พระเครื่อง

เปิดประวัติ "หลวงพ่อแล " วัดพระทรง เพชรบุรี ตำนานยันต์หนุมาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชวนอ่านประวัติพระเกจิอาจารย์เมือง เพชรบุรี "หลวงพ่อแล" แห่ง วัดพระทรง เรียนวิชาหลากหลายกว่า 15 อาจารย์ ตำนานสักยันต์หนุมาน คงกระพันชาตรี


เมืองเพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัด ที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในแง่มุมประวัติศาสตร์ วัดวาอาราม คนที่สนอกสนใจโบราณสถาน ชอบกล่าวกันว่า เป็นเสมือนอยุธยาที่ยังมีชีวิต เพราะมีวัดเก่าแก่หลายวัด ที่มีงานจิตรกรรม สถาปัตยกรรม โดดเด่นตามแบบสมัยอยุธยา ที่ยังสมบูรณ์ 
รวมทั้ง ยังมีครูบาอาจารย์ ที่เชี่ยวชาญ เข้มขลัง ในวิชาอาคม หลายรูป หลายท่าน และหนึ่งในครูบาอาจารย์ที่น่าสนใจ และลูกผู้ชายหลายคนต่างเคยเดินทางไปทำการสักยันต์ เพื่อความอยู่ยงคงกระพัน 
นั่นคือ หลวงพ่อแล แห่ง วัดพระทรง 

เปิดประวัติ "หลวงพ่อแล " วัดพระทรง เพชรบุรี ตำนานยันต์หนุมาน

สำหรับประวัติของ "หลวงพ่อแล ทิตัพโพ" แห่งวัดพระทรง อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ ผู้ทรงวิทยาคมศิษย์สายหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง และหลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง  หลวงพ่อแล เกิดในสกุล วาดวงศ์ เมื่อวันพุธที่ 19 ก.ค. 2459 ที่บ้านไร่สัตว์ ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายอยู่ และนางทอง วาดวงศ์ เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 7 คน อายุ 14 ปี เข้าพิธีบรรพชาที่วัดบ้านเกิด กระทั่งอายุครบ 20 ปี หลวงพ่อแล ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดหนองไม้เหลือง จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2497 มีหลวงพ่อใหม่ วัดเขาทะโมน เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อยอด วัดหนองไม้เหลือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ทิตัพโพ" จากนั้นได้จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองไม้เหลือง
 

เปิดประวัติ "หลวงพ่อแล " วัดพระทรง เพชรบุรี ตำนานยันต์หนุมาน
 ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่วัดพระทรงเมื่อ พ.ศ.2498 จนถึงมรณภาพ ท่านได้เพียรปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และมีความสนใจร่ำเรียนสรรพวิชาความรู้ ด้วยตระหนักอยู่เสมอว่าวิชาความรู้ยิ่งเรียนมาก ยิ่งมีคุณประโยชน์ และไม่มีวันสูญสลาย โดยได้ศึกษากับครูบาอาจารย์เฉพาะในเพชรบุรีเพียงจังหวัดเดียวถึง 7 ท่าน เริ่มจากหลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง อ.เมือง เรียนวิชาถอนพิษแมลงต่างๆ หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง อ.ท่ายาง ร่ำเรียนวิชาสักยันต์ครู ซึ่งเป็นยันต์สูงสุดของการสัก เป็นยันต์แรกที่เรียกว่า "หัวใจพระราม"


 มีหน้าที่ควบคุมยันต์ต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นลิงลม, หนุมาน, พญาหงส์เงิน-หงส์ทอง เป็นต้น ต่อมา ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุวรวิหาร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิชาพระขรรค์ จากหลวงพ่อโสก วัดปากคลอง อ.บ้านแหลม พร้อมทั้งวิชาตะกรุดโทน ตะกรุดแฝด จากหลวงพ่อผัน วัดมหาธาตุวรวิหาร ได้เรียนสักตัวมหาเมฆ จากคุณพ่อต่อและคุณพ่อจันทร์ ศิษย์พระครูสันต์ แห่งวัดเขาวัง จ.เพชรบุรี พระเถราจารย์สมัยรัชกาลที่ 5

ชีวิตของหลวงพ่อแล เกิดเหตุการณ์โศกเศร้าครั้งใหญ่ เมื่อมีโจรเข้าปล้นเงินทอง ทำร้ายโยมมารดาและพี่น้องทุกคนเสียชีวิต ยกเว้นโยมบิดาที่ท่านเสียชีวิตด้วยโรคอัมพาตไปก่อนหน้านั้น ตัวหลวงพ่อแล ได้เก็บทองคำที่โจรทำหล่นไปขาย เพื่อจัดงานศพให้คนในครอบครัว ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจออกเดินธุดงค์ร่ำเรียนวิชาเพิ่มเติม ซึ่งเรียกได้ว่าแทบจะทั่วประเทศ จาก จ.เพชรบุรี มุ่งสู่ จ.นครปฐม เรียนวิชากะลาตาเดียว ราหูอมจันทร์ และเสริมดวงกับ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง 


เรียนวิชาลงนะหน้าทองกับหลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม อ.ดอนตูม และวิชาผงยาจินดามณี ที่ทำมาจากเบี้ยแก้ กับหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว อ.เมือง จากนั้น หลวงพ่อแล วัดพระทรง ได้เดินทางสู่ จ.สมุทรสาคร เรียนวิชาชูชกกับหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน อ.เมือง และเรียนวิชาตะกรุดไม้ไผ่ จากหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ อ.กระทุ่มแบน ก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี เรียนวิชาเบี้ยแก้ กับหลวงปู่รอด วัดนายโรง ตลิ่งชัน แล้วมุ่งไปเมืองอยุธยา เรียนวิชาตะกรุดพวง และยันต์หัวใจปลาตะเพียนมหาลาภจากหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร ก่อนเดินทางขึ้นเหนือถึง จ.นครสวรรค์ เรียนวิชาศาสตรามีดหมอจากหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ อ.ตาคลี และสุดท้ายย้อนมาภาคตะวันออก เป็นลูกศิษย์หลวงปู่อี๋ วัดสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี


และด้วยสรรพวิชามากมาย ที่หลวงพ่อแลได้ร่ำเรียนมานั้น ทำให้ท่านมีชื่อเสียงอย่างมาก จากศรัทธาของผู้คน เรียกทั้งเมืองเพชรบุรีไม่มีใคร ไม่รู้จักท่าน โดยเฉพาะกลุ่มชายหนุ่ม หรือ ผู้ที่มีจิตใจสนใจในศาสตร์วิทยาคม ต่างมุ่งหน้าสู่วัดพระทรง เพื่อเข้ารับการสักยันต์จากหลวงพ่อแล โดยเฉพาะยันต์สำคัญที่ทุกคน เมื่อก้าวไปอยู่เบื้องหน้าท่าน ต้องได้รับการสัก นั่น็คือ ยันต์หนุมาน ที่มีความเข้มขลัง ศักดิ์สิทธิ์ และกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญประจำตัวของท่าน

เปิดประวัติ "หลวงพ่อแล " วัดพระทรง เพชรบุรี ตำนานยันต์หนุมาน
แต่ถึงอย่างนั้น หลวงพ่อแลมักจะสั่งสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า ให้หมั่นทำความดี มีศีลธรรมอยู่เป็นประจำ ส่วนมรณกาลของท่านนั้น หลวงพ่อแล อาพาธติดเชื้อทางกระแสโลหิตและรับการรักษาที่โรงพยาบาลเพชรรัชต์ กระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2551 ท่านได้ละสังขารลงด้วยอาการสงบ สิริอายุ 93 ปี พรรษา 54 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ