอักขระต้องวัดหนองบัว ลูกเเร่ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน ทุกสิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหา ติดกายยามยาตรา ภัยมิกล้ามาเเผ้วพาน"
9 เครื่องรางนี้ กลายเป็น สิ่งที่นักสะสม ปรารถนาได้มาครอบครอง ด้วย ความเชื่อ ในพุทธคุณ วิทยาคม และพลังอำนาจอันเร้นลับ ของ วิชาอาคม 

หมากทุย   หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร วัดหนังราชวรวิหาร กรุงเทพ

หมากทุย หลวงปู่เอี่ยม
หมากทุย ของ  หลวงปู่เอี่ยม มีกรรมวิธีการสร้างที่สลับซับซ้อน ต้องใช้หมากทุยตายพรายทั้งทะลาย คือต้องเลือก ต้นหมากที่ยืนตายและทะลายยังแห้งติดอยู่กับต้น  เมื่อพบหมากทุยที่ต้องการแล้ว ก่อนขึ้นไปเก็บจะต้องบริกรรมพระคาถาตามขั้นตอนก่อน  และจะต้องปีนขึ้นต้นหมากโดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เมื่อเขยิบไปทีหนึ่งก็ให้บริกรรมพระคาถาบทหนึ่ง และเมื่อขึ้นไปถึงทะลายหมากแล้ว ต้องเพ่งไปที่ผลหมากพร้อมกับบริกรรมพระเวท แล้วจึงใช้ปากคาบเอาผลหมากมาให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ  เมื่อได้หมากทุยมาแล้วท่านจะทำการขูดเอาเนื้อหมากข้างในออกให้หมด เสร็จแล้วก็ลงอักขระเลขยันต์ตามตำราของท่าน "นะปถมัง" เป็นหลักใหญ่ และประกอบด้วยหัวใจพระรัตนตรัย คือ มะ อะ อุ และพระนามย่อพระเจ้าห้าพระองค์คือ " นะโมพุทธายะ "  และหัวใจมหาอุตคือ " อุดทัง อัดโธ" เขียนลงในกระดาษสาโบราณ แล้วบรรจุลงไปในลูกหมากที่เตรียมไว้ แล้วอุดด้วยชันโรงใต้ดิน เมื่อปลุกเสกดีแล้วจะถือเป็นเครื่องรางชั้นดี  
 

ตะกรุดไม้ครู หลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร กรุงเทพ

ตะกรุดไม้ครู หลวงปู่ภู
 ตะกรุดไม้ครู ของ หลวงปู่ภู นั้น จากจัดสร้างนับว่ายากมาก เรียกว่า ผู้ที่มีบุญวาสนาเท่านั้นจึงจะสร้างได้สำเร็จ วัสดุที่ใช้สร้างก็สุดแสนจะหายาก  ท่านต้องเดินธุดงค์เข้าไปในป่าลึก เพื่อจะไปหาไม้ไผ่ และจะต้องเป็นไม้ไผ่สีสุกที่ถูกฟ้าผ่าล้ม ปลายชี้ไปทางทิศตะวันออกเท่านั้นถึงจะใช้ได้ จากนั้นภายใน 7 วัน ต้องเฝ้ารอโขลงช้างที่จะผ่านมาพบ แล้วกระโดดข้ามกอไผ่นั้นทั้งโขลง นอกจากนี้ ก่อนที่ท่านจะตัดไม้ไผ่ลำดังกล่าวได้ ท่านต้องทำพิธีพลีกรรมก่อน เมื่อได้ไม้ไผ่มาแล้ว ท่านจะนำมาลงอักขระ แล้วใช้เป็นไม้เท้ายันกายในยามที่ท่านเดินธุดงค์ ขณะที่ท่านเดินธุดงค์ เมื่อได้พบศพที่ ‘ตายวันเสาร์ เผาวันอังคาร’ ก็จะใช้ไม้เท้านั้นจิ้มศพจนกว่าจะครบ 7 ศพ 


พิสมร หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม

พิสมร หรือ ตะกรุดใบลาน หลวงพ่อแก้ว
หากกล่าวถึง หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร วัดพวงมาลัย น้อยคนที่สนใจเครื่องรางจะไม่รู้จัก พิสมร หรือ  ตะกรุดใบลาน หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “ตะกรุดบังปืน” ของท่าน ด้วยอุปเท่ห์ในการสร้างที่ต้องเฉพาะเจาะจงให้ผู้ที่ต้องการได้ตะกรุดไปใช้ ต้องไปตัดใบลานด้วยตัวเองจากต้นลานที่ คลองบังปืน (บางปืน) ตำบลบังปืน(บางปืน) เท่านั้น  มีเรื่องเล่ากันมาว่า สมัยนั้นถ้าหลวงพ่อเจาะจงลงตะกรุดให้ใครแล้วไม่ได้ใบลานจากแหล่งที่หลวงพ่อกำหนดไว้เป็นอันว่าอด นอกจากตะกรุดบังปืนที่เลื่องชื่อแล้ว แม้แต่ ผ้ายันต์ ลูกอม ถ้าบอกว่าเป็นของวัดพวงมาลัย เป็นต้องถูกขอเรียบไม่มีเหลือ ปัจจุบันวัตถุมงคลแท้ๆ ของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย นั้นหายากและมีราคาสูง ยิ่งถ้าแหล่งที่มาไม่น่าเชื่อถือด้วยแล้วส่วนมากจะเป็นของยัดวัดเสียมากกว่าเพราะได้ราคาดี
 


มีดบิน หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์ 

มีดหมอ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นั้นว่ากันว่าเนื้อเหล็กที่นำมาใช้ตีเป็นมีดนั้นจะมีส่วน ผสมประกอบด้วยตะปูสังขวานร ซึ่งเป็นตะปูในสมัยโบราณที่ใช้ยึดเครื่องไม้ในพระอุโบสถแทนตะปู ตะปูโลงผีที่สัปเหร่อเผาแล้วเก็บไว้ บาตรแตกชำรุด และเหล็กน้ำพี้ นำมาเป็นส่วนผสมใช้ทำมีดหมอ สำหรับช่างที่ตี มีดหมอของ หลวงพ่อเดิม นั้น เท่าที่พบจะเป็นฝีมือช่างฉิม ช่างไข่ และช่างสอน ซึ่งแต่ละช่างจะมีเอกลักษณ์ของตัวมีดของตนเองต่างกันไป เมื่อช่างทำใบมีดเสร็จแล้ว ก็จะส่งต่อให้ช่างทำด้ามและฝักทำต่อ ส่วนที่เป็นตัวด้าม ถ้าเป็นมีดเล่มใหญ่จะมีด้ามเป็นงา และฝักเป็นไม้คูน ส่วนเล่มเล็กก็จะมีด้ามเป็นงาและฝักเป็นงา จากนั้นก็ส่งต่อไปให้ช่างทำเงินทำที่รัดปลอกมีดและด้ามมีด ช่างจะทำเงิน ทองหรือนากตามที่กำหนด โดยส่วนมากจะเป็นเงินเพียงอย่างเดียว

  เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง กรุงเทพ

เบี้ยแก้ วัดนายโรง
 นับเป็นหนึ่งในสุดยอดของเครื่องรางที่หาได้ยากมาก ถือเป็นปฐมบทของ เบี้ยแก้ หรือ "ราชาแห่งเบี้ยแก้" และถูกจัดให้เข้าอันดับเบญจภาคีของเครื่องราง โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ1.ใช้เบี้ยที่มีฟันครบ 32 ซี่ 2.ใช้ปรอทที่มีน้ำหนักตั้งแต่หนึ่งบาทขึ้นไปมาลงบรรจุในเบี้ย  3.ใช้รังชันโรงที่อยู่ใต้ดิน มาอุดที่ปากเบี้ย เมื่อทำการบรรจุปรอทเสร็จสิ้นแล้ว
 และ4.ใช้ตะกั่วตีเป็นแผ่นเรียบ แล้วมาจารลงอักขระ หรือยันต์ เช่น พระเจ้า 16 พระองค์ ยันต์ตรีนิสิงเห หรือถ้าเป็นสายของหลวงปู่บุญ ก็จะมียันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ยันต์เฑาะว์ ตลอดจนมีอักขระขอม เช่น มะ อะ อุ เป็นต้น และใช้ตะกั่วที่มีการลงจารแล้วนั้น นำมาหุ้มที่ตัวเบี้ยอีกชั้น โดยตีรีดแผ่นตะกั่วจนเข้ารูปกับตัวเบี้ย แต่ในบางตัวที่พบกัน อาจใช้ผ้าหุ้มและเขียนยันต์กำกับไว้ก็มี

ติดตามตอนต่อไป ....

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website -  www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ