พระเครื่อง

"8 กรกฎาคม" 29 ปีแห่งการละสังขาร "พุทธทาสภิกขุ" พระผู้ยิ่งใหญ่ในเส้นทางธรรม

"8 กรกฎาคม" 29 ปีแห่งการละสังขาร "พุทธทาสภิกขุ" พระผู้ยิ่งใหญ่ในเส้นทางธรรม

08 ก.ค. 2565

“พุทธทาสภิกขุ” ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2536 คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่าน รับมรดกความเป็น “พุทธทาส” เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) หรือรู้จักในนาม “พุทธทาสภิกขุ” เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดนอก(อุบล) และมาประจำอยู่ที่วัดใหม่ (พุมเรียง) โดยมี ท่านพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดนอก (อุบล) และพระครูศักดิ์ ธมฺมรกขิโต เจ้าอาวาสวัดหัวคู (วินัย) เป็นพระคู่สวด ท่านได้ฉายาว่า “อินฺทปญฺโญ” หมายถึง ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่

 

จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานครจนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่แล้วท่านพบว่าสังคมพระในเมืองหลวงไม่อาจที่จะทำให้ท่านได้ศึกษาแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้  ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่วัดตระพังจิก จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นวัดร้างในขณะนั้น 

 

“สวนโมกข์พุมเรียง” จึงเกิดขึ้นในปีนั้น ก่อนที่จะมาตั้ง สวนโมกขพลาราม ซึ่งมีความหมายว่า อารามแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือ วัดธารน้ำไหล ที่่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง ในปี 2487 หรือราว 12 ปีให้หลัง พร้อมปวารณาตนเองเป็นพุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

 

สวนโมกขพลาราม มีอีกชื่อหนึ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสตั้งไว้คือ “อินเดียน้อย” โดยถอดแบบโบสถ์เขาพุทธทองจากสมัยพุทธกาล เป็นธรรมชาติ มีหลังคาเป็นท้องฟ้า มีข้างฝาเป็นต้นไม้ แล้วท่านก็แสดงธรรมกลางดินที่เรียกว่า ลานหินโค้ง ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมก็นั่งฟังธรรมกลางดิน ตามรอยพระพุทธเจ้า ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน และปรินิพพานกลางดิน โดยมีหลักอริยมรรคมีองค์แปดเป็นทางดำเนิน และมีอานาปานสติ (การมีสติทุกลมหายใจเข้า-ออก ) เป็นวิถีการปฏิบัติที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ทางใจได้ในที่สุด

สิ่งหนึ่งที่ “พุทธทาสภิกขุ” ฝากไว้ ที่น่าจะได้ศึกษากันในวันนี้ก็คือ ปณิธาน 3 ประการ

  1. ให้พุทธศาสนิกชน หรือ ศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึง ความหมายอันลึกซึ้ง ที่สุดแห่งศาสนาของตน
  2. ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
  3. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม

 

ด้วย ปณิธานสามประการนี้ มีความหมายอย่างยิ่งต่อการที่ทำให้เรากลับมาค้นหาตัวเอง ทำความรู้จักตนเอง เป็นอันดับแรก ดังปณิธานข้อที่หนึ่ง หากเราเข้าใจอย่างลึกซึ้งในศาสนาที่เรานับถือแล้ว ไม่เพียงแต่เป็นพระพุทธศาสนาเท่านั้น ก็จะเข้าใจว่า ศาสนาที่เรานับถือมีคุณค่าต่อชีวิตเราอย่างไร ก็จะเข้าใจศาสนาที่ผู้อื่นนับถือว่า ก็มีความหมายกับเขาเช่นกัน

 

ดังในปณิธานข้อที่สอง ที่เมื่อท่าน “พุทธทาสภิกขุ” ทำความเข้าปณิธานแห่งชีวิตอุดมคติ ที่หยั่งรากลึกลงแล้วนี้ ทำให้ท่านสนใจใฝ่หา ความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือหินยาน แต่ครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนา แบบมหายาน และศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู สิกข์ เป็นต้น

 

จากความรอบรู้ ที่กว้างขวาง และลึกซึ้ง นี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์ วิธีการสอน และปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับพื้นความรู้และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัดชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่า มนุษย์ทุกคน ก็คือ เพื่อน ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น ด้วยหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือ ต้องการ ให้คนพ้นจากความทุกข์

 

เมื่อเข้าใจได้อย่างนี้ การทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับศาสนาก็จะไม่เกิดขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้เราต่างเข้าถึงหัวอกของเพื่อนมนุษย์ที่มีความเชื่อต่างกัน และสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกได้โดยเคารพในความต่างและมีความเหมือนเป็นจุดร่วมกัน คือความเป็นมนุษย์ที่รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน

 

สำหรับปณิธานในข้อที่สาม ดึงเพื่อนมนุษย์ออกมาจากวัตถุนิยม ถือว่า เป็นบทสรุปของการที่เราจะอยู่ร่วมกันในสังคม และบนโลกใบนี้อย่างสันติสุข โดยเริ่มต้นจากตัวเรา เมื่อมีสติปัญญาพอก็จะเห็นว่า ชีวิตที่พอเพียงนั้นเป็นอย่างไร การจับจ่ายใช้สอยทรัพยากรบนโลกนี้อย่างมีสติ และเกื้อกูลแบ่งปัน ทำอย่างไรจึงจะไม่เดือนร้อนตนเองและผู้อื่นจนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษอยู่ในปัจจุบัน

 

“พุทธทาสภิกขุ” ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี 67 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่าน รับมรดกความเป็น “พุทธทาส” เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

 

ขอบคุณภาพ : พุทธธรรม พุทธทาสภิกขุ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ

 

เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่

Website -  www.komchadluek.net

Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek

LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057