พระชุดกิมตึ๋ง พระกรุเมือง สุพรรณบุรี พุทธคุณ คงกระพัน
รู้จักอีกหนึ่ง พระกรุเมือง สุพรรณบุรี พระชุดกิมตึ๋ง ตั้งชื่อจากความนิยมเครื่องลายคราม พุทธคุณโดดเด่น ด้าน คงกระพัน
สุพรรณบุรี นั้น เป็นจังหวัดที่มีครูบาอาจารย์ ไม่น้อยไปกว่าจังหวัดอื่นๆ รวมทั้ง ยังมีพระกรุ ที่ขึ้นชื่อ จำนวนไม่น้อย ด้วย หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ สุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ และมาสถานภาพ ที่ใกล้เตียงกับคำว่า เมืองหลวง อยู่ไม่น้อย เพราะเป็นฐานสำคัญของ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ เป็นเมืองใหญ่ ที่มีความสำคัญ
นอกเหนือจาก พระกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่เรียกว่า พระผงสุพรรณ แล้วนั้น ยังมีกรุของ วัดพลายชุมพล และ วัดพระรูป ที่ขึ้นชื่อ ซึ่งเรียกว่า พระกรุ ชุดกิมตึ๋ง ในคำจีนที่เรียกขาน ว่า ชุดกิมตึ๋ง แปลว่า พระราชบัลลังก์ทองคำ สุพรรณบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการค้นพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก พระพิมพ์ดังกล่าวมีพุทธลักษณะที่หลากหลาย และมีการตั้งชื่อเรียกเป็นเอกลักษณ์แตกต่างไปจากที่พบในแหล่งอื่นๆ ทั่วไป ที่รู้จักกันมากที่สุดได้แก่พระพิมพ์ภาพพระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางมารวิชัยประทับในซุ้มเรือนแก้ว ที่เรียกว่า พระขุนแผน ซึ่งใช้ชื่อตัวละครเอกในวรรณคดีพื้นบ้านเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มากำหนดเรียก และรู้จักกันในฐานะพระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในทางเป็นเสน่ห์ เมตตามหานิยม
พระชุดกิมตึ๋ง เป็นพระพิมพ์อีกกลุ่มหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีชื่อเรียก และพิมพ์ทรงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ พระพิมพ์ดังกล่าวพบที่ วัดพลายชุมพล ซึ่งเป็นวัดร้าง มีเขตอุปจารวัดติดกับ วัดพระรูป แตกกรุออกมาครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ.2449 เนื่องจากเจดีย์หักโค่นลงมาตามสภาพความเก่าแก่
พระพิมพ์ที่แตกกรุออกมาในครั้งนั้นมีจำนวนมาก ถูกปล่อยทิ้งกระจัดกระจายจมอยู่ในซากอิฐปูนโดยไม่มีใครสนใจ ส่วนใหญ่เป็นพระพิมพ์ดินเผา
ลักษณะเนื้อดินค่อนข้างหยาบ ศิลปะแบบ อู่ทอง หรือ อยุธยาตอนต้น เป็นพระที่กดพิมพ์ไม่ค่อยเรียบร้อยนัก ส่วนมากจะติดตื้น รายละเอียดขององค์พระไม่ชัดเจน ไม่มีการตัดขอบพิมพ์ มีอยู่ด้วยกันสี่พิมพ์ คือ 1.พิมพ์สี่กร 2.พิมพ์ปรกชุมพล 3.พิมพ์ประคำรอบ 4.พิมพ์มอญแปลง
พระทั้งสี่พิมพ์ดังกล่าว เดิมเรียกกันว่า พระตับวัดพลายชุมพล สำหรับที่มาของการเรียกพระชุดนี้ว่า พระชุดกิมตึ๋ง นั้น ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เพียงแต่สันนิษฐานกันว่าคงเนื่องมาจาก ความนิยมในการสะสมเครื่องโต๊ะ และเครื่องลายครามของจีน ที่แพร่หลายอย่างมากในช่วงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่หรือคหบดีนิยมสะสมเครื่องเคลือบลายครามที่สั่งมาจากเมืองจีน แล้วนำเอามาจัดโต๊ะหมู่บูชาเป็นชุดๆ ประกวดประชันกัน โดยมีห้างที่สั่งเข้าจากเมืองจีนเอามาจำหน่ายในเมืองไทยสองห้าง คือ ห้างพระยาพิศาลผลพานิช กับห้าง พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ต่อมาเกิดห้างใหม่ขึ้นอีกห้างหนึ่งเป็นของจีนสุ่น ซึ่งเดิมทำงานให้กับพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ภายหลังได้แยกออกไปตั้งห้างเอง
ในการประกวดเครื่องถ้วยลายคราม และโต๊ะหมู่บูชาดังกล่าว ปรากฏมีโต๊ะหมู่บูชาชุดหนึ่งมีความงามเป็นเลิศกว่าโต๊ะหมู่บูชาชุดอื่นๆ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ต้นตระกูล โชติกะพุกกณะ) ได้ทูลขอให้กรมขุนราชสีหวิกรมประทานชื่อโต๊ะหมู่บูชาชุดนี้ กรมขุนราชสีหวิกรมจึงทรงตั้งชื่อว่า “ ชุดกิมตึ๋ง ” แปลว่า “ พระราชบัลลังก์ทองคำ”
อีกกรณีหนึ่ง สันนิษฐานว่า “กิมตึ๋ง” อาจมาจากชื่อยี่ห้อ “กิมตึ๋งฮกกี่” ของเครื่องถ้วยชาลายคราม ที่ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) สั่งมาจากเมืองจีนเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแปลความหมายไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง ตำนานเครื่องโต๊ะ และถ้วยปั้น ว่า “ของอันวิเศษอย่างเต็มที่ ”
เครื่องถ้วยชา ดังกล่าวเป็นเครื่องลายคราม ประกอบด้วยถ้วยพร้อมจานรอง ชุดหนึ่งมีจำนวนสี่ใบ เป็นถ้วยขนาดเล็ก มีลวดลายสวยงาม จนเป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่นักนิยมถ้วยชา จึงเรียกชื่อถ้วยกิมตึ๋งกันจนติดปากแม้เวลาจะผ่านมาอีกหลายสิบปี ภายหลังเมื่อมีการพบพระพิมพ์ที่จัดกลุ่มรวมกันสี่องค์ จึงมีผู้ตั้งชื่อพระชุดนี้เสียใหม่ว่า พระชุดกิมตึ๋ง เนื่องจากเป็นที่นิยมเช่นเดียวกันกับเครื่องถ้วยลายครามของจีน
ในอดีตเมื่อเกือบ 100 ปีมาแล้ว พระชุดกิมตึ๋ง นี้ได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมพระเครื่องอย่างมาก เนื่องจากเชื่อว่ามีพุทธคุณในทางอยู่ยงคงกระพัน ปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายแก่ผู้ครอบครอง
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek